รอยเตอร์ - “เทเรซา เมย์” ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันพุธ (13 ก.ค.) หลังเข้าเฝ้าฯ ควีนเอลิซาเบธ ให้คำมั่นจะทุ่มเทความพยายามเพื่ออนาคตใหม่ที่ห้าวหาญในโลกใบนี้ ขณะที่เธอเริ่มภารกิจสำคัญในการนำพาประเทศออกจากสหภาพยุโรป ในนั้นคือการตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ เพื่อดำเนินการเจรจา “เบร็กซิต” โดยเฉพาะ
เมย์ วัย 59 ปี เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลังเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากนั้นก็ขับรถมุ่งตรงสู่บ้านหลังใหม่ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ที่ว่างลงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ตามหลังการลาออกของนายเดวิด คาเมรอน
“เราจะลุกขึ้นสู้ความท้าทาย ในขณะที่เราออกจากสหภาพยุโรป เราจะหล่อหลอมบทบาททางบวกใหม่ที่ห้าวหาญสำหรับตัวเราเองในโลกใบนี้ และเราจะสร้างอังกฤษให้เป็นประเทศที่ไม่ได้ทำเพื่อผู้มีสิทธิพิเศษจำนวนเล็กน้อย แต่เพื่อพวกเราทุกคน” เธอกล่าว
นายคาเมรอน ลาออกจากตำหน่งหลังจากชาวอังกฤษปฏิเสธคำเตือนของเขาและโหวตแยกตัวจากอียูในการลงประชามติเมื่อเดือนที่แล้ว กัดเซาะความพยายามหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวของยุโรปและก่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วกลุ่ม 28 ชาติสมาชิก
เมย์ ต้องพยายามจำกัดความเสียหายทางการค้าและการลงทุนของอังกกฤษ ในขณะที่ต้องเจรจาด้านความสัมพันธ์ของประเทศกับพันธมิตร 27 ชาติอียู นอกจากนี้เธอยังต้องพยายามประสานรอยร้าวภายในพรรคคอมเซอร์เวทีฟและความแตกแยกต่างๆนานาภายในประเทศที่พบเห็นจากศึกประชามติ
นายกรัฐมนตรีรายใหม่ยอมรับว่าชาวอังกฤษคงต้องเผชิญปัญหาต่างๆ นานา แต่บอกว่า “รัฐบาลที่ดิฉันเป็นผู้นำ จะขับเคลื่อนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แก่อกิสิทธิชนบางส่วน แต่เพื่อพวกคุณทุกคน เราจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้พวกคุณได้ควบคุมชีวิตตัวเอง”
สหรัฐฯ แสดงความยินดีกับเมย์ และแสดงความมั่นใจในความสามารถของเธอในการกุมบังเหียนอังกฤษผ่านพ้นการเจรจาออกจากสหภาพยุโรป “จากคำพูดต่อสาธารณะที่เราได้ยินจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เธอมีความตั้งใจไล่ตามเส้นทางที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของประธานาธิบดีโอบามา” จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวระบุ
ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการพบเป็นภาพเมย์ ถอนสายบัวถวายความเคารพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ ต่อจากนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์
เหล่าผู้นำอียู ต้องการก้าวไปข้างหน้าตามหลังผลโหวตเบร็กซิตอันน่าช็อก ด้วยการเร่งรัดให้ เมย์ เริ่มกระบวนการถอนตัวอย่างเป็นทางการเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อช่วยคลายความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าจะไม่ดำเนินการแยกตัวจากอียูก่อนสิ้นปี โดยขอเวลาอังกฤษร่างยุทธศาสตร์เจรจาถอนตัวก่อน ทั้งนี้แม้เธออยู่ฝ่ายสนับสนุนอยู่ในอียูต่อ แต่ เมย์ ย้ำว่าผลโหวต "แยกตัวก็คือแยกตัว" และจะไม่มีความพยายามจัดลงประชามติใหม่อีก
ประชามติอันสุดช็อกเป็นผลสะท้อนบางส่วนของความไม่พอใจต่อกฎของอียูเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเสรีที่เป็นต้นตอของวิกฤตผู้อพยพ ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนทางการเมืองของ เมย์ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยมาตลอด 6 ปีหลัง
ทว่าเหล่าผู้นำอียูยืนยันชัดเจว่าการเคลื่อนไหวเสรีจะเป็นหลักการพื้นฐานในการเข้าถึงตลาดเดี่ยวเสรีของทางกลุ่ม จุดยืนที่จะก่อความซับซ้อนแก่เมย์ ในภารกิจเจรจาเงื่อนไขทางการค้าใหม่
นายเดวิด คาเมรอน กล่าวกับรัฐสภาในการปรากฏตัวของเขาครั้งสุดท้ายก่อนลาออกจากตำแหน่ง ระบุว่า “คำแนะนำถึงผู้สานต่อตำแหน่งของผม ผู้ที่เป็นนักเจรจาชั้นยอด คือเราควรพยายามใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป เนื่องจากเราจะได้ประโยชน์ด้านการค้า ความร่วมมือและความมั่นคง”
ระหว่างปรากฏตัวที่ถนนดาวนิ่งพร้อมกับนางซาแมนธา ภรรยาและลูกๆในเวลาต่อมา นายคาเมรอน กล่าวว่า “มันไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายดาย และแน่นอนว่าเราไม่อาจตัดสินใจได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าในวันนี้ ประเทศของเรามีความเข้มแข็งกว่าเดิมมาก”
ผู้นำใหม่ของอังกฤษได้รับคาดหมายว่าจะเริ่มตั้งคณะรัฐมนตรี ในความเคลื่อนไหวสร้างสมดุลทางการเมืองอันซับซ้อน ซึ่งเธอจะพยายามสร้างความพึงพอใจแก่ฝ่ายต่อต้านภายในพรรคของเธอเอง
เบื้องต้นเธอบอกว่ามีแผนตั้งกระทรวงใหม่สำหรับเป็นผู้นำกระบวนการแยกตัวจากอียู ซึ่งรัฐมนตรีจะเป็นคนที่มาจากฝ่ายรณรงค์ถอนตัว และในเวลาต่อมา เมย์ แถลงว่าผู้ที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี “เบร็กซิต” ก็คือนายเดวิด เดวิส อดีตรัฐมนตรียุโรป ซึ่งจะมีหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาแยกตัวจากอียู
“สมเด็จพระราชินี ทรงเห็นชอบการแต่งตั้ง ส.ส.เดวิด ดวิส เป็นรัฐมนตรีเพื่อการถอนตัวจากสหภาพยุโรป” ทำเนียบนายกรัฐมนตรีระบุในถ้อยแถลง