เอเจนซีส์ - พลเรือตรี มาร์คัส ฮิตช์ค็อก (Marcus Hitchcock) ผู้บัญชาการกองเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส (USS John C. Stennis) แถลงยืนยัน เรือสอดแนมจากกองทัพเรือจีน PLAN แล่นตามประกบติดเรือรบสหรัฐฯในเกือบทันทีที่กองเรือรบเข้าสู่เขตทะเลจีนใต้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ล่าสุด และยังถูกตามติดไม่ให้คลาดสายตาในการฝึกผสมร่วม 3 ชาติ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ อินเดีย เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ทิ้งระยะห่างแค่ 7 - 10 ไมล์ ในขณะที่อินโดนีเซียเล็งปรับบทบาทในเขตพิพาททะเลจีนใต้ ใช้ไม้แข็งกับปักกิ่ง หลังสุดทนพบเรือหาปลาเถื่อนสัญชาติจีนแอบลักลอบจับปลาเขตเศรษฐกิจทางทะเลแดนอิเหนา
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ว่า การฝึกผสมยุทธวิธีในการรบแบบไฮเอนด์ที่ซับซ้อนทางทะเล ยุทธการมาลาบาร์ 2016 (Malabar 2016) ที่มี 3 ชาติ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ อินเดีย ร่วมตลอดระยะเวลาการฝึกนาน 1 สัปดาห์ ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นในวันพุธ (15 มิ.ย) แต่สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า กลับพบมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญร่วมปรากฏอยู่ด้วย
โดย พลเรือตรี มาร์คัส ฮิตช์ค็อก (Marcus Hitchcock) ผู้บัญชาการกองเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส (USS John C. Stennis) ได้เปิดเผยในวันพุธ (15 มิ.ย.) ว่า ในยุทธการ “มาลาบาร์ 2016” ทั้งสามชาติได้ทำการฝึกในทะเลฟิลิปปินส์ ไม่ห่างจากหมู่เกาะใต้โพ้นทะเลของญี่ปุ่น แต่กลับเป็นว่าทางสหรัฐฯพบเรือสอดแนมของกองทัพเรือจีน PLAN แล่นประกบยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส ในระยะประชิด 7 - 10 ไมล์ ในระหว่างการฝึก
ซึ่งทางฮิตช์ค็อก ชี้ว่า ยุทธการมาลาบาร์ 2016 นั้นกระทำในน่านน้ำสากล
และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในการซ้อมรบร่วม 3 ชาติเท่านั้น เพราะฮิตช์ค็อกยืนยันต่อว่า พฤติกรรมการสอดแนมแบบเกาะติดจนน่าเกลียดของเรือสอดแนมกองทัพจีน PLAN เกิดขึ้นในปฏิบัติการลาดตะเวนทะเลจีนใต้ของยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2016 ซึ่งผู้บัญชาการกองเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ชี้ว่า ***ในวินาทีที่ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส เข้าสู่เขตทะเลจีนใต้ จะปรากฏว่าฝูงเรือรบจีนปรากฎอยู่ในสายตาในทันที***
โดยทางสหรัฐฯพบเรือสอดแนมจีนทิ้งระยะห่างแค่ 3 - 4 ไมล์เท่านั้น ในขณะที่กองเรือรบสหรัฐฯยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์กำลังแล่นอยู่ในเขตร่องน้ำสากลในทะเลจีนใต้
“เราเห็นฝูงเรือสอดแนมกองทัพเรือจีน PLAN ปรากฏตัวในระยะการมองเห็นเสมอในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งตามความเป็นจริง ถ้าจะกล่าวให้ชี้ชัดลงไป ทางสหรัฐฯมักพบเรือของจีนอย่างน้อย 1 ลำอยู่ในระยะการมองเห็นตลอดเวลา 24/7” ฮิตช์ค็อก ให้ความเห็น
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานเพิ่มเติมต่อว่า ดูเหมือนพฤติกรรมความก้าวร้าวของจีนในภูมิภาคจะทวีความรุนแรง เมื่อพบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่เรือรบกองทัพเรือจีน PLAN ได้วิ่งเข้าไป หรือเลียบเลาะเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น รวมไปถึงใกล้กับบริเวณหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่นประกาศถือสิทธิ์ แต่ปักกิ่งอ้างความเป็นเจ้าของและเรียกในนาม หมู่เกาะเตียวหยู และส่งผลทำให้โตเกียวได้ทำการประท้วงในเวลาต่อมา
