xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือชี้แจง​การจัดหาเรือดำน้ำช่วง 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.จุมพล- ต้องครบถ้วนเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดหาเรือดำน้ำ หลายท่านสงสัยอาจจะว่า ทำไมต้องมาจัดแถลงที่นี่ ที่เกริ่นไปครั้งหนึ่งแล้ว ขออนุญาตเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เหตุที่มาที่นี่ เพราะว่าพรุ่งนี้คณะของผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพจะมาตรวจเยี่ยมการฝึกประจำปีของกองทัพเรือ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสื่อมวลชน ซึ่งกลุ่มแรก 69 ท่านมาก่อนแล้ว และสำหรับอีกส่วนหนึ่งที่เกือบๆ 40 กว่า 50 กว่า ก็อำนวยความสะดวกจัดรถมาให้ เนื่องจากวันนี้เรารู้ว่า วันนี้เป็นวันแรงงานรถติดมาก

อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวก พวกเรายินดีที่จะมาแถลงข่าวที่นี่ เพื่อให้พวกเราได้รับข่าว และไม่ต้องมาในการเดินทางไปกลับ ขออนุญาตเริ่มในส่วนของอย่างเป็นทางการเลย ก่อนอื่นผมขอแนะนำผู้ร่วมแถลงในวันนี้ก่อน คือท่านแรกซึ่งเป็นประธานในการแถลงวันนี้คือ ท่านเสนาธิการทหารเรือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เดี๋ยวผมจะเรียงในลำดับต่อไปว่า ท่านทำอยู่ในฐานะใด ท่านเป็นประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ต้องอ่านเพราะว่า ต้องเรียกให้ถูกต้องนะครับ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

ท่านที่ 2 ท่านรองเสนาธิการทหารเรือ พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ ในประธานกรรมการจัดจ้างสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล

ท่านที่ 3 พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ท่านรับผิดชอบด้านงบประมาณ

และท่านที่ 4 ในฐานะหน่วยผู้ใช้ พล.ร.ต.วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในฐานะหน่วยผู้ใช้งาน เรือดำน้ำ ซึ่งในวันนี้ท่านจะมาเล่าถึงความรู้สึกของการทำงานร่วมกับเรือดำน้ำที่จะได้มาในการปฏิบัติการร่วม และการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ลำดับของการแถลงข่าวจะเป็นดังนี้ เริ่มต้นเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานจะกล่าวโดยภาพรวมก่อนว่า วันนี้มีอะไรจะมาเล่าอะไรในภาพรวมบ้าง แล้วจำแนกแจกย่อยส่งให้ท่านรองเสนธิการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการ ความเป็นมาต่างๆ ท่านรอง เสธ.จะว่าต่อในส่วนของความเป็นมา ต่อจากนั้นด้านการใช้งบประมาณท่าน ผอ.สยป. สำนักจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ท่านจะมาเล่าในส่วนที่ท่านรับผิดชอบด้านงบประมาณต่างๆ ในการไม่ว่าจะใช้จ่ายอย่างไรตามแผนงานต่างๆ อย่างไร และสุดท้ายในส่วนของผู้ใช้จะเห็นและแสดงความรู้สึกในฐานะที่้ต้องให้ลูกเรือของท่านมาประจำอยู่ในเรือนี้ ท่านจะรู้สึกอย่างไร และท่านมีการเตรียมการในส่วนนี้ไว้อย่างไร จากนั้นแล้วเสนาธิการทหารเรือจะสรุปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านเห็นในภาพรวมว่า สิ่งที่เราดำเนินการมาตลอดในการจัดหานั้น มีภาพรวมโดยสรุปอย่างไร จากนั้นจะเป็นการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ในโอกาสนี้ผมขออนุญาตเรียนเชิญ เสธ.กรุณาให้เกียรติเปิดการประชุม และชี้แจงตามลำดับต่อไป เรียนเชิญครับ

พล.ร.อ.ลือชัย- สวัสดีครับ เพื่อสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน ผมใช้คำว่า เพื่อน เพราะว่าหลายท่านที่อยู่ที่นี่ เคยพูดคุยกันอย่างฉันท์มิตร เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันมาอย่างยาวนาน เคยไหว้วานทำข่าว บางท่านเคยนั่งทานข้าวด้วยกัน จึงอยากให้บรรยากาศอย่างที่ผมเคยเป็นมา คือเหมือนเพื่อนนั่งคุยกับเพื่อน ขณะเดียวกันทางซ้ายขวาผม รวมทั้งข้างหลังคือ คณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำ ที่มาครั้งนี้เพื่อจะมาเล่าเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟังว่า มันเป็นมายังไง การจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือมันเป็นมายังไงให้เรารับทราบกัน ผมไม่ใช่ว่าชี้แจงนะครับ มันเหมือนต้องเรียกว่า เป็นจำเลย จะมาเล่าบรรยากาศเพื่อนให้เพื่อนฟัง ไม่ต้องปิดบังกันอย่างสบายๆ เรื่องราวที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ บนหน้าสื่อทั้ง สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมถึงโลกโซเชียลต่างๆ ผมได้ดูรับฟังแล้ว สับสนปนเปกันไปหมด ทั้งจากภายนอกกองทัพเรือ จากคนภายในกองทัพเรือ ซึ่งเป็นเพราะว่าข้อมูลที่ปรากฏนั้น มีจริงบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง และบางที่โหนกระแสบ้าง ซึ่งคณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำ หรือเรียกว่า กจด. ที่เป็นกรรมการบริหารโครงการนี้ จะออกมาชี้แจงแต่ทำไม่ได้ เพราะว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยังไม่จบสิ้น ประกอบกับเอกสารจัดซื้อจัดจ้างเป็นเอกสารลับของทางราชการ เปิดเผยไม่ได้ พวกเราหลายท่านมาทำข่าวการสวนสนามประจำปี หากใครจำได้ คำปฏิญาณของทหารข้อสุดท้ายคือ

"ข้าพเจ้าจะไม่แพร่งพรายความลับของทางราชการเป็นอันขาด" นั่นคือหมายความว่า นอกจากผิดสัจวาจาแล้ว ยังผิดระเบียบอีกด้วย อันนี้ก็พูดถึงความเป็นกลางในการจัดซื้อจัดจ้างต้องมี การในที่นี้ทำให้หลายฝ่าย หลายผู้ หลายคน กล่าวหาว่ากองทัพเรืออ่อนการประชาสัมพันธ์ ไม่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ทั้งนี้กองทัพเรือได้เคยมาออกปกเขียวให้รับทราบแล้วตั้งแต่ปีก่อนๆ เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้จัดการกองเรือดำน้ำ โดยเฉพาะท่าน พล.ร.อ.สุริยะ พรสุริยะ ได้เคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อเนืองๆ วันนี้ขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จึงมีโอกาสให้เปิดเผยความลับมาได้บางโอกาสจนส่วนมาก เราจึงมาเล่าให้ฟังวันนี้ ซึ่งจะมีวิดีทัศน์ หรือว่าวิดีโอให้พวกเราได้ชมก่อน เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจให้ตรงกัน ให้เข้าใจโดยพื้นฐานก่อน

