xs
xsm
sm
md
lg

“โซรอส” ทำนาย “เบร็กซิต” ทุบเงินปอนด์ฟุบสนิท โพลชี้ผลประชามติอังกฤษคู่คี่ 50-50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มหนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป ยืนแจกสติ๊กเกอร์, แผ่นพับ, และโปสเตอร์ ที่ย่านอ็อกซ์ฟอร์ดเซอร์คัส กลางกรุงลอนดอนในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ขณะที่เหลือเวลาอีก 2 วันก็จะถึงวันลงประชามติแล้ว ผลการสำรวจความคิดเห็นที่ออกมาบ่งชี้ว่าชาวอังกฤษมีความคิดเห็นแตกแยกกันมาก โดยแต่ละฝ่ายมีจำนวนก้ำกึ่งกันจนยากที่จะชี้ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ </i>
เอเจนซีส์ - จอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรค่าเงินมหาภัย ออกโรงเตือน “เบร็กซิต” อาจทุบเงินปอนด์ฟุบสนิทยิ่งกว่าวิกฤตปี 1992 ขณะที่โพลวันอังคาร (21 มิ.ย.) ยังชี้ผลการลงประชามติของอังกฤษวันพฤหัสบดี (23) นี้คู่คี่อย่างยิ่ง เป็นไปได้ทั้ง “อยู่ต่อ” และ “ถอนตัว” ด้านหนังสือพิมพ์เมืองผู้ดีชั้นนำสองฉบับใช้พื้นที่หน้าหนึ่งประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างชัดแจ้ง

ในวันอังคาร (21) มีผลโพลของ 3 สำนักออกมาเผยแพร่ โดยโออาร์บีที่จัดทำให้หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ระบุว่า ชาวผู้ดี 49% สนับสนุนให้อังกฤษ “อยู่ต่อ” กับสหภาพยุโรป (อียู) เท่ากับผลสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนฝ่าย “ถอนตัว” หรือ “เบร็กซิต” ตีตื้นขึ้นมา 3 จุดอยู่ที่ 47%

ส่วนโพลสำนักที่ 2 มาจากยูกอฟ ที่จัดทำให้หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ ซึ่งระบุว่า ฝ่าย “ถอนตัว” นำเล็กน้อยที่ 44% ต่อ 42%

ขณะที่โพลสำนักที่สามชี้ว่า ฝ่าย “อยู่ต่อ” นำ 6 จุดอยู่ที่ 53% กระนั้น แนตเซ็น บริษัทวิจัยที่ทำการสำรวจ ตั้งข้อสังเกตว่า คะแนนถือว่าคู่คี่กันมากและยังมีโอกาสพลิกกลับได้ตลอดเวลา

การสำรวจความคิดเห็นเหล่านี้มีขึ้นภายหลังเหตุการณ์สังหารโหดโจ ค็อกซ์ ส.ส.หญิงของพรรคแรงงานที่สนับสนุนอียู เมื่อวันพฤหัสบดี (16) ที่แล้ว ทางตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งโธมัส แมร์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนยิงและกระหน่ำแทงค็อกซ์จนเสียชีวิตบนถนน ประกาศขณะปรากฏตัวในศาลว่า “ความตายสู่ผู้ทรยศ เสรีภาพสำหรับอังกฤษ”

เหตุการณ์นี้ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่า การหาเสียงสำหรับการลงประชามติคราวนี้กระตุ้นกระแสเกลียดชัง โดยเฉพาะโปสเตอร์ของฝ่ายเบร็กซิตที่ใช้ภาพขบวนผู้ลี้ภัยและบรรยายว่า “จุดแตกหัก”
<i>ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี้  โบกมือให้ผู้ฟังขณะปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ออกเสียงโหวตถอนตัวออกจากอียู ณ เมืองเกตชีด ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ คืนวันจันทร์ (20 มิ.ย.) </i>
ทางด้าน ไนเจล ฟาราจ ผู้นำของการรณรงค์ต่อต้านอียู ออกมาแก้ต่างว่า โปสเตอร์ดังกล่าวให้ภาพวิกฤตผู้ลี้ภัยที่อียูกำลังเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี พร้อมกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ายกการตายของค็อกซ์มาสนับสนุนเหตุผลของตนเองอย่างน่าละอาย

