xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จ่อจำกัด “สิทธิคุ้มครองทางกฎหมาย” ของ จนท.มะกันในแดนปลาดิบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - พลเรือนสหรัฐฯ บางคนที่ทำงานในฐานทัพที่ญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะสูญเสียสถานะคุ้มครองทางกฎหมายภายใต้แผนการเปลี่ยนแปลงที่ถูกประกาศในวันนี้ (5 ก.ค.) เนื่องจากกระแสความโกรธเกรี้ยวต่อคดีการข่มขืนและฆ่าหญิงท้องถิ่นคนหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่พลเรือน เคนเนธ แฟรงกลิน ชินซาโตะ ถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนที่แล้วจากกรณีการเสียชีวิตของ รินะ ชิมะบุคุโระ วัย 20 ปีบนเกาะโอกินาวาทางตอนใต้

การฆาตกรรมได้ทำให้กระแสการต่อต้านฐานทัพรุนแรงยิ่งกว่าในหมู่ชาวโอกินาวะจากอาชญากรรมหลายๆ ครั้งรวมถึงกรณีเมาแล้วขับ

ทหารสหรัฐฯ ราว 26,000 นายประจำการในโอกินาวา รวมถึงที่ฐานทัพอากาศคาเดะนะ ขณะที่การประพฤติผิด เสียงรบกวน และการก่อกวนเป็นเสี้ยนหนามในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มานาน

ในตอนนี้ทั้งสองฝ่ายเตรียมที่จะใช้เวลานานหลายเดือนในการกำหนดว่าเจ้าหน้าที่พลเรือนคนไหนจะได้รับความคุ้มครองพิเศษทางกฎหมายต่อไป ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ

กฎเกณฑ์ในปัจจุบันอยู่ภายใต้ข้อตกลงปี 1960 ฉบับหนึ่งที่กำหนดสถานะทางกฎหมายของทหารสหรัฐฯที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่นและชาวอเมริกันคนอื่นๆ ที่ทำงานให้กับพวกเขา

ถึงแม้ว่าในคดีของชินซาโตะ กฎเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่ได้ขัดขวางการดำเนินคดีของตำรวจญี่ปุ่นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาอาศัยอยู่นอกฐานทัพ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า หากข้อตกลงดังกล่าวไม่ถูกปรับเปลี่ยน มันอาจขัดขวางการสืบสวนในอนาคต

พวกเขาระบุว่า ข้อตกลงสถานะของกองกำลัง (Status of Forces Agreement หรือ SOFA) ไม่มีความชัดเจนในการนิยามผู้ที่เหมาะสมจะถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกจ้างพลเรือนของกองกำลังสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น

และพวกเขากลัวว่าข้อตกลงปัจจุบันอาจเป็นปัญหาเมื่อทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนของสหรัฐฯ กระทำความผิดนอกฐานทัพ แต่กลับไปยังฐานทัพและถูกจับกุมโดยหน่วยงานทางทหาร

ในกรณีเช่นนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ อาจคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้เองจนกว่าเจ้าหน้าสืบสวนของญี่ปุ่นจะดำเนินคดีพวกเขาอย่างเป็นทางการ


กำลังโหลดความคิดเห็น