นอกจากนี้ อยากจะเรียนให้ทราบว่า กองทัพเรือไม่อยากเสนอเรือดำน้ำในยุคนี้หรอก กองทัพเรือได้เสนอความต้องการเรือดำน้ำมาทุกๆ สมัย แต่ทุกรัฐบาลมากกว่าเกินศตวรรษที่ได้รับการดำเนินการที่ผ่านมา รวมครั้งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับที่ผ่านมา กระบวนการไม่ได้แตกต่างกันเลย อันนั้นคือสิ่งอยากจะให้ปลดเรื่องที่กล่าวหาว่า ไม่โปร่งใส ข้อเท็จจริงจะปรากฏในวันนี้ โดยการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ กองทัพเรือเข้าใจดีว่า ในการจัดซื้อจัดหาต่างๆ ทั้งส่วนตัว บริษัทห้างร้าน และทางราชการก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่มีมูลค่าสูง ย่อมมีข้อพิจารณาแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ดี หลักการหนึ่งไม่ว่าจะส่วนบุคคล บริษัทห้างร้าน หรือว่าทางการก็ตาม ต้องตอบให้ได้ว่า ซื้อมาเพื่ออะไร วัตถุประสงค์อะไร ตรงความต้องการของเราหรือไม่ ประการใด อันนี้คือหลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะทางส่วนตัวและทางราชการ ทำให้พวกเราส่วนตัว บางบริษัท บางคนซื้อรถญี่ปุ่นมาใช้ บางคนใช้ค่ายยุโรปมาใช้ คำตอบแตกต่างกันไป เพราะวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกัน ของแต่ละบุคคล ของแต่ละห้างร้าน ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากองทัพเรือไม่มีหลักการในการจัดหา บางคนบอกว่า ปีที่แล้วปีก่อนนู้นยังจัดหาเรือดำน้ำเก่าจากประเทศ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือประเทศเยอรมัน หรือว่าไม่ใช่ว่ากองทัพเรือจัดหาตามกระแส ไม่ใช่ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง จึงหาเช่นนี้ แต่ว่ากองทัพเรือโดยคณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำได้พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง และกว้างไกล โดยยึดยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือเป็นหลัก และมีกระบวนการคัดเลือกแบบ รวมถึงการดำเนินการจัดหาอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนที่รับจากโครงการนี้ ซึ่ง พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ ด้านขวาผม รองเสนาธิการทหารเรือ ทำหน้าที่ของประธานจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้ออกมาเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ เพื่อให้เพื่อนสื่อมวลชนได้ขยายผลไปแจ้งแก่พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และสบายใจได้ว่า เงินที่ใช้จัดหาเรือดำน้ำ กองทัพเรือไม่ได้ไปเบียดบังเงินจากกระทรวง ทบวง กรมอื่น หรือจากที่พิเศษอื่นๆ มาจัดหาเรือดำน้ำแต่อย่างใด รวมไปถึงฝากไปถึงเพื่อนๆ ทหาร วันนี้เป็นโอกาสดีที่ถ่ายทอดไป ที่มีความกังวลว่า เมื่อซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว จะทำให้ไม่มีเงิน หรืองบประมาณในการจัดหาเรือ อากาศยานในภายภาคหน้า รวมถึงจะไม่มีเงินในการซ่อมบำรุงรักษารถรบ เรือรบ หรือเครื่องบิน อันนี้เรื่องนี้ท่าน พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการจัดหาเรือดำน้ำ จะมาแถลงให้ฟังให้สบายใจ

ในอดีตกิจหรืองานของเรือดำน้ำ ประกอบด้วย การโจมตีเรือผิวน้ำ และเรือดำน้ำด้วยตอร์ปิโด แต่ด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถของเรือดำน้ำในปัจจุบัน มีภารกิจที่หลากหลายเหนือชั้นกว่าของเดิมมากมาย เช่น การเรือตรวจการณ์ การจัดการปฏิบัติการพิเศษ หรือที่เราเรียกกันว่า มนุษย์กบ ในการรักษาสันติภาพ การโจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำ รวมถึงเป้าหมายบนฝั่งด้วยในปัจจุบัน หรือที่เราเรียกภาษาชาวบ้านว่า จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมายที่เราต้องการ นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถใช้ปฏิบัติการร่วมข่าวสารกับหน่วยอื่นๆ ได้ รวมถึงปฏิบัติการลับยกพลขึ้นบก ปฏิบัติการลับเพื่อการวางทุ่นระเบิด นอกจากนี้แล้ว ยังมีการปฏิบัติการแบบภารกิจพิเศษเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น การที่จะมีขีดความสามารถทั้ง 3 มิติอย่างที่กล่าวนี้แล้ว จะต้องมีความสอดคล้องกับแนวความคิดยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เรือดำน้ำต้องมีขีดความสามารถต่างๆ มีคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวเหล่านั้น และที่สำคัญคือเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าแบบรุ่น S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศจีน มีคุณสมบัติได้อย่างเหมาะสม ที่จะใช้รองรับต่อภารกิจต่างๆ เหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะพึงพอใจหรือไม่ จะโดยผู้ใช้ก็คือ พล.ร.ต.วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชการกองเรือดำน้ำ จะมาตอบว่าแบบที่หามามันใช่ไหม มันตอบโจทย์ไหมหรือไม่ประการใด ซึ่งทางผู้บัญชาการเรือดำน้ำทางด้านขวาของผม จะมาตอบผู้ใช้แฮปปี้ไหม ที่มีเรือดำน้ำของจีนมาใช้ในงานนี้

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อทุกท่านได้บรรยายจบ ผมจะกล่าวอีกครั้งหนึ่งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ถามต่อไป เพื่อปูพื้นฐานทบทวนทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ขอเชิญชมวิดีทัศน์เชิญครับ

(***วิดีทัศน์***)

ก็จบแล้วนะครับ เดี๋ยวลำดับต่อไป เรียนเชิญท่านรองเสนาธิการทหารเรือ ที่รับผิดชอบในเรื่องของโครงการนี้ ต่อเลยครับ เรียนเชิญครับ

พล.ร.ท.พัชระ- ครับ สวัสดีสื่อมวลชนทุกคนนะครับ จากที่ท่านได้รับชมวิดีทัศน์ คงจะเห็นแล้วว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมันมีมูลค่ามากมายมหาศาลขนาดไหน ความต้องการเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการดูแลรักษา ก็ถูกคิดมาอย่างเป็นระบบ จริงๆ ผมอยากจะกล่าวว่า เรือดำน้ำแท้จริงไม่ใช่ความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของประเทศไทย ก็จะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่มีคุณค่ามากของประเทศ ในการเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางทะเลให้อย่างยั่งยืน ก่อนอื่นผมอยากจะให้ทุกท่านมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องการมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือก่อนว่ากองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมากว่า 60 ปีแล้ว แต่เทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำก็มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคต่างมีการจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาประจำการกันแทบจะทุกชาติ และพัฒนาความสามารถด้านนี้อย่างก้าวกระโดด แน่นอนทุกประเทศย่อมเข้าใจถึงศักยภาพที่เพียงพอในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามาก รวมทั้งมีผลวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ตอบโจทย์ในการรักษาความมั่นคงในทางทะเลที่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง

สำหรับกองทัพเรือแล้วการไม่มีเรือดำน้ำมาเป็นเวลานานทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถด้านนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของกำลังพล โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุนต่างๆ เรียกว่าการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมด หรือจะพูดว่าเริ่มต้นจากศูนย์ก็ได้ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถและการวางรากฐานในการทำสงครามใต้น้ำของกองทัพเรือ ดังนั้นการดำเนินการจึงต้องคิดทั้งระบบ ไม่ได้คิดเฉพาะการจัดหาเฉพาะตัวเรือดำน้ำเท่านั้น จะต้องนึกถึงความพร้อมขององค์บุคคล จะต้องนึกถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนทั้งหมดที่จำเป็นในการใช้เรือดำน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คงต้องใช้ความพยายาม และความรอบคอบในการดำเนินการอย่างยิ่ง

สำหรับเรื่องความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำที่ผมได้กล่าวมาบ้างผมคิดว่าสังคมไทยก้าวข้ามจุดนี้ไปบ้างพอสมควร เพราะว่าจริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีการศึกษาพูดคุยถกแถลง แต่ถ้าท่านได้ทำใจเป็นกลาง และคิดกันด้วยเหตุด้วยผล ก็จะทราบว่าทำไมประเทศรอบบ้านเราเขาถึงตกลงใจที่จะเร่งหาเรือดำน้ำเข้ามาประจำการกันเกือบทุกประเทศ ผมไม่อยากจะกล่าวซ้ำอีก แต่สิ่งที่อยากจะกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญและความล่อแหลมเกี่ยวกับอ่าวไทยของเรา

อ่าวไทยต้องถือว่าเป็นเส้นเลือดหลักในการลำเลียงสินค้าเข้าออก โดยเฉพาะการลำเลียงน้ำมันเข้าสู่ประเทศ ซึ่งด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เราจะเห็นเลยว่า อ่าวไทยมีลักษณะเป็นก้นถุง มีปากอ่าวแคบ สามารถที่จะใช้กำลังเพียงน้อยนิด โดยเฉพาะเรือดำน้ำมาปิดอ่าวได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการปิดอ่าวไทยขึ้นมา ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามากมายขนาดที่เรียกว่าต้องกระทบต่อเศรษฐกิจและความอยู่รอดของประเทศ ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือตอบโจทย์ในเรื่องนี้ก็คือ เรือดำน้ำ ที่กองทัพเรือเห็น

สำหรับประเด็นความลึกของน้ำในอ่าวไทย ผมไม่อยากให้ทุกคนพูดว่าอ่าวไทยน้ำตื้น จริงๆทุกคนก็ทราบดีว่าอ่าวไทยมีความลึกของน้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการได้อย่างสบายๆ อันนี้มีสิ่งที่ยืนยันได้ก็คือ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำของสหรัฐฯ และพันธมิตร ได้เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมาก มีครั้งหนึ่งที่เรือหลวงสมุยของเราได้รับมอบภารกิจให้ไปลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ประเทศ ก็ถูกเรือดำน้ำยิงจมในอ่าวไทยนั่นเอง กองทัพเรือฝึกเรือดำน้ำ กับเรือดำน้ำของ ทร.สหรัฐฯชั้นลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นเรือนิวเคลียร์ ขนาด 6,000 ตัน คุณคิดดูขนาดใหญ่กว่าเรือดำน้ำที่ ทร.กำลังจัดหา 2-3 เท่า ซึ่งผมเองก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้โดยตรง เคยเป็นผู้บังคับการเรือที่ทำหน้าที่ในการฝึกเรือดำน้ำกับเรือ ทร.สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าเป็นความยากอย่างมากในการที่จะค้นหาเรือดำน้ำให้เจอ

