เอเจนซีส์ - สื่ออังกฤษรายงานค่าสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษตกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985 ต่ำกว่า 1.30 ดอลลาร์ในวันนี้ (6 ก.ค.) ส่วนอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ แตะต่ำสุดในรอบ 30 ปี ท่ามกลางความผันผวนต่อเนื่องหลังจากวิกฤต BREXIT ส่วนอิตาลี ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 3 ของยูโรโซนระส่ำจากวิกฤตสถาบันการเงินของประเทศ
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (6 ก.ค.) ว่าจากกระแส BREXIT และความวิตกกังวลต่อการไร้เสถียรภาพของกลุ่มสหภาพยุโรปทำให้การซื้อขายในวันพุธ (6) ในช่วงเวลาหนึ่งพบว่าค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษต่ำกว่า 1.2798 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเปรียบกับค่าสกุลเงินเยนที่แข็งแกร่ง พบว่าเงินปอนด์ตกไปลงถึง 128.81 เยน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 เป็นต้นมา
ความวิตกต่อผลกระทบได้ส่งไปถึงตลาดสินค้าคอมโมดิตี หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบตกไปกว่า 5% ในวันอังคาร (5) และในวันนี้น้ำมันดิบเบรนท์ตกลงไปอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 47.57 ดอลลาร์ พร้อมกับราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ อยู่ที่ 46.21 ดอลลาร์ในช่วงหนึ่งของการซื้อขาย และทำให้บรรดานักลงทุนต้องหันหน้าเข้าหาตราสารหนี้รัฐบาลที่มีความมั่นคงแทน ทำให้ตลาดยิ่งอยู่ในภาวะผันผวนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อัตราตอบแทน (yield) ของพันธบัตรสหรัฐฯซึ่งถือเป็นเบนช์มาร์กของตราสารหนี้ทั่วโลก พบว่าแตะต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดยนักลงทุนต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้ญี่ปุ่น 0.27% สำหรับเงินกู้จากแดนซากุระเป็นเวลา 10 ปี
“ยังไม่มีการคาดการณ์ไปถึงอัตราเงินเฟ้อ และไม่มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง สิ่งที่เรามีอยู่ในเวลานี้คือความไม่แน่นอน” ฮิโรโกะ อิวากิ (Hiroko Iwaki) นักวิเคราะห์ตราสารหนี้อาวุโสประจำสถาบันมิซูโฮ ซีคิวริตีส์ (Mizuho Securities) ให้ความเห็น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปยังฝั่งญี่ปุ่นกลับพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อตลาดหุ้นนิเคอิไต่สูงขึ้น 3% ในขณะที่ MSCI อินเด็กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีย์กว้างที่สุดของหุ้นแถบเอเชียแปซิฟิกนอกประเทศญี่ปุ่นตกลงไป 1.6%
เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า นักลงทุนต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางประเทศใหญ่ๆทั่วโลกจะออกมาตรการมาเยียวยาหลังจากสหราชอาณาจักรอังกฤษมีประชามติช็อกโลก “ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป”
แต่ทว่าบรรดานักวิเคราะห์และธนาคารต่างๆออกคำเตือนว่า อย่าได้คาดหวังมากนัก เพราะเชื่อว่าการเคลื่อนไหวจะอยู่แต่ในวงจำกัด “ดูเหมือนว่าตลาดการเงินต่างๆ จะสามารถมองภาพจากความเป็นจริงถึงความซับซ้อนและไม่แน่นอนของปัญหาที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชะลอการเติบโตเศรษฐกิจโลก” นักวิเคราะห์ประจำ ANZ แถลง และยังกล่าวต่อว่า “และนี่ทำให้ชี้ไปในทิศทางว่า สงครามระหว่างการสนับสนุนจากธนาคารกลางและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และจะยิ่งทำให้ตลาดแปรปรวนหนักมากขึ้น”
สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า และพบว่าค่าเงินปอนด์ของอังกฤษต่อสกุลเงินเยนญี่ปุ่นต่ำกว่า 131 เยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2012 ในขณะที่ค่าสกุลเงินยูโรสูงขึ้น 85.30 เพนนี ในรอบ 2 ปีครึ่ง วึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าในขณะนี้สกุลเงินเยนได้กลายเป็นแหล่งหลบภัยชั้นดีของนักลงทุนทั่วโลกไปแล้ว โดยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินดออลาร์สหรัฐ เงินเยนไต่ขึ้นถึง 100.94 ดอลลาร์ สอดคล้องกับราคาทองคำโลกที่ได้ไต่ขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2014 อยู่ที่ 1,370.60 ดอลลาร์
โดยนักค้าต่างกล่าวว่า ไม่มีเหตุใดอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเกิดมาจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่า กองทุนรวมคอมเมอร์เชียลพร็อพเพอร์ตี้ของบริษัทอังกฤษ 3 แห่งที่มีมูลค่านับหมื่นล้านปอนด์ต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราวเนื่องมาจากราคารูดลงอย่างหนัก ในขณะที่ธนาคารอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าธนาคารในอังกฤษยังคงเปิดให้มีการปล่อยกู้ตามปกติ
เดอะการ์เดียนชี้ต่อว่า และเมื่อมองข้ามช่องแคบอังกฤษเข้าไปยังทวีปยุโรป พบว่า อิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเขตยูโรโซนกำลังอยู่ในช่วงความผันผวนอย่างหนักในเวลานี้ “อิตาลีกำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างสาหัส ที่ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนหรือการเป็นเส้นตรง” ฟรานเซสโก กาเลียตติ (Francesco Galietti) ผู้บริหารประจำบริษัทที่ปรึกษาจัดการความเสี่ยง โพไลซี โซนาร์ (Policy Sonar) ในกรุงโรม และอดีตเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังอิตาลีให้ความเห็น พร้อมกล่าวต่อว่า “ปัจจัยซึ่งหน้าที่ทำให้เกิดขึ้นคือวิกฤตธนาคารสถาบันการเงิน”