สื่อสหรัฐฯรายงานว่า และในการฝึกผสม ยุทธการ “มาลาบาร์ 2016” ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1992 จากการร่วมระหว่างสหรัฐฯ และอินเดีย และมาจนถึงในปี 2015 ที่มีญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกแบบถาวรชาติที่ 3 ในการฝึกผสมนี้ ซึ่งพบว่า นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปีที่การฝึกรบเกิดขึ้นใกล้กับบริเวณน่านน้ำญี่ปุ่น และยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อสถานภาพของแดนภารตะในความร่วมมือทางการทหารอย่างใกล้ต่อสหรัฐฯและชาติพันธมิตรอื่นๆของอินเดีย
ซึ่งยูเอสเอทูเดย์ ชี้ว่า ทางนิวเดลีมีความวิตกมากขึ้นต่อการขยายการแล่นตรวจการณ์ของเรือสอดแนมกองทัพเรือจีน PLAN ที่ได้ขยายขอบเขตทำการเข้าสู่ทะเลอินเดียแล้ว
และในการให้สัมภาษณ์ของฮิตช์ค็อก ยังพบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาฝูงเรือสอดแนมจีนได้ติดตามกองเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส เข้าไปในทะเลฟิลิปปินส์
ในขณะที่เจ้าหน้าที่กองเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ กัปตัน เกร็กเกอรี ฮัฟแมน ( Capt. Gregory Huffman) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม ถึงการประกบติดของเรือจารกรรมกองทัพเรือจีน PLAN ว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดปฏิบัติการในน่านน้ำทะเลจีนใต้ พบว่า เรือจารกรรมจีนนั้นอยู่ในการควบคุมตามแบบมืออาชีพ และไม่ทำให้ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส แต่อย่างใด
ซึ่ง เจฟฟรี ฮอร์นุง (Jeffrey Hornung) ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงเอเชียตะวันออกประจำสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ ซาซากาวะ (the Sasakawa Peace Foundation USA) ที่มีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ความเห็นว่า “คงจะดีหากการปฏิบัติอยู่ในกรอบของกองเรือสอดแนมปักกิ่งนั้นยังคงอยู่ตลอดไป” และยังกล่าวต่อว่า “พฤติกรรมของกองเรือ PLAN ของจีนที่แสดงออกมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทางสหรัฐฯจำเป็นต้องเข้าไปข้องเกี่ยว และไม่ใช่พฤติกรรมที่เราจะได้เห็นจากการปฏิบัติของชาติที่มีนิติรัฐเป็นหัวใจของการปกครอง แต่พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของปักกิ่งไปแล้ว”
หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า ทั้งนี้ ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส เคยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคนปัจจุบัน แอชตัน คาร์เตอร์ ได้ขึ้นเรือรบลำนี้ในระหว่างที่ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้เดือนเมษายนล่าสุด และพบว่า ยูเอสเอส จอห์น ซี สเตนนิส ใกล้สิ้นสุดกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนในเขตเอเชีย และแปซิฟิกในแผนระยะเวลากำหนด 6 เดือนของสหรัฐฯ
และในความเคลื่อนไหวในเขตพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังสร้างความกดดันให้ชาติต่าง ๆ รอบเขตพิพาท รวมไปถึงสหรัฐฯ ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ สื่อธุรกิจรายงานในวันพุธ (15 มิ.ย.) ว่า มีรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ต้องการเปลี่ยนบทบาทของอินโดนีเซียต่อปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคนี้
โดยสื่ออินโดนีเซีย อันตารา นิวส์ (Antara News) รายงานว่า รัฐมนตรี ลูฮัต บินซาร์ ปันไจตัน (Luhut Binsar Panjaitan) ได้แถลงว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียในวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ล่าสุด ได้มีมติถึง “การปรับเปลี่ยนจุดยืนของอินโดนีเซียต่อความขัดแย้ง แต่จะยังคงหลีกเลี่ยงการออกแถลงการณ์ในทางที่ไม่สร้างสรรค์”
ซึ่งฟอร์บส์วิเคราะห์ว่า จากแถลงการณ์ของรัฐมนตรีอินโดนีเซียนี้ ชี้ให้เห็นถึงทิศทางด้านนโยบายของวิโดโดที่ต้องการให้ความเข้มงวด และเข้มแข็งขึ้นต่อปัญหาพื้นที่ทะเลจีนใต้ 3.5 ล้านกิโลเมตรทะเล เนื่องมาจากที่ผ่านมาทางอินโดนีเซียพบปัญหาที่เรือประมงจีนและเรือยามฝั่งปักกิ่งมักล่วงล้ำเข้ามาภายในน่านน้ำที่อินโดนีเซียประกาศอ้างสิทธิ์
โดยสื่อธุรกิจชี้ว่า ที่ผ่านมา อินโดนีเซีย ซึ่งคล้ายกับมาเลเซีย มักเล่นบทคนกลางไกล่เกลี่ย หรือแสดงความเห็นเป็นตัวกลางต่อปัญหาเขตแดนพิพาท และความก้าวร้าวของปักกิ่งทางทะเล โดยแดนอิเหนาได้อ้างไปถึงคำวามจำเป็นในการต้องพึ่งพาการลงทุนจากจีนในระบบสาธารณูปโภคของอินโดนีเซีย และการส่งออกสินค้าสำคัญ น้ำมันปาล์ม
แต่ทว่า ***ความอดทนของวิโดโด และอินโดนีเซียดูเหมือนจะสิ้นสุดแล้ว ฟอร์บส์ชี้ เนื่องมาจากปัญหาการทำประมงเถื่อนของเรือประมงจีนจำนวนมากในบริเวณเขตหมู่เกาะ 13,000 เกาะของแดนอิเหนา*** และฟอร์บส์ยังชี้ต่อว่า และอาจเป็นไปได้ว่า วิโดโดได้รับแรงยุจากทั้งเวียดนาม และฟิลิปปินส์ สองชาติที่เป็นหัวหอกต่อต้านจีนในทะเลจีนใต้
โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินโดนีเซีย ราฮูล บาโจเรีย (Rahul Bajoria) ประจำธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษในสิงคโปร์ ได้ให้ความเห็นว่า คาดหวังไปถึงการพัฒนากองเรือรบอินโดนีเซียให้ล้ำสมัยต่อการป้องกันการลักลอบการทำประมงเถื่อนของเรือประมงต่างชาติ ซึ่งบาโจเรียยังชี้ต่อว่า นอกจากนี้ ทางอินโดนีเซียอาจจะหาทางร่วมมือกับชาติพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีปัญหากับจีน
“ในขณะนี้อินโดนีเซียมีความต้องการทำให้กองทัพเรือของตนเองมีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยการสั่งซื้อเรือดำน้ำ และเรือแล่นตรวจการณ์เข้าประจำการ” บาโจเรีย กล่าว และยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในปัจจุบันนี้กองทัพเรืออินโดนีเซียมีเรือตรวจการณ์ชายฝั่งแค่ 66 ลำ และเรือดำน้ำ 2 ลำ แต่ทว่าปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างเรือรบอินโดนีเซีย และเรือเถื่อนลอบทำประมงนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางอินโดนีเซียได้แก้ปัญหา โดยการเข้าร่วมการตรวจการณ์ผสมนานาชาติ ระหว่างมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้”
และ เกร็ก โพลิง (Greg Poling) ผู้อำนวยการสถาบันธิงแทงก์ the Asia Maritime Transparency Initiative ร่วมกับธิงแทงก์สหรัฐฯ CSIS ซึ่งโพลิงเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ว่า นโยบายใหม่ของอินโดนีเซียที่จะออกมาต้องมีทิศทางที่ชัดเจนที่ว่าทางอินโดนีเซียต้องจัดการอย่างไร ต่อปัญหาการละเมิดของการทำประมงเถื่อนโดยเรือประมงสัญชาติจีนที่มีมากขึ้นในเขตจำเพาะเศรษฐกิจทางทะเลของแดนอิเหนา
ซึ่งฟอร์บส์ชี้ว่า โพลลิงยังต้องการที่จะเห็น มาตรการยาแรงของอินโดนีเซียในการตอบโต้