อีกประเด็นผมเคยลงไปสังเกตการณ์ปฏิบัติงานของเรือดำน้ำ ทร.สหรัฐฯ ในอ่าวไทยถึง 5 วัน ซึ่งเป็นเรือขนาดเดียวกัน ผมก็สังเกตดูการปฏิบัติของเรือดำน้ำของ ทร.สหรัฐฯ ก็ไม่เห็นเขาจะมีข้อจำกัดอะไรมากในการปฏิบัติ เพียงแต่ว่าในบางพื้นที่ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติเท่านั้นเอง กองทัพเรือเองได้ศึกษาและดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 30 ปี เราเกือบจะได้รับการอนุมัติให้จัดหามาที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณปี 2538 ที่จะได้รับการจัดหาจากบริษัท Kockums ประเทศสวีเดน ครั้งที่ 2 ก็ปี 2535 ครั้งล่าสุดคือปี 2554 ที่ ทร.เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น 206A กับเยอรมัน เป็นเรือใช้แล้วแต่คุณภาพดี

ที่ผ่านมาก็มีเหตุให้ต้องเลื่อนการจัดหาออกไปก่อน มาครั้งนี้การจัดหาไม่ได้เป็นการเริ่มปีงบประมาณนี้ เราดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้ศึกษาเรือดำน้ำที่มีความเหมาะสมกับความต้องการทางยุทธการ และภารกิจของกองทัพเรือ ซึ่งตรงนั้นทางกองทัพเรือก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการศึกษาและพิจารณา จากการพิจารณา เรือดำน้ำของผู้ผลิตจากประเทศต่างๆถึง 6 ประเทศ มีบางประเทศก็ให้เฉพาะตัวเรือ ไม่ได้ให้ระบบอาวุธ บางประเทศก็ให้ทั้งตัวเรือ และระบบอาวุธ แต่ก็มีราคาสูง และอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุงก็มีราคาแพงพอสมควร บางประเทศไม่สนับสนุนเรื่องการฝึกอบรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เลย

พอปี 2559 กองทัพเรือก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวนผล เดี๋ยวผมจะย้อนกลับไปใหม่ว่า ในการพิจารณาคัดเลือกนั้น กองทัพเรือต้องพยายามใช้ความรอบคอบอย่างยิ่ง และก็มีหลักในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ 3 ประการที่เราใช้เป็นหลักคิด หลักแรกเลยคือ ยุทโธปกรณ์ที่หาจะต้องมีขีดความสามารถ และมีความพร้อมในระดับที่เราต้องการ อันที่สอง คือเรื่องของความต่อเนื่องในการใช้งานตลอดอายุการใช้งานของอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นๆที่เราต้องการจัดหา ส่วนสุดท้ายที่สำคัญ คือเรื่องของความสามารถในการที่เราจะมีงบประมาณในการจัดหาและซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งานที่เราวางแผนไว้ ซึ่งข้อเสนอของประเทศจีน ที่เสนอเรือดีเซลไฟฟ้าชั้น S26T เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ไปตามหลักการข้างต้นมากที่สุด

ตรงนี้เมื่อผ่านมาปีงบประมาณ 2559 กองทัพเรือก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วนำผลการศึกษามาทบทวน ซึ่งเมื่อทบทวนแล้วก็เห็นว่า เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า S26T ของประเทศจีนยังมีความเหมาะสมมากที่สุด S26T เป็นเรือดำน้ำที่ได้รับการพัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้น Kilo ของรัสเซีย ซึ่งก็มีชื่อเสียงพอสมควรในด้านสมรรถนะ และความเงียบ ทางจีนก็ได้นำมาพัฒนาต่อยอดในการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำให้เรือดำน้ำอยู่ในน้ำได้นานขึ้น ซึ่งก็เป็นการเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติงานในใต้น้ำ ถือว่าเป็นจุดเด่นในคุณสมบัติในด้านการซ่อนพราง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เรือดำน้ำต้องการมากที่สุดอันหนึ่ง นอกจากนั้น ยังได้มีการพัฒนาในเรื่องของระบบอาวุธที่มีประสิทธิภาพในเรื่องความแม่นยำ และอำนาจการทำลาย ทั้งในมิติใต้น้ำก็ดี มิติผิวน้ำที่จะโจมตีเรือผิวน้ำ และมีขีดความสามารถถึงการโจมตีบนฝั่งได้อีกด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ และเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องปรามอย่างก้าวกระโดดของกองทัพเรือ ซึ่งกองทัพเรือมีความต้องการขีดความสามารถนี้มาค่อนข้างนาน

การวิจัยและการพัฒนาในการสร้างและต่อเรือของประเทศจีนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และถือว่ามีคุณภาพที่น่าเชื่อถือได้ ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้ เพราะว่าเรือดำน้ำของจีน จีนเป็นประเทศที่มีกองเรือดำน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก มีเรือดำน้ำประจำการมากกว่า 50 ลำ และออกปฏิบัติการในทะเลมากที่สุดระดับต้นๆของโลกเช่นกัน นอกจากนั้น เรือดำน้ำชั้นหยวน จีนได้ต่อและพัฒนาใช้งานมาระยะกว่า 10 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ และไม่เคยประสบปัญหาทางด้านความปลอดภัย และด้านการใช้งาน จนปัจจุบันหลายๆประเทศให้ความสนใจ และจะสั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นนี้เพื่อนำไปใช้ด้วยเช่นกัน เช่น ที่ผ่านมาเร็วๆนี้ ทร.ปากีสถาน ซึ่งเดิมเคยใช้เรือดำน้ำของฝรั่งเศสก็ได้ตกลงที่จะหาเรือดำน้ำชั้นนี้จากจีนจำนวน 8 ลำ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เรือ S26T เป็นเรือที่มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือเพียงพอ และจะมีสายการผลิตของอะไหล่ ที่จะรองรับการใช้งานตลอดอายุการใช้งานของเรือเมื่อเข้าไปทำการในกองทำเรือ

ความคุ้มค่าในแง่มุมของราคาและประโยชน์ที่ได้รับ ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่ทราบดีอยู่แล้วว่า เรามีความต้องการเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ โดยหลักการก็คือ ใช้ปฏิบัติการในทะเล 1 ลำ เตรียมพร้อมหมุนเวียนพร้อมออกปฏิบัติการ 1 ลำ และซ่อมบำรุงตามวงรอบอีก 1 ลำ แต่การจัดหาครั้งนี้เป็นเพียงการจัดหาลำที่ 1 ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณของกองทัพเรือซึ่งตรงนี้เดี๋ยวรายละเอียด ทางท่านผู้อำนวยการสำนักการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ท่านจะให้รายละเอียด ราคานี้เป็นราคาที่ไม่ใช่เฉพาะตัวเรือดำน้ำอย่างที่ผมกล่าว ได้รวมเรื่องการฝึกอบรมกำลังพล และระบบสนับสนุนต่างๆที่กองทัพเรือไม่มีอะไรรองรับอยู่เลย ซึ่งคิดเป็นมูลค่า ผมคิดว่ามีความคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ผมเป็นประธานคณะกรรมการจัดจ้าง ได้มีโอกาสนำคณะไปเยี่ยมชมเรือดำน้ำ S26T หรือเรือดำน้ำชั้นหยวนที่จีนใช้ประจำการอยู่ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่วิจัยและผลิตอุปกรณ์ และอาวุธที่สำคัญ ที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำที่กองทัพเรือจะจัดหา รวมทั้งได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนฝึกกำลังพลเรือดำน้ำของ ทร.จีนด้วย ผมเห็นว่า เป็นการสนับสนุนอย่างลงตัวและมีความพร้อมในการที่จะทำให้การจัดหาเรือดำน้ำของ ทร.มีความสมบูรณ์ อีกประเด็นที่สำคัญ การได้หารือและการเจรจาระหว่างกัน มี 3 เรื่องที่ผมอยากจะเรียนให้กับพี่น้องสื่อมวลชนได้รับทราบ คือ

1.กระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือจีน ยืนยันหนักแน่นในการที่จะสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยกองทัพเรือจีนได้เพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับการฝึกอบรมตามโครงการต่างๆให้กับกำลังพลของกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของกำลังพลประจำเรือ กำลังพลในส่วนสายเทคนิค และส่วนการสนับสนุนต่างๆ และกำลังพลในส่วนของบัญชาการ และอำนวยการ

2. กองทัพเรือจีนยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือในการตรวจสอบยืนยันคุณภาพในทุกขั้นตอนของการดำเนินการเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานตามมาตรฐานของกองทัพเรือจีนและมีคุณลักษณะ หรือมีคุณภาพเทียบเท่ากับเรือดำน้ำที่จีนใช้อยู่ ตั้งแต่การรับรอง แบบของเรือ การตรวจรับรองแผ่นเหล็ก และวัสดุในการสร้างเรือ การทดสอบขั้นโรงงาน การทดสอบหน้าท่า การทดสอบในทะเล การยิงทดสอบตอร์ปิโด และการทดสอบให้เต็มศักยภาพก่อนที่จะมีการตรวจรับ นอกจากนั้น ก็จะสนับสนุนเอกสารมาตรฐานต่างๆที่สำคัญเกี่ยวมาตรฐานของทุกเรื่องให้กับกองทัพเรือด้วย

3. ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ กระทรวงกลาโหมจีนยืนยันที่จะให้การสนับสนุนด้านอาวุธที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางยุทธการ และการฝึกเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมากนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำสงครามใต้น้ำของกองทัพเรืออย่างยิ่ง

สำหรับการดำเนินโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์รวมทั้งการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ของกองทัพเรือก็ใช้แนวทางจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือและแนวทางการจัดการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากมิตรประเทศ ซึ่งก็เป็นแนวทางปกติในการดำเนินการทุกครั้งที่มีการจัดหายุทโธปกรณ์จากภายนอกประเทศ ตั้งแต่การเสนอความต้องการโครงการเมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็มาจัดทำโครงการ การกำหนดความต้องการในรายละเอียด มีการศึกษาและการคัดเลือกแบบ ซึ่งตรงนี้อย่างที่ผมเรียนไปแล้วได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 มีการดำเนินการจัดจ้างและเจรจาตกลงกันในรายละเอียด การขออนุมัติและการทำสัญญา สุดท้ายก็เป็นการบริหารสัญญาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้

การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ผมเรียนเลยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำกันในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการค่อนข้างนาน มีวงเงินค่อนข้างสูง และผลสำเร็จมีผลกระทบต่อขีดความสามารถของกองทัพเรือและประเทศไทย แต่ที่สำคัญก็คือมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีน ทั้งบริษัทต่อเรือ กระทรวงกลาโหม กองทัพเรือจีน และหน่วยงานของจีนที่กำกับดูแลด้านอุตสาหกรรมทางทหารจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อให้โครงการมีความสำเร็จ ตั้งแต่ขั้นการดำเนินโครงการไปจนถึงตลอดอายุการใช้งานของเรือ การทำสัญญาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลย่อมถือเป็นการลดความเสี่ยงและความเชื่อมั่นว่าโครงการจะสำเร็จสมบูรณ์ด้วยความราบรื่นและมีคุณภาพ ผมอยากจะเรียนกับพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านว่า การจัดหาเรือดำน้ำรุ่น S26T จากประเทศจีนในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยและกองทัพเรือได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นการวางรากฐานสงครามใต้น้ำของกองทัพเรือให้มีความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ขอบคุณครับ

พล.ร.ต.กฤษฏาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ

สวัสดีครับ สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการสร้างเรือดำน้ำครั้งนี้ ก็ต้องเรียนพี่น้องสื่อมวลชนว่า สบายใจได้ กองทัพเรือไม่ได้ไปเบียดเบียนเงินงบประมาณของส่วนราชการอื่น หรือแม้แต่ไปขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อให้สถานการณ์อื่นๆหรือประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจ กองทัพเรือใช้งบประมาณจากงบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับปกติตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เป็นการลงทุนในการพัฒนากองทัพ ซึ่งจะจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาทดแทนของเดิมที่หมดอายุไป การปรับปรุงยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือแม้แต่การจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ๆที่ยังไม่มีเข้ามาใช้งานตามความต้องการในการใช้งานนั้น ซึ่งกองทัพเรือได้ลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนากองทัพเรือเป็นปกติ หรือเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ภายในงบประมาณของกองทัพเรือเอง เช่น การจัดหาเรือตรวจการชายฝั่ง การปรับปรุงเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร หรือแม้แต่การจัดหาเรือหลวงจักรีนฤเบศร ที่เรานั่งกันอยู่ทุกวันนี้ก็จัดหาโดยงบประมาณการลงทุนเพื่อพัฒนากองทัพของกองทัพเรือทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้งบประมาณจากส่วนราชการอื่น หรือของบประมาณจากประเทศ ไม่เป็นภาระกับประเทศ

ส่วนการพิจารณาว่ากองทัพเรือจะลงทุนในเรื่องใด ในเวลาไหน ขึ้นอยู่กับความจำเป็น เร่งด่วน และสภาพความเป็นไปได้ด้านงบประมาณในช่วงเวลานั้นที่จะไม่ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเป็นภาระของกองทัพเรือ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ผมก็เรียนว่า เหมือนกับส่วนราชการอื่นๆทั่วไป จำเป็นจะต้องจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้มาใช้ในการทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ตนรับผิดชอบ เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง จำเป็นจะต้องจัดหารถขุด รถตัก รถลาดยาง มาใช้ในการสร้างทาง อันนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องปกติของส่วนราชการทั่วไป ซึ่งกองทัพเรือก็ได้ดำเนินการในลักษณะนี้ในการจัดหาเรือประภทต่างๆ มาโดยตลอด

สำหรับงบประมาณครั้งนี้จำนวน 13,500 ล้านบาท ก็ต้องเรียนว่า ทางกองทัพเรือไม่ได้ใช้เงินทั้งหมดจำนวน 13,500 ล้านบาท ในคราวเดียว เป็นการผ่อนชำระเป็นระยะเวลาถึง 7 ปี ตามระยะเวลาสร้างเรือดำน้ำ ในแต่ละปีจะแบ่งจ่ายเป็นงวดๆในลักษณะ เดียวกับงานก่อสร้างทั่วไป ในละปีจะมีงานเกิดขึ้นที่งวดจะใช้เงินเท่าไหร่แตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยกองทัพเรือได้เจรจากับฝ่ายจีนในการชำระเงินในปีต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ในงบประมาณแต่ละปีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงเวลา 7 ปีที่ว่านี้ จะมีการชำระเงินทั้งหมด 17 งวดด้วยกัน โดยในปีแรก ปี 2560 นี้ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีกองทัพเรือได้รับงบประมาณจำนวน 700 ล้านบาท เพื่อชำระเงินในปี 2560 ส่วนปี 2561 - 2565 เป็นต้นไป ก็จะจ่ายเงินตามความก้าวหน้าของงาน เฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท

อีกครั้งนะครับ การจ่ายเงินในแต่ละปี จะไม่เป็นภาระ และจะไม่มีผลกระทบกับการใช้งบประมาณในด้านอื่นๆของกองทัพเรือ บางท่านอาจจะถามว่า ทำไมกองทัพเรือไม่จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำในคราวเดียวกัน ก็ต้องเรียนว่า จริงๆอยากได้ทั้ง 3 ลำ แต่เรือดำน้ำหนึ่งลำค่อนข้างมีราคาสูง ในขณะเดียวกัน งบประมาณที่กองทัพเรือได้รับปกติแต่ละปีค่อนข้างมีจำนวนไม่มากนัก กองทัพเรือจำเป็นจะต้องใช้จ่ายในแต่ละปี ในเรื่องของการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่มีอยู่ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง การฝึกกำลังพลให้มีความพร้อมที่จะออกไปทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ของกองทัพเรือ ตลอดจนการลงทุนในแผนพัฒนากองทัพ ในรายการอื่นๆ ในแต่ละปีด้วย ดังนั้นจึงต้องทยอยจัดหาทีละลำตามสภาพความเป็นไปได้ของงบประมาณ ที่จะอำนวยให้ในปีนั้นๆ

สุดท้ายในเรื่องความโปร่งใส่ในการจัดหา ผมในนามของเลขานุการคณะกรรมการโครงการบริหารจัดหาเรือดำน้ำ ก็ต้องเรียนท่านว่า การจัดหาเรือดำน้ำนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่กองทัพเรือแต่งตั้งขึ้นเป็นคณะที่เสนาธิการทหารเรือท่านเป็นประธาน เรียกว่าคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งทำงานในรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพิจารณาข้อเสนอของเรือดำน้ำประเภทต่างๆ คณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำซึ่งรองเสนาการทหารเรือท่านรับหน้าที่ไป สุดท้ายก็คือ คณะกรรมการร่างข้อตกลงในการสร้างเรือดำน้ำ คณะกรรมการแต่ละกลุ่มก็จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ใช้หน่วยเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมประกอบด้วย รวมกันประมาณเกือบ 100 คน ต้องเรียนว่าเป็นการยากที่จะชักนำคนเกือบๆร้อยคนไปในทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่งตามใจชอบ ฉะนั้นผมต้องเรียนว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ผมเรียนเท่านี้ครับ

พล.ร.ต.วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ

เรียนท่านผู้สื่อข่าวทุกท่าน ผมเองในฐานะของหน่วยผู้ใช้เรือดำน้ำผมอยากจะบอกว่าหลายๆท่านได้เรียนให้ทราบแล้วว่าโครงการการพิจารณาจัดหาเรือดำน้ำได้อยู่กับกองทัพเรือมากว่า 30 ปี ในส่วนตัวผมเองได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2528 เพราะได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหลักสูตรในทหารเรือดำน้ำ จากเสปน หลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนนายเรือที่นั่นก็เป็นเวลายาวนานแล้วที่เราได้พยายามเตรียมคน ให้ความรู้บ้าง ตามโอกาสอันควรเมื่อมิตรประเทศอนุญาตให้เราเข้ารับการอบรมในเรื่องความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ ผมเข้าใจดีว่า พอเราได้รับข่าวว่าได้รับอนุมัติให้จัดหาเรือดำน้ำคนของกองเรือน้ำทั้งหมดมีความปลื้มปิติ พวกเรายินดี และดีใจ ที่เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สักที เพราะด้วยเวลาที่ยาวนาน มันเป็นความฝันของทหารเรือทุกนายก็ว่าได้ เหตุผลต่างๆนานาก็เป็นไปตามที่ทั้ง 3 ท่านได้เรียนให้ทราบไปแล้ว แต่ผมอยากจะเปรียบเทียบการจัดหาเรือดำน้ำเหมือนเราจัดหารถยนต์ที่จะมาใช้ในครอบครัวของเราสักคันหนึ่ง ปกติเราก็คงต้องมองจากรถยนต์ในตลาดว่ามันมีมากน้อยเพียงใด มีรุ่นแบบไหนที่สามารถที่จะสนองประโยชน์ใช้สอยของเราได้ อยู่ในขีดความสามารถที่เราพอจะมีกำลังส่ง มีกำลังซื้อ มีกำลังดูแลรักษาเพื่อให้มันสามารถจะใช้งานเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ละแบบแต่ละรุ่นก็มีจุดดีจุดด้อยไม่เหมือนกัน เรือดำน้ำก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเลือกแบบใดแบบหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญที่เราพิจารณาก็คือคุณลักษณะที่สำคัญที่จะสนองต่อความต้องการของเราจะต้องมี ถึงแม้ว่าจะมีในครอบครัวอาจจะมีผู้ที่ชอบใจไม่ชอบใจผมว่าก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกับเราที่ผมเรียนให้ทราบว่าการจัดหารถยนต์ก็เช่นเดียวกัน

สำหรับมุมมองกองเรือดำน้ำมีหลายสิ่งที่เราพอใจ ผมว่าเรือดำน้ำจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากยานรบอื่นๆทั่วไปโดยองค์ประกอบที่สำคัญคือความสามารถในการซ่อนพรางตนเอง มีอาวุธที่มีอำนาจลายล้างรุนแรงหลายชนิด มีการซ่อมบำรุงเหมาะสม ตลอดจนกำลังพลมีโอกาสจะศึกษาหาความรู้จนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งผมอยากจะเรียนให้ทราบว่าในเรือดำน้ำแบบดีเซลไฟฟ้าเรือดำน้ำที่เราจะจัดหาในครั้งนี้นั้นปกติเวลาการทำงานที่อยู่ใต้น้ำจะใช้แบตเตอรีเป็นพลังงานขับเคลื่อน ให้เดินทางไปข้างหน้าข้างหลัง การใช้อุปกรณ์ต่างๆภายในเรือทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับแบตเตอรี ฉะนั้นเมื่อเราบรรจุแบตให้เต็ม สักครั้งหนึ่งปกติก็สามารถจะทำงานได้ต่อเนื่องประมาณ 2 - 4 วัน แบตก็ใกล้จะหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเดินเรือตามยุทธวิธีแบบไหน เร็วช้า หรือใช้เครื่องจักรมากน้อยเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ปกติในการใช้งานเรือดำน้ำจริงแล้วทางยุทธวิธีเราก็อยากให้แบตเตอรีเรามีประจุเต็มอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราจะต้องขึ้นมาชาร์ตแบตเตอรีที่ความลึกใกล้ๆผิวน้ำแทบจะทุกวัน เพียงแต่ว่จะใช้ระยะเวลาสั้นๆ อาจจะ 2-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ แล้วแต่การออกแบบในช่วงของการปฏิบัติการ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤตและมีอันตรายสำหรับเรือดำน้ำเพราะอาจจะได้รับการตรวจพบจากยานของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรือแม้กระทั่งเรือผิวน้ำด้วย ช่วงเวลานั้นเป็นผลเสียต่อการซ่อนพรางแต่หากจะมองถึงคุณลักษณะของเรือดำน้ำ S26T ที่เราจะจัดหาในครั้งนี้จะเห็นว่าเรือเราจะติดอุปกรณ์เสริมเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำการชาร์ทแบตเตอรีในขณะที่ดำอยู่ใต้น้ำที่ความลึกหนึ่งได้ โดยไม่จำเป็นที่จะโผล่มาที่ความลึกใกล้ๆกับผิวน้ำ

ฉะนั้นเครื่องมือเราเรียกว่าเป็นเครื่องมือที่ระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอกหรือที่ทางรองเสนาธิการได้บอกว่าระบบ AIP หรือ Air-independent propulsion system ซึ่งจะทำให้ยืดระยะเวลาการในการที่เราจะต้องขึ้นมาการประจุไฟฟ้าด้วยเครื่องจักรหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักของเรือออกไปได้อีกประมาณ 5 เท่า ฉะนั้นการที่เราสามารถอยู่ในน้ำได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้นมันถือว่าในทางทหารแล้วเป็นการได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะเราจะสามารถทำอะไรโดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ไม่เห็นได้มากขึ้น มีโอกาสที่จะใช้อาวุธ หรือดำเนินการต่างๆตามภารกิจที่เราได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งในเรื่องของขีดความสามารถถือว่าโดนใจกองเรือดำน้ำมากที่สุด

สำหรับในเรื่องคุณสมบัติที่สำคัญต่อมา คือเรื่องการมีอาวุธปกติเรือดำน้ำปกติทั่วไปจะใช้ตอร์ปิโดเป็นอาวุธหลัก ในการใช้ต่อสู้กับเรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำด้วยกัน แต่จากที่ท่านเสนาธิการท่านกล่าวไปเบื้องต้นพัฒนาการของเรือดำน้ำปัจจุบันสามารถใช้ยิงอาวุธนำวิถี หรือจรวดเพื่อยิงเรือผิวน้ำ และเป้าหมายบนฝั่งที่อยู่ในระยะที่เราใช้การได้ด้วย ซึ่งเรือเราก็มีเช่นเดียวกัน และยังมีขีดความสามารถในการวางทุ่นระเบิดที่พื้นท้องทะเลเพื่อใช้ทำอันตรายต่อเรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำของฝ่ายตรงกันข้าม ผมอยากจะพูดให้เห็นภาพว่า ระยะของอาวุธปล่อยหรือจรวดนำวิถีของเราที่มี ถ้าคิดง่ายๆก็คือเรานั่งอยู่ที่นี่สัตหีบ เราสามารถจะยิงไปถึง จ.ชุมพร หรือยิงเข้าแผ่นดิน ก็คือผมเป็นคนอีสาน ก็ยิงถึงโคราช ถือว่าพอสมควร

เมื่อใดที่กองทัพเรือได้รับ เรือดำน้ำชุดนี้เข้าไปประจำการ ก็เท่ากับว่าเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กองทัพเรืออย่างมาก มันไม่ใช่เรือดำน้ำที่ทำงานด้านยุทธวิธีเพียงอย่างเดียว มันจะมีผลกระทบต่อทางยุทธศาสตร์หรือการสมดุลของอำนาจกำลังรบด้วย สำหรับการจะใช้งานเรือดำน้ำให้ได้ตามขีดความสามารถต่างๆเหล่านั้นสิ่งที่ผมถือว่ามีความสำคัญยิ่งหย่อนไม่แพ้กันคือความปลอดภัยของกำลังพล หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของผมที่ไปทำงานกับเรือดำน้ำ ผมต้องมีความมั่นใจ ไม่อย่างนั้นผมจะไม่ยอมที่จะให้เขาเหล่านั้นต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง เรือดำน้ำของเราที่จะได้รับได้มีออกแบบในเรื่องนี้ไว้ โดยการออกแบบให้ตัวเรือสามารถจะแบ่งเป็นห้องๆ หรือ compartment เพื่อสามารถผนึกน้ำได้เป็นส่วนๆถ้าหากมีเหตุฉุกเฉิน เรือได้รับความเสียหาย มีน้ำเข้ามาภายในตัวเรือที่จุดใดจุดหนึ่ง เราก็สามารถจะผนึกน้ำในห้องนั้นไม่ให้ลามไปยังที่อื่นได้

