เอเจนซีส์ - สื่อยักษ์สหรัฐฯ หลายสำนักฟันธงในวันจันทร์ (6 มิ.ย.) “ฮิลลารี คลินตัน” ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนเกินครึ่งแล้ว จึงกลายเป็น “ว่าที่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต” ลงเลือกตั้งปลายปีนี้เพื่อลุ้นสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกา การประกาศตูมคราวนี้มีขึ้นก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งสำคัญในรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนียเพียงวันเดียว ทางด้าน “เบอร์นี แซนเดอร์ส” คู่แข่งในพรรคของเธอที่ยังเหลืออยู่เพียงคนเดียว ถึงแม้ประกาศลั่นปักหลักสู้ต่อแต่ก็เริ่มฉายแววท้อ โดยเฉพาะหลังจากมีรายงานว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ใกล้ออกมาเปิดตัวแถลงสนับสนุนคลินตัน
สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น สำนักข่าวเอพี และฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี (เอ็นบีซี นิวส์) พร้อมใจรายงานเมื่อวันจันทร์ (6) ว่า คลินตันสามารถรวบรวมตัวแทนผู้ลงคะแนนได้ถึง 2,383 คน นั่นคือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนตัวแทนทั้งหมด 4,765 คน จึงกลายเป็น “ว่าที่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต”
จำนวนตัวแทนดังกล่าวมากเพียงพอแล้วที่จะทำให้คลินตันได้รับเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ของเดโมแครตปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ให้เป็นผู้สมัครของพรรคลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ชัยชนะคราวนี้ถือเป็นการฟื้นคืนชีพทางการเมืองครั้งสำคัญ สำหรับแคนดิเดตมากประสบการณ์แต่ไม่เป็นที่พึงใจของคนจำนวนมากผู้นี้ซึ่งพ่ายแพ้ให้โอบามาในการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเมื่อปี 2008
สำหรับครั้งนี้ คลินตัน ซึ่งปัจจุบันอายุ 68 ปี และเคยเป็นทั้งวุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถฝ่าฟันแคมเปญหาเสียงเข้มข้นในกลุ่มรากหญ้าของแซนเดอร์สสำเร็จ และกำลังมุ่งหน้ารบราอย่างเต็มตัวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกชิงทำเนียบขาว
กระนั้น แซนเดอร์สยังคงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ โดยเขายืนกรานว่าการเสนอชื่อของเดโมแครตจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการโหวตในที่ประชุมใหญ่พรรคปลายเดือนหน้า
ไมเคิล บริกส์ โฆษกของแซนเดอร์ส โต้แย้งว่า พวกสื่อใหญ่ของสหรัฐฯ ด่วนตัดสินเร็วเกินไป เนื่องจากนำเอาตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษ (ซูเปอร์เดลิเกต) มานับรวมด้วย ทั้งที่ตัวแทนเหล่านั้นจะยังไม่โหวตจนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่วันที่ 25 กรกฎาคม และระหว่างนี้ยังมีสิทธิ์เปลี่ยนใจตลอดเวลา
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารพรรคเดโมแครตก็ได้ขานรับการโต้แย้งของทีมหาเสียงของแซนเดอร์สที่ว่า ไม่ควรนับเสียงของตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษ จนกว่าจะมีการโหวตในการประชุมใหญ่ที่ฟิลาเดลเฟีย
