เอเจนซีส์ – บังกลาเทศยันผู้โจมตีร้านอาหารและสังหารหมู่ตัวประกัน 20 คนเมื่อวันศุกร์ (1) เป็นนักรบญิฮาดในประเทศ ไม่ใช่สาวกไอเอส นอกจากนั้น ยังเป็นพวกมีการศึกษาและส่วนใหญ่มาจากครอบครัวผู้มีอันจะกิน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธเรื่องที่มีกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศฝังตัวในบังกลาเทศ
นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 2 วันเริ่มจากวันอาทิตย์ (2) พร้อมยืนยันว่า บังกลาเทศจะยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย
ขณะที่เสียงประณามเหตุสังหารหมู่ในกรุงธากาที่เหยื่อถึง 18 คนเป็นชาวต่างชาติดังจากทั่วสารทิศ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาอ้างว่าเป็นฝีมือตนเอง โดยระบุว่า เป้าหมายการโจมตีเมื่อคืนวันศุกร์ในโฮลี อาร์ติซัน เบเกอรี่ ซึ่งเป็นคาเฟ่สไตล์ตะวันตกคือที่ชุมนุมของพลเมืองของรัฐนักรบครูเสด
แต่ทว่า อาซาดุซซามาน ข่าน รัฐมนตรีกลาโหมบังกลาเทศยืนยันว่า ผู้ก่อการทั้ง 7 คน ซึ่งถูกหน่วยคอมมานโดยิงเสียชีวิต 6 คนและถูกจับได้ 1 คนนั้น เป็นสมาชิกกลุ่ม จามาอัตอัล มูจาฮีดีน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำมานานกว่าทศวรรษ ไม่เกี่ยวข้องกับไอเอสแต่อย่างใด
ข่านเสริมว่า ผู้ก่อการทั้งหมดเป็นคนหนุ่มมีการศึกษา เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวผู้มีอันจะกิน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดคนเหล่านั้นจึงกลายเป็นอิสลามหัวรุนแรง รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศตอบว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นแฟชั่นไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ชาฮิดุล โฮกี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของบังกลาเทศ เปิดเผยเมื่อคืนวันเสาร์ (2) ว่ามือปืนทั้งหมดเป็นชาวบังกลาเทศ โดยมี 5 คนถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพยายามติดตามจับกุมมาหลายครั้ง
แม้ตำรวจยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกล่าวอ้างของไอเอส แต่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองหลายคนระบุว่า ทางการกำลังสอบสวนเชิงลึกเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างมือปืนกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงนอกประเทศ โดยพิจารณาจากระดับและความซับซ้อนในการโจมตี
ทั้งนี้ นอกจากตัวประกันทั้ง 20 คนที่ส่วนใหญ่ถูกสังหารด้วยมีดยาวก่อนที่หน่วยคอมมานโดจะบุกเข้าสู่อาคารและสังหารผู้ก่อการส่วนใหญ่เพื่อยุติวิกฤตตัวประกันที่ยืดเยื้อถึง 20 ชั่วโมงนั้น ยังมีตำรวจ 2 นายเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับคนร้าย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวโทษว่า ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและต่างชาติอยู่เบื้องหลังการโจมตีนองเลือดหลายครั้งที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์ล่าสุดตอกย้ำความกังวลว่า ไอเอสขยายเครือข่ายเข้าสู่หนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลกแห่งนี้แล้ว
ฮาสินาแถลงถ่ายทอดทีวีทั่วประเทศ ให้ยุติการสังหารโดยเอาศาสนามาบังหน้า โดยระบุว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงกำลังพยายามทำลายบังกลาเทศให้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทางการธาการู้ดีว่า บรรดากลุ่มก่อการร้าย อาทิ ไอเอส , อัลกออิดะห์ ได้เข้าไปฝังรากในบังกลาเทศ แต่ไม่กล้ายอมรับเพราะกลัวว่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติหวาดกลัวและหนีไปลงทุนที่อื่น
ชาฮิดัล อานาม ข่าน นักวิเคราะห์จากเดลิสตาร์ในธากา ชี้ว่า การโจมตีล่าสุดทำให้รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป ถึงการมีพวกญิฮาดระหว่างประเทศอยู่ในบังกลาเทศ
ที่อิตาลีมีการทำพิธีไว้อาลัยพลเมือง 9 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่สื่อแดนมักกะโรนีระบุว่า เหยื่อชาวอิตาลีหลายคนทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การโจมตีดังกล่าวจะทำให้ชาวต่างขาติที่ทำงานในภาคสิ่งทอ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการส่งออกของบังกลาเทศ พากันหวาดกลัว
ด้านนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ที่มีพลเมืองเสียชีวิต 7 คน แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องสังเวยชีวิตให้ผู้ก่อการร้ายที่โหดร้ายเลวทราม ขณะที่พระสันตะปาปาฟรานซิสร่วมประณามเหตุการณ์นี้เช่นกัน
เหยื่อสังหารหมู่ครั้งนี้ยังรวมถึงพลเมืองอเมริกัน 1 คนและชาวอินเดียวัย 19 ปีที่กำลังศึกษาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
ผู้รอดชีวิตชาวบังกลาเทศคนหนึ่งเล่าว่า คนร้ายแยกลูกค้าในคาเฟ่ออกเป็น 2 กลุ่มคือ ต่างชาติกับคนท้องถิ่น พร้อมระบุชัดเจนว่าเป้าหมายคือคนที่ไม่ใช่อิสลาม
การสังหารหมู่ครั้งนี้ที่ถือเป็นเหตุโจมตีนองเลือดที่สุดในบังกลาเทศ ที่ไอเอสหรือกลุ่มสาวกในท้องถิ่นของอัล-กออิดะห์อ้างความรับผิดชอบนั้น เกิดขึ้นในย่านคุลศาน ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยของชนชั้นสูงและมีสถานทูตหลายแห่งตั้งอยู่
ช่วงที่ผ่านมา ทางการเริ่มการกวาดล้างนักรบญิฮาดในท้องถิ่น จับกุมประชาชนกว่า 11,000 คน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือต้องการปิดปากศัตรูทางการเมือง
พรรคอิสลามหลักของบังกลาเทศถูกแบนไม่ให้ลงเลือกตั้ง ผู้นำส่วนใหญ่ถูกจับกุมหรือถูกประหาร หลังถูกดำเนินคดีเมื่อไม่นานมานี้จากบทบาทในสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถานในปี 1971