ในส่วนของกำลังพลเองที่ยังอยู่ในห้องนั้นก็สามารถจะหนีไปหลบในห้องอื่นเพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยานกู้ชีพ หรือยานช่วยเหลือ ซึ่งมันเป็นการออกแบบของตัวเรือชุดนี้ที่จะเสริมให้กับตัวเรือว่าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินน้ำเข้าเรือสามารถสกัดให้อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งได้ เสร็จแล้วในขณะเดียวกันยังสามารถรักษากำลังลอยตัวของเรือดำน้ำเองเพื่อจะสามารถขึ้นสู่ผิวน้ำหรือรอความช่วยเหลือ สำหรับการช่วยเหลือโดยการหนีออกมาด้วยชุดกู้ชีพจากเรือดำน้ำ จริงๆแล้วก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่การหนีลักษณะนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่เราเลือก เพราะมันมีความเสี่ยงสูงและค่อนข้างอันตราย

สำหรับในแง่การใช้งานอย่างที่รองเสนาธิการได้กล่าวเรียนให้ทราบแล้วว่า เนื่องจากเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ กองทัพเรือต้องการใช้เป็นหลักประกันในเรื่องของความปลอดภัยในการเดินเรือ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ผมก็เชื่อว่าพวกเราก็คงพอที่จะมองออกว่าเราควรจะใช้เรือดำน้ำที่ไหน ปกติก็คงไม่ใช้ในบ้านเราเป็นหลักหรอกครับ เราคงใช้ในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของเรา หรือหน้าบ้านของฝ่ายที่เป็นคู่อริของเรา เราคงไปตีหัวที่หน้าบ้าน หรือเส้นทางหน้าบ้านเขามากกว่า

ส่วนในเรื่องข้อกังวลที่ว่าเรือดำน้ำของเรามันใหญ่มาก กินน้ำลึกมันจะสามารถทำงานได้ไหมในอ่าวไทยที่หลายคนกังวลว่า 50 เมตรจะเพียงพอหรือไม่ ผมอยากจะเรียนให้ท่านลองนึกภาพจากนี่ไปที่ปากร่องใกล้ๆกรมหลวงชุมพรออกไปประมาณ 3 ไมล์ หรือประมาณ 5 กิโลเมตร เราจะมีน้ำลึกประมาณ 30 เมตร และลึกขึ้นไปเรื่อยๆ ไปสู่กลางอ่าวไทย ฉะนั้นการที่จะใช้งานเรือดำน้ำในลักษณะของการซ่อนพรางเมื่อเราออกจากท่าเพื่อจะเดินทางเข้าสู่พื้นที่ทำงานที่เรารับมอบหมาย เราสามารถดำไปที่ความลึกที่กล้องตาเรือ หมายถึงความลึกซึ่งเราสามารถจะเดินเรือได้อย่างปลอดภัย แล้วเราสามารถจะชักกล้องตาเรือขึ้นมาเหนือผิวน้ำเพื่อตรวจการได้ ปกติเรือดำน้ำที่ 1,500 ตัน หรือ 2,500 ตัน ความลึกที่ว่านี้มันไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ คืออยู่ระหว่าง 13-16 เมตร ฉะนั้นถ้าเรามีความลึกน้ำตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไปมันเพียงพอที่เราจะสามารถซ่อนพรางและออกเรือเพื่อออกไปทำงานได้ในอ่าวไทยอย่างปลอดภัย พูดง่ายๆว่าอ่าวไทยที่มีเหลือเพียงพอและเหลือเฟือที่จะให้เป็นที่ทำงานของเรือดำน้ำ แต่อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ส่วนใหญ่แล้ววัตถุประสงค์ของการใช้งานเรือดำน้ำเราก็คงไม่ได้ใช้งานในอ่าวไทยเป็นหลัก รวมทั้งยิ่งเป็นในฝั่งของทะเลอันดามันก็ยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลึกของน้ำทะเลมากยิ่งไม่มีอุปสรรคในการใช้งานแต่อย่างใด

ผมอยากจะเรียนยกตัวอย่างของภูมิประเทศของบางประเทศซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอ่าวไทยก็คือบริเวณทะเลบอลติก ในรอบทะเลบอลติกจะมีประเทศยุโรปที่สำคัญ 3-4 ประเทศก็คือ รัสเซียเยอรมนี ฟินแลนด์ และสวีเดน รัสเซียเองใช้ช่องทางทะเลบอลติกเป็นช่องทางเดียวที่จะเดินทางออกไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติก และตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าในสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็นเขาก็ยังสามารถทำงานได้ ปัจจุบันก็ยังมีเรือดำน้ำที่มีระวางขับน้ำประมาณ 2,500 – 3,000 ตันของรัสเซีย ก็ใช้ท่าเรือในทะเลบอลติกเป็นท่าเรือหลักเพื่อทำงานอยู่เช่นเดียวกัน

สำหรับอย่างที่ผมเรียนไปแล้ว สิ่งสำคัญนอกจากคุณลักษณะขีดความสามารถที่ดี มีอาวุธดีแล้ว การฝึกอบรมกำลังพลจะต้องมีกำลังพลที่มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดีเราถึงจะใช้อุปกรณ์ที่เรามีได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งอย่างที่รองเสธ.พัชระ ได้กล่าวเรียนไปแล้วว่า ในส่วนของการฝึกอบรมกองทัพเรือจีนได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผมเองได้มีโอกาสไปพบกับท่านเพื่อไปดูงานและได้เห็นถึงความพร้อมเราเรียกว่าโรงเรียน แต่จริงๆแล้วมันควรจะใหญ่กว่าโรงเรียนอยู่ในสถาบันสอนเรือดำน้ำ ซึ่งก็ใช้งานมา 60 ปีแล้วได้ให้การอบรมกำลังพลอย่างต่อเนื่องมากว่า 80,000 นาย สำหรับเรือดำน้ำกว่า 50 ลำที่ใช้งานในปัจจุบัน ฉะนั้นผมได้เห็นถึงความพร้อมของครู ผู้อบรม เครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้ในการฝึกและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างเพราะมีความพร้อมเพรียง และการฝึกอบรมให้แก่กำลังพลของกองทัพเรือเรากองทัพเรือจีนก็ให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำเช่นเดียวกับที่จะทำให้ตัวเขาเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นการรับรองถึงความมั่นใจว่าเมื่อเราได้รับเรือแล้วเราจะมีขีดความสามารถซึ่งการฝึกมันจะเริ่มตั้งแต่การเรียนทฤษฏีในห้องเรียน การฝึกในเครื่องจำลองยุทธ หรือเครื่องฝึกจำลองที่ทำหน้าตาให้คล้ายคลึงกับของอุปกรณ์ต่างๆที่มีในเรือดำน้ำ และต่อไปถึงการไปดูของจริงที่ใช้งานในเรือดำน้ำ และครั้งสุดท้ายก่อนที่เราจะเดินทางกลับสู่ประเทศไทย กำลังพลของเรือดำน้ำในกำลังพลที่เราเรียกว่าชุดเรือทั้งหมดจะต้องได้รับการฝึกตั้งแต่การเดินเรือเพื่อความปลอดภัยการฝึกใช้อาวุธและยุทธวิธีต่างๆที่จำเป็น

ระยะเวลาของโครงการในการฝึกเป็นเวลาประมาณ 2 ปี รวมทั้งก่อนหน้าที่จะไปก็จะมีการให้ความรู้เบื้องต้นให้กับกำลังพลของเรา ฉะนั้นพูดง่ายๆก็คือว่า ก่อนที่จะได้รับเรือประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ปี เราเริ่มเตรียมกำลังพลในการคัดเลือกต่างๆ

สำหรับการที่จะใช้เรือดำน้ำได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน สิ่งที่มีความสำคัญก็คือการบำรุงรักษา การจะดูแลให้เรือดำน้ำสามารถใช้งานได้อย่างดีอย่างต่อเนื่อง ในสัญญาที่เราได้รับในโครงการจะมีการประกันหลังการส่งมอบเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งในเรื่องของบางบริษัทที่เสนอแทบจะไม่มีบริษัทใดเลยเสนอมาให้มากขนาดนี้ รวมทั้งผมอยากเสนอว่า แม้กระทั่งระยะเวลาประกันของกองทัพเรือจีนเอง เขาก็บอกว่าได้แค่ 18 เดือน ของเราได้มากกว่า ซึ่งนอกจากการประกันระยะเวลา 2 ปีแล้ว ยังมีการเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดสำหรับวงรอบการซ่อม รอบแรก 8 ปี ซึ่งใน 8 ปีแรกที่เราจะได้รับเรือจะมีการสนับสนุนอะไหล่ที่สำคัญสำหรับการตรวจซ่อม 5 ครั้งด้วยกัน รวมทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำการที่กองเรือดำน้ำอยู่ตลอดเป็นระยะเวลา 2 ปี

