xs
xsm
sm
md
lg

3 บิ๊กอียูไม่ง้ออังกฤษหลังโหวต Brexit ฝรั่งเศสไล่ส่งยุเร่งกระบวนการถอนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอังเกลา แมร์เคิล(กลาง) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ขนาบข้างด้วย นายฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอิตาลี มัตเตโอ เรนซี แถลงเข้าร่วมกันหลังการหารือเกี่ยวกับผลลัพธ์ Brexit  ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อวันจันทร์(27มิ.ย.)
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เปิดเผยหลังหารือในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) ประกาศว่าภาวะซวนเซจาก Brexit คือแรงกระตุ้นใหม่สำหรับอียู และบอกฝากไปยังอังกฤษว่าจะไม่มีข้อตกลงใดๆ ก่อนที่ลอนดอนจะแจ้งต่อบรัสเซลส์อย่างเป็นทางการว่าจะถอนตัวออกจากกลุ่ม ขณะที่ผู้นำแดนน้ำหอมไล่ส่ง ระบุทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์หากกระบวนการแยกตัวดำเนินการอย่างรวดเร็ว

คำเตือนจาก 3 ประเทศที่มีพลเมืองหนาแน่นที่สุดของอียูเป็นการส่งสัญญาณว่าลำดับแรกอังกฤษต้องใช้อำนาจตามมาตรา 50 แจ้งเจตนารมณ์ในการออกจากสหภาพก่อน แล้วถึงจะสามารถเจรจาอนาคตทางการค้าและความสัมพันธ์อื่นๆ กับทางกลุ่ม

นางอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ที่มีประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส และมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลี เข้าร่วม ระบุว่า “เราเห็นพ้องกันในเรื่องนี้ จะไม่มีการหารือกันทั้งอย่างไม่เป็นทางการหรือเป็นทางการต่อการออกจากอียูของอังกฤษ จนกว่าจะมีการยื่นคำร้องออกจากสหภาพยุโรป”

จอร์จ ออสบอน รัฐมนตรีคลังของอังกฤษบอกก่อนหน้านี้ว่า ประเทศของเขาควรใช้อำนาจตามมาตรา 50 ก็ต่อเมื่อมีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างอังกฤษกับอียูเสียก่อน

นอกจากนี้แล้ว นางแมร์เคิลยังประกาศว่าสมาชิก 27 ประเทศที่เหลือของอียูจะเดินหน้าโครงการยุโรป โดยระบุว่า “เราจะเสนอแนะสหายของเรา (อียู) ว่าเราจะวางแรงกระตุ้นใหม่ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า”

นายกรัฐมตรีหญิงของเยอรมนีได้พูดก่อนหน้าการประชุมซัมมิต 2 วันในบรัสเซลส์ ร้องขอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแรงผลักดันร่วมใหม่สำหรับความร่วมมือในขอบเขตต่างๆ ในนั้นรวมถึงด้านกลาโหม การเติบโตหรือการจ้างงาน และความสามารถในการแข่งขัน

แมร์เคิลย้ำว่า ไม่ควรมีช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อยาวนาน และอียูต้องตอบโต้แรงเหวี่ยงในประเทศอื่นที่พยายามผลักดันออกจากสหภาพเช่นเดียวกับอังกฤษ

ด้านนายออลลองด์พูดจาขวานผ่าซากกว่านางแมร์เคิล โดยเร่งเร้าอังกฤษอย่ามัวเสียเวลาเหนี่ยวไกปืนในกระบวนการถอนตัวออกจากอียู ระบุทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์หากกระบวนการแยกตัวดำเนินการอย่างรวดเร็ว

“การมีความรับผิดชอบคืออย่าทำให้เสียเวลา ไม่มีเวลาไปจัดการกับคำถามเกี่ยวกับการจากไปของอังกฤษอีกแล้ว อย่าให้ต้องเสียเวลาในการกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เราต้องมอบแก่สหภาพยุโรป แก่สมาชิก 27 ชาติ” เขากล่าว “เพราะว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าความไม่แน่นอน บ่อยครั้งที่ความไม่แน่นอนก่อพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล และความไม่แน่นอนยังอาจทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างไร้เหตุผลด้วย”

ในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) เช่นกัน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลง 2 ชั้นจาก AAA และเตือนว่าอาจปรับลดเพิ่มเติมในอนาคต หลังจากชาวอังกฤษโหวตประชามติออกจากอียูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ส่วน ฟิทช์ ก็ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลง 1 ขั้นจาก AA+ เหลือ AA โดยมองว่าประชามติออกจากอียูจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การคลังภาครัฐ และความต่อเนื่องทางการเมืองของดินแดนแห่งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น