ในเรื่องนี้คลินตันเองก็เห็นด้วยว่าการประกาศของสื่ออาจถือเป็นหลักหมายสำคัญ แต่การแข่งขันของเดโมแครตยังไม่จบ โดยเธอมุ่งอ้างอิงถึงการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี 6 มลรัฐ ในวันอังคาร (7) ที่แคลิฟอร์เนีย, มอนทานา, นิวเจอร์ซีย์, นิวเม็กซิโก, นอร์ทดาโคตา และเซาท์ดาโคตา
คลินตันนั้นหวังเผด็จศึกในแคลิฟอร์เนียที่มีตัวแทนผู้ลงคะแนนถึง 475 คน เพื่อยุติข้อโต้แย้งใดๆ ก็ตามที่แซนเดอร์สจะใช้เพื่ออยู่ในการแข่งขันต่อจนถึงการประชุมใหญ่พรรค
ทั้งนี้ ล่าสุดคลินตันได้ตัวแทนผู้ลงคะแนน 1,812 คน จากการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบไพรมารี และคอคัสที่ผ่านมา ขณะที่มีตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษซึ่งประกาศให้การสนับสนุนเธออีกจำนวน 571 คน โดยที่ตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษเหล่านี้ได้แก่พวกผู้นำของพรรค ตลอดจนวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ว่าการมลรัฐซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครต
ระหว่างการปราศรัยหาเสียงในวันจันทร์ (6) คลินตันอ้างด้วยว่า แม้เมื่อนำเอาคะแนนเสียงประชาชนแต่ละคนที่โหวตมารวมกัน (ป็อปปูลาร์โหวต) เธอก็ได้เสียงมากกว่าแซนเดอร์สถึง 3 ล้านคะแนน ทว่า วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐเวอร์มอนต์ตอบโต้ว่า ระบบของพรรคนั้นทำให้ตัวเขาเสียเปรียบ มิหนำซ้ำตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษหลายร้อยคนยังเลือกข้างคลินตันตั้งแต่ก่อนที่เขาจะประกาศลงแข่งขันเมื่อปีที่แล้วเสียอีก
แซนเดอร์สวางแผนเอาไว้ว่า ในเวลาหลายๆ สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งใหญ่ในวันอังคาร (7) ไปจนถึงก่อนการประชุมใหญ่พรรค ซึ่งจะไม่มีการเลือกตั้งขั้นต้นที่สำคัญอะไรอีกแล้ว เขาจะพยายามโน้มน้าวให้ตัวแทนผู้ลงคะแนนพิเศษเปลี่ยนใจมาสนับสนุนตัวเขา โดยชูจุดยืนในการเป็นผู้สมัครที่สามารถรับมือกับทรัมป์ได้ดีกว่าคลินตัน
ทว่า นอกจากปฏิเสธไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าเตรียมทางหนีทีไล่อย่างไรหากผลการเลือกตั้งขั้นต้นในวันอังคาร (7) ออกมาน่าผิดหวัง แซนเดอร์สยังเผชิญคำถามใหม่เกี่ยวกับแผนการหาเสียงต่อไปหลังจากมีรายงานว่าโอบามาพร้อมแล้วที่จะเปิดตัวประกาศสนับสนุนคลินตัน
ทางด้านความเคลื่อนไหวของทรัมป์ ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนรีพับลิกันนั้น ยังคงสร้างเรื่องไม่ได้หยุดหย่อน ซึ่งรวมถึงการเรียกผู้พิพากษา กอนซาโล คูรีล ว่า “เม็กซิกัน”
คูรีลคือผู้พิพากษาในคดีที่มหาวิทยาลัยทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าต้มตุ๋นประชาชน โดยที่ผู้พิพากษาผู้นี้ถึงแม้มีพ่อแม่เป็นชาวเม็กซิกัน แต่ก็เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด โดยเกิดที่รัฐอินดีแอนา
การสบประมาทของทรัมป์เรียกเสียงวิจารณ์ขรมกระทั่งจากสมาชิกสำคัญของพรรครีพับลิกัน ซึ่งเห็นกันว่าเขากำลังเหยียดเชื้อชาติ และตอกย้ำความท้าทายสำคัญของมหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ในการสร้างความปรองดองภายในพรรค
ด้านคลินตันร่วมวงประณามทรัมป์ โดยประกาศกับผู้สนับสนุนในลอสแองเจลิสว่าอเมริกาจำเป็นต้องหยุดยั้งคนที่ดีแต่สร้างความแตกแยก ก้าวร้าว และดันทุรังอย่างทรัมป์