ดูรวมๆ แล้วผมถือว่าสิ่งที่กองทัพเรือได้จัดหาในครั้งนี้ตอบโจทย์ทุกอย่างที่กองเรือน้ำต้องการ แต่ในส่วนที่กองเรือดำน้ำได้ทำเพื่อเป็นการเตรียมการหรือเตรียมความพร้อมในการจะรับเรือดำน้ำที่จะมาประจำการนั้นเราได้มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนไม่มว่าจะเป็นกองทัพเรือเองได้สนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคารกองบัญชาการอาคารที่พักอาศัยของกำลังพล การจัดส่งกำลังพลในฝึกอบรมด้านเรือดำน้ำจากมิตรประเทศ เช่น จากเยอรมนี เกาหลี สหรัฐฯ การเข้าร่วมประชุมสัมมนา การร่วมฝึกและสังเกตการในเรือดำน้ำของมิตรประเทศ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศต่างๆที่มีเรือดำน้ำ รวมทั้งได้มีการจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการหรือห้องบัญชาการรบของเรือดำน้ำ เพื่อในระหว่างที่เรายังไม่มีเรือดำน้ำใช้ เราก็จะสามารถฝึกทบทวนในเรื่องของความรู้ ยุทธวิธี ให้กับกำลังพลที่เราไปศึกษามาจากที่ต่างๆแล้วรวมทั้งเครื่องนี้เรายังใช้ร่วมกับกองการฝึกเรือยุทธการในการให้ความรู้กับเรือผิวน้ำและอากาศยานของกองทัพเรือในการฝึกร่วมกับเรือดำน้ำด้วย ซึ่งการฝึกที่ต่อเนื่อง และดำเนินการมาเป็นเวลาตามขั้นตอนมันมีเวลาเกือบสิบปีแล้ว
โดยสรุปแล้วผมมั่นใจว่า เมื่อเราได้รับเรือดำน้ำที่จัดหามาในครั้งนี้ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดและข้อตกลงที่เราทำไว้กับจีน ผมเชื่อมั่นว่าเรือดำน้ำที่เราจัดหามาจะเติมเต็มมิติสงครามใต้น้ำที่กองทัพเรือยังขาดอยู่ให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ ขอบคุณมากครับ

พล.ร.อ.จุมพล- เป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นจากผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ S26T ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานอย่างแท้จริง ทั้งมิติในเรื่องปฏิบัติการใต้น้ำ ในเรื่องความปลอดภัยของกำลังพล การบำรุงรักษา ความฝึกอบรม รวมไปถึงการเตรียมการกองเรือดำน้ำที่จะมีเรือดำน้ำโอกาสต่อไปนี้ สุดท้ายคงต้องขออนุญาตให้ท่านเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานในวันนี้ได้สรุปประเด็นต่างๆ ที่คณะทำงานได้เรียนให้ท่านสื่อมวลชนทราบอีกครั้งหนึ่ง เรียนเชิญครับ

พล.ร.อ.ลือชัย- เพื่อนสื่อมวลชนที่รัก จากการที่คณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ได้มาเล่าให้พวกเราฟัง คงสร้างความชัดเจน และเข้าใจกันได้แล้วว่า การหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เรื่องพวกนี้ไม่ได้เพ้อฝัน ลับมาก ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ กองทัพเรือ พ.ศ.2558 -2567 เป็นเครื่องยืนยันว่า ผมไม่ได้คิดเองฝันเอง หรือแม้ไม่เกิดว่ากรรมการข้างหลังผม เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพราะว่าจะเปลี่ยนผู้บัญชาการกี่คนก็เป็นไปตามนี้ ซึ่งกองบังคับการของกองทัพเรือคือ เรือดำน้ำดีเซลแบบไฟฟ้า จำนวน 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท หากจัดหาได้ครบทั้ง 3 ลำ จะทำให้กองทัพเรือสามารถปฏิบัติการครอบคลุมทั้งด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ผมขอย้ำว่าและทะเลอันดามัน ที่ผ่านมาพูดถึงแต่อ่าวไทยๆ ไม่ใช่ เราไปแถวนั้น และเมื่อมี 2 ฝั่งแล้ว การใช้กำลังอย่างที่เรากล่าวไว้แล้วว่า 1.ใช้ 2.พร้อม 3.ซ่อมบำรุง ย้ำอีกทีหลักการใช้เรือดำน้ำ 3 ลำคือ 1.ใช้การปฏิบัติการในทะเล 2.ฝึกคนฝึกอะไรต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม ปรับเปลี่ยนกำลัง และ 3.ซ่อมบำรุงตามวงรอบของมัน หมุนเวียนกันไป จะให้เกิดความพร้อมได้สูงสุดในการใช้เรือดำน้ำ

คณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำได้ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ พูดโดยมีเจตนารมณ์ว่าจะสร้างเรือลำนี้แหละ เป็นเรือรบของประชาชน และหวังว่าจะทำได้ อย่างไรก็ดี การที่จะหาเรือดำน้ำทีเดียว 3 ลำ กองทัพเรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มีเงินพอหรอกที่จะซื้อทีเดียว 3 ลำ ตามที่ผู้บัญชาการคนก่อนได้ชี้แจงไปแล้ว ต้องจัดหาทีละลำ จากรัฐบาลจีนโดยบริษัทซีเอสโอซี ลำแรก 379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลงเป็นเงินไทยประมาณ 13,400 ล้านบาทเศษ ถูกกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้ 13,500 ล้านก็คือ 18 ล้านบาทเศษ ถามว่าแล้วทำไมเมื่อเอา 3 หารมันต้อง 12,000 สิ 36 เอา 3 หารก็ได้เป็น 12,000 ทำไมเป็น 13,500 ล่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า อย่างที่รอง เสธ.บอกไปแล้ว องค์ความรู้หายไปไม่เหลือ มีอยู่บ้างตามที่ผู้บัญชาการเรือดำน้ำส่งคนไปเรียน ซึ่งไม่ครอบคลุม

นอกจากนี้แล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มเติมต้องมี จัดหาเพิ่มเติม ตอบอย่างนี้อาจจะถามว่า แสดงว่าเรือที่มีอยู่มันใช้ไม่ได้สิ ขอให้แยกแยะให้ออกระหว่างการเทียบเรือจอดเรือปกติ กับการซ่อมบำรุงแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งที่สำคัญก็คือ การสื่อสารระหว่างสถานีบกกับเรือในทะเล ต้องยอมรับว่ากองทัพไทยไม่มีสถานีฝั่งระหว่างเรือดำน้ำกับบนบก จึงต้องมีที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่ตามมาไม่ว่าจะหาเรือดำน้ำแบบไหนก็ตามจะมีเครื่องคลายประจุเรือดำน้ำแบตเตอรี จะต้องซื้อ รวมถึงตัวปรับอากาศเพิ่มเติม

สถานการณ์ในโลกทั้งระดับภูมิภาคและโลก ยังคงมีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงอยู่ เช่น กรณีความตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลีสงบสุขมานานหลายปี เพียงแค่เปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ เพียงแค่คนเดียว สถานการณ์กลับคุกรุ่น เมื่อมีสถานการณ์เช่นนี้การใช้กำลังเกิดขึ้นเมื่อไรไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ เรือดำน้ำไม่สามารถหาได้ภายใน 1-2 ปี ต้องใช้เวลาในการจัดหา หากเราไม่จัดหา หลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติ และความมั่งคั่งของประชาชนจะอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่เตรียมการ การที่เรามีเรือดำน้ำไว้ ไม่ต้องการรบกับใคร แต่มีไว้เพื่อไม่ต้องรบ เมื่อเกิดความเกรงใจกัน เพื่อนบ้านกัน ท่านก็อย่ามารบกับข้าพเจ้า นี่คือที่มีไว้เพื่อต้องการ

นอกจากนี้แล้ว อย่างที่ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำได้กล่าวแล้วว่า เรือดำน้ำ 1 ลำ ต้องใช้เรือผิวน้ำเยอะมาก จึงจะสามารถตรวจการรบ ปฏิบัติการหนึ่งที่ในวิดีทัศน์ท่านคงเห็นแล้วว่า มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลปีละ 24 ล้านล้านบาท เรือดำน้ำวงเงิน 36,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.006 เปอร์เซ็นต์ ถามว่ามันคุ้มค่าไหมที่มีเรือดำน้ำ นอกจากนี้กระบวนการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีน ดำเนินการอย่างโปร่งใส ลักษณะของรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งรองเสนาธิการทหารเรือได้กรุณาชี้แจงไปแล้ว เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ

