xs
xsm
sm
md
lg

สื่อปินส์ประณามว่าที่ ปธน. “ดูเตอร์เต” หลังพูดปกป้องการฆาตกรรมนักข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สื่อฟิลิปปินส์ประณามประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เมื่อวันพุธ (1 มิ.ย.) จากการที่เขากล่าวว่า นักข่าวหลายคนถูกสังหารเพราะว่าพวกเขาทุจริตและ “คุณจะไม่ได้รับการยกเว้นจากการถูกลอบสังหารหากคุณเป็นคนชั่ว”

ความคิดเห็นของดูเตอร์เตเกี่ยวกับการเข่นฆ่าแบบไม่เคารพกฎหมาย การเรียกบิชอปว่าเป็น “ลูกโสเภณี” และมุขตลกเกี่ยวกับเหยื่อฆ่าข่มขืนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้ความนิยมของเขาในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิกแห่งนี้เสื่อมลงไปเลย

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการสังหารนักข่าวได้ทำให้บางคนฉุนเฉียว นับตั้งแต่ปี 1986 มีนักข่าวราว 175 คนถูกสังหารในฟิลิปปินส์ มีตั้งแต่คนที่ทำงานในสถานที่อันตรายที่สุดไปจนถึงคนที่ทำงานในธุรกิจข่าว

เมื่อวันอังคาร (30) ดูเตอร์เตปราศรัยต่อผู้สื่อข่าวในเมืองดาเวาทางตอนใต้ ซึ่งการสั่งไล่ล่าสังหารผู้เสพยาเสพติดและอาชญากรตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปีของเขาที่นี่ช่วยผลักดันเขามาสู่ตำแหน่งสูงสุดนี้

“พวกคุณส่วนใหญ่มือสะอาด แต่อย่าพูดเชียวว่านักข่าวทุกคนมือสะอาด” เขากล่าว “เพียงเพราะว่าคุณเป็นนักข่าวไม่ได้ทำให้คุณได้รับการยกเว้นจากการถูกลอบฆ่าหากคุณเป็นคนชั่ว”

“พวกที่ถูกฆ่าส่วนใหญ่ทำบางสิ่งบางอย่างไว้ คุณจะไม่ถูกฆ่าหากคุณไม่ได้ทำอะไรผิด”

เมื่อผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งถามคำถาม เขาเป่าปากใส่เธอ

ไรอัน โรซัวโร ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เสรีภาพสื่อและการฆาตกรรมไม่ใช่เรื่องตลก

“มันน่าตกใจที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ให้ความชอบธรรมต่อการฆาตกรรมนักข่าวในประเทศด้วยการอ้างเรื่องทุจริต” เขากล่าว

เลขาธิการด้านการสื่อสารของทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฮอร์มินิโอ โคโลมา กล่าวว่า นักข่าวมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับความคุ้มครอง

“เราไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่านักข่าวอาจถูกลอบสังหารหรือฆ่าเพราะว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตของสื่อ” เขากล่าวในถ้อยแถลง “มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจับกุม ดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าว”

โรเมล รีกาลาโด บากาเรส ผู้อำนวยการสูงสุดศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศกล่าวว่า ความคิดเห็นของดูเตอร์เตแสดงให้เห็นถึง “ทัศนคติดูถูกเหยียดหยามต่อสิ่งทีเป็นความกังวลร้ายแรงของประชาคมโลก” และอาจทำให้การละเว้นโทษฆาตกรไม่มีวันหมดไป

คณะกรรมการเพื่อการปกป้องผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นกลุ่มสังเกตการณ์สื่อนานาชาติก็ร่วมการประณามครั้งนี้ด้วย และระบุว่า หนทางเดียวที่จะจัดการกับฆาตกรที่ลายนวลอยู่จำนวนมากคือผ่านกระบวนการศาล

“ความคิดเห็นอันน่าตกตะลึงของประธานาธิบดีดูเตอร์เตที่แก้ตัวให้กับการเข่นฆ่านอกกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเสี่ยงที่จะทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นทุ่งสังหารสำหรับผู้สื่อข่าว” กลุ่มนี้ระบุในถ้อยแถลง “เราเรียกร้องอย่างจริงจังให้เขาถอนคำพูดและแสดงสัญญาณว่าเขามีตั้งใจที่จะปกป้องไม่ใช่พุ่งเป้าสื่อ”


กำลังโหลดความคิดเห็น