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ชั้นนำของอังกฤษ 2 ฉบับ คือ เดอะ การ์เดียน และเดลี เทเลกราฟ ใช้พื้นที่หน้าหนึ่งประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างชัดแจ้ง

การ์เดียนนั้นสนับสนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป และยังลงบทความที่เขียนโดยจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชื่อก้องโลก ที่เตือนว่าเบร็กซิตจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แบล็ก ฟรายเดย์” ซึ่งรุนแรงกว่า “แบล็ก เวนส์เดย์” ที่บีบให้อังกฤษต้องถอนตัวจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนยุโรปเมื่อปี 1992 หลายเท่า

โซรอส วัย 85 ปี แจงว่า หากอังกฤษออกจากอียูจะส่งผลอย่างชัดเจนและทันควันที่รับรู้ได้ทุกครัวเรือน นั่นคือค่าเงินปอนด์ดิ่งเหวอย่างน้อย 15% และอาจมากกว่า 20% โดยที่ธนาคารกลางอังกฤษจะไม่ลดดอกเบี้ยหลังจากนั้น รวมทั้งยังมีทางเลือกน้อยมากในการบรรเทาภาวะถดถอยหรือการทรุดตัวของราคาบ้านในอังกฤษ นอกจากนั้นยังเป็นไปได้ว่าอาจมีการลอยแพคนงานเกิดขึ้น

หนึ่งในอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ยังเตือนว่า “กองกำลังเก็งกำไร” ทรงอิทธิพลกำลังกระเหี้ยนกระหือรือฟันกำไรจากการคำนวณผิดพลาดของรัฐบาลหรือคนอังกฤษ

“การโหวตถอนตัวอาจทำให้บางคนรวยมาก แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่จนลงถนัดตา” นักเก็งกำไรที่เกิดในฮังการีและแปลงสัญชาติเป็นอเมริกันแล้วผู้นี้สรุป

ทั้งนี้ กองทุนของ “พ่อมดการเงิน” ผู้นี้เคยฟันกำไรมหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์จากวิกฤตค่าเงินปอนด์ในปี 1992 ด้วยการเทขายเงินปอนด์ และเก็งกำไรว่าจะซื้อกลับในราคาที่ต่ำกว่า และทำให้ธนาคารกลางของอังกฤษเกือบประสบภาวะล้มละลาย
<i>นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายต้องการให้เป็นสมาชิกอียูต่อไป พูดคุยกับผู้จัดการฝ่ายผลิตของโรงงาน ขณะเขาเดินทางไปเยี่ยมและหาเสียงสนับสนุนที่โรงงานพาโนรามา แอนเทนนาส์ ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กในย่านวันด์สเวิร์ธ ทางตอนใต้ของลอนดอนวันอังคาร (21 มิ.ย.) </i>
สำหรับเดลี เทเลกราฟ นั้นประกาศเชียร์ให้ผู้อ่านโหวต “ถอนตัว”

ขณะเดียวกัน กำลังมีความกังวลกันว่าการทำประชามติของอังกฤษอาจเปิดทางให้ชาติสมาชิกอื่นๆ เรียกร้องขอเปิดโหวตด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของอียูที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนภายหลังสงครามโลกสองครั้ง

“ไม่ว่าผลโหวตของอังกฤษจะออกมาอย่างไร เราต้องพิจารณาอนาคตของอียูอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะคงเป็นความโง่เขลาที่จะละเลยสัญญาณเตือนนี้” โดนัลด์ ทัสค์ ประธานของคณะมนตรียุโรป ทวีตไว้เมื่อวันอังคาร
<i>นักเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องให้อังกฤษออกจากอียู ตั้งโต๊ะตั้งบูธของพวกตนขณะรอคอยการมาปราศรัยของ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี้  ในเมืองแคล็คตัน-ออน-ซี ทางภาคตะวันออกของอังกฤษ ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น