ผมขอขยายความเพิ่มเติม แล้ววันนั้นวันทั้งวันเราต้องทำยังไง เราต้องสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องระดับรัฐบาล เช่น กระทรวงการต่างประเทศเราให้เขารับผิดชอบ เขาก็รับผิดชอบมัน กระทรวงการคลังมันแพงเกินไปไหมที่ว่า เขาก็ตอบมาชัดเจน รวมถึงท่านอัยการสูงสุดก็ได้ตรวจเรื่องพันธสัญญาที่จะก่อหนี้เกิดขึ้น เขาได้ตรวจเรียบร้อย และให้ความเห็นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เราจึงเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการรัฐบาลต่อรัฐบาล และผลสุดท้ายก็คือ เรือดำน้ำแบบรุ่น S26T ของบริษัทซีเอสโอซีจากประเทศจีนมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับกองทัพเรือ มีประเด็นที่กล่าวขวัญกันมากคือ ระบบเอไอพี หรือที่เรียกกันว่า ระบบขับเคลื่อนโดยไม่ใช่อากาศจากภายนอก พี่น้องประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่า มันเป็นยังไง ลองหลับตามองภาพตามผมไป ท่านดำน้ำโดยที่ไม่ต้องติดเครื่องยนต์ นั่นแหละคือเอไอพีของเรือดำน้ำ ขึ้นจากเครื่องยนต์ต้องใช้อากาศจากภายนอก คือต้องโผล่จากผิวใต้น้ำมา แต่นี่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ท่านผู้บัญชาการเรือดำน้ำท่านบอกว่า สามารถดำได้โดยไม่ต้องโผล่จากผิวน้ำโดยเครื่องยนต์ นี่คือระบบเอไอพี

ระบบนี้ใน 6 ประเทศที่เสนอมา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ให้ตัวนี้ 1.สวีเดน 2.จีนที่ให้ บางคนถามทำไมไม่สวีเดน มันแพงไงอะไรอีกมากมายที่รอง เสธ.ชี้แจงแล้ว คือการฝึกคน ท่านได้ชี้แจงไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า มีความคุ้มค่าในการใช้เงิน นอกจากนี้แล้วที่ถกเถียงกันมาก ที่ผมเรียนแล้วว่า ตั้งแต่เริ่มกล่าวนำแล้วว่า ข้อมูลจริงบ้าง เท็จบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มากับเรือ ผู้บัญชาการเรือดำน้ำยืนยันแล้วว่า เขาให้มาพร้อมกับเรือ คืออาวุธปล่อยจรวดนั่นแหละ ที่บอกยิงเท่าไรนะ อยู่นี่ถึงชุมพรนั่นแหละเขาให้มาด้วย ตอร์ปิโดก็ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุ่นระเบิด ตามสื่อโซเชียลทั้งหลายไม่เคยพูดเรื่องทุ่นระเบิดเลย ทุ่นระเบิดเป็นภัยเงียบที่อันตรายอย่างยิ่งในสงครามใต้น้ำ แม้แต่คนในกองทัพเรือทางซ้ายผม ท่านลองไปถามสิซักกี่คนที่ถ่องแท้ ยากที่จะเข้าใจ

แต่อธิบายให้พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนแล้วว่า ทุ่นระเบิดวันดีคืนดี เช่น ยกตัวอย่างไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอกนะครับ วันดีคืนดีคนแอบมาวางร่องน้ำเจ้าพระยา คนแอบมาวางปากทางเข้าร่องน้ำแหลมฉบัง ปากทางเข้ามาบตาพุด และเขาก็หายไป พอเรือแล่นผ่านมันก็ตูมระเบิด เรือเป็นขนาดหมื่นๆ ตัน แสนตันจมขวางร่องน้ำ ท่านจะกู้ยังไง ใช้เวลาเท่าไรในการกู้ เศรษฐกิจชาติเสียหายไปเท่าไรในการที่จะเข้าออกไม่ได้ นี่แหละคือที่สำคัญ แต่ว่าเขาไม่พูดกัน เพราะว่าพูดอย่างนี้แสดงว่าเธอจะวางระเบิดแบบหน้าบ้านฉันสิ เราแค่พูดเป็นหลักการว่า เราจะทำได้อย่างนี้แหละ ให้เกรงใจข้าพเจ้า อย่าได้มาอะไรกับข้าพเจ้าอีก นี่คือสิ่งที่เขาให้มาทุ่นระเบิด

นอกจากนี้แล้ว บางคนบอกว่าเรือนี้ลอกแบบมาจากชั้นกิโล ที่รอง เสธ.ท่านพูดแล้ว คือจีนไปดูลอกเขามา ไม่ใช่ จีนไปปรึกษาพัฒนา แล้วมาเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ระหว่าง S26T ในปัจจุบันกับเวอร์ชั่นกิโลของเวียดนามสุดยอด ปรากฏว่า S26T เหนือกว่า นี่คือสิ่งที่จะนำเรียนท่านสื่อมวลชน นอกจากนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่รอง เสธ.เสนาธิการทหารเรือกรุณาได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังก็คือ ท่านลองมาอยู่เรือดำน้ำขับเคลื่อนลักษณะนิวเคลียร์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ชั้นลอสแองเจลิส ระวางขับน้ำ หรือความใหญ่โตของมันมากกว่าเรือชั้น S26T ของจีนกว่า 2 เท่า ไปวิ่งสบายเลยในอ่าวไทย 5 วัน ไม่เกิดอุบัติเหตุอะไร นี่คือใครบอกอ่าวไทยเรือดำน้ำวิ่งไม่ได้ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ยังวิ่งได้เลย

นอกจากนี้แล้ว ผมขอเล่าให้ฟังเสริมท่าน เสธ.ก็คือ น้อยคนที่จะทราบ เสียดายที่วันนี้พี่อ๊อด 7 สี ภาคตะวันออกไม่มา อันนี้คือเพื่อนนักข่าวสมัยที่ผมเป็น เสธ.เกรด 2 ยืนยันได้ เรือดำน้ำสหรัฐฯ แอบเข้ามาในอ่าวไทย ไปหาเรือดำน้ำที่จมอยู่ในอ่าวไทย ด้านเหนือเกาะโลซินประมาณ 50 ไมล์ จมตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามาหาเจอ และทำพิธีแล้วประกาศว่า บริเวณนี้เป็นสุสานทหารอเมริกัน กรุณาอย่ารบกวน ไอ้นี่ที่ไหนท่านมองที่ยืนที่สงขลา ตรงพญานาคพ่นน้ำ มองไปตะวันออกประมาณ 70 ไมล์ ประมาณนี้ และไปทางถนนอีก 50 ไมล์ เรือสหรัฐฯ สงครามโลกครั้งที่ 2 เรือชื่อ ลากาโตไปเสิร์ชหาดู จมอยู่เหนือเกาะโลซินประมาณ 50 ไมล์ เขาหาเจอ โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เขามาหาเมื่อไร

พวกเรามองย้อนไป หลับตามองตามผมไป เพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำรอบด้าน มาหาของในบ้านเรา โดยเราไม่รู้มันควรไหม ผมถามกลับ มันควรไหมมาหาในบ้านเรา นี่คือสิ่งที่น่ากังวล แล้วทำไมไม่หาล่ะ โอ้ยพวกนี้บอกว่า บินขึ้นมาก็เห็นเรือดำน้ำแล้ว ทำไมไม่เห็นล่ะ อันนี้คือตอบท่านสื่อมวลชน ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ทราบ นอกจากนี้แล้ว ผมขออีกประการหนึ่งคือ เราฝึกกับชาติพันธมิตรเพื่อนเรามาหลายสิบปี เห็นๆ เรือดำน้ำของเขาอยู่ข้างเรือดำน้ำเรา อ้าวไอจะดำแล้วนะ ดูให้ดีนะ เพียงแค่พ้นระดับกล้องตาเรือที่ผู้บัญชาการเรือดำน้ำ จมไปแค่นั้น เราหาไม่เจอต่อหน้าต่อตา นี่คือข้อเท็จจริงกระบวนเชิงประจักษ์ แต่ว่าทหารเรือไม่มีหน้าที่ไปแก้ตัว วันนี้เป็นโอกาสดีที่เพื่อนสื่อมวลชนได้มา ได้มาเล่าให้ฟัง ผมเรียกว่าเล่านะ ไม่ได้ชี้แจง มาเล่าให้ฟัง และหวังว่าท่านจะฝากไปขยายผลออกไปบอกพี่น้องประชาชน สุดท้ายคือที่โดนใจคือ 36,000 ล้าน ลำแรก 13,400 คิดยังไงก็คุ้ม ผมขอฝากทิ้งท้ายไว้ ฝากพี่น้องสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนไปคิดทบทวนดูว่า ผลงานในอดีตที่ผ่านมา กองทัพเรือเคยทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังหรือไม่ กองทัพเรือไม่เคยทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง เช่นเดียวกันการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ กองทัพเรือก็จะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังเช่นเดียวกัน ผมขอยืนยัน ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น