รอยเตอร์ - เว็บไซต์ชวนเชื่อของเกาหลีเหนือเยินยอมหาเศรษฐี “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าเป็นนักการเมืองที่ “หยั่งรู้อนาคต” คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจะสามารถปลดปล่อยชาวอเมริกันจากความหวาดกลัวภัยนิวเคลียร์โสมแดงได้
เว็บไซต์ DPRK Today ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐคอมมิวนิสต์โสมแดง ได้เผยแพร่บทความเมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) โดยระบุว่า ทรัมป์ เป็น “นักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลม” และเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชาวอเมริกันที่จะออกไปใช้สิทธิ์เลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 8 พ.ย.
DPRK Today ยังดูหมิ่น ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งจะลงดวลกับ ทรัมป์ ในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตว่าเป็น “ยายทึ่มฮิลลารี” โดยอ้างเรื่องที่เธอเสนอให้นำ “อิหร่านโมเดล” มาใช้คว่ำบาตรเปียงยางเพื่อคลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี
ทรัมป์ ซึ่งเป็นว่าที่ผู้แทนพรรครีพับลิกัน เคยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ตนพร้อมที่จะพบและพูดคุยกับผู้นำ คิม จอง อึน เพื่อโน้มน้าวให้ยุติโครงการนิวเคลียร์ และเรื่องนี้จีนก็ต้องมีส่วนช่วยด้วย
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือหลายระลอกจากการทดสอบนิวเคลียร์ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ก็ยืนกรานเสียงแข็งว่า ข้อเสนอเจรจาจากโสมแดง “ไม่มีความหมาย” ตราบใดที่เปียงยางยังไม่ลดละความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม
DPRK Today ระบุว่า การที่ ทรัมป์ เสนอให้วอชิงตันถอนทหารออกจากเกาหลีใต้หากโซลไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิมนั้น คือหนทางที่จะรวบรวมชาติเกาหลีได้อย่างแท้จริง
“ดูเหมือนว่าคุณทรัมป์จะไม่ใช่ผู้สมัครที่ปากร้าย วิตถาร และโง่เขลาเบาปัญญาอย่างที่ใครเขาว่ากัน แต่เขาเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลม และเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีที่หยั่งรู้อนาคต” ฮัน ยอง-มุก นักวิชาการชาวเกาหลีที่พำนักอยู่ในจีน และเป็นผู้เขียนบทความนี้ ระบุ
DPRK Today เป็นเว็บไซต์ข่าวที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่ได้มาจากสื่อของรัฐบาลเสมอไป
บทความของ DPRK Today ระบุด้วยว่า การลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีด้วยวิธี “เจรจา และไม่ใช่สงคราม” คือทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอเมริกา ซึ่งทุกวันนี้ “ต้องอยู่อย่างหวาดกลัวทุกนาทีว่าจะถูกเกาหลีเหนือโจมตีเมื่อใด”
เปียงยางเรียกร้องมานานหลายปีให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ และยังขอให้วอชิงตันทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อปิดฉากสงครามเกาหลีอย่างสมบูรณ์
สงครามเกาหลีซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1950-53 ยุติลงได้ด้วยข้อตกลงหยุดยิง แต่ยังไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ ดังนั้น ในทางเทคนิคเกาหลีเหนือและใต้จึงยังอยู่ในฐานะ “คู่สงคราม” และการสื่อสารข้ามแดนระหว่างพลเรือนไม่ว่าจะเป็นจดหมายหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด