xs
xsm
sm
md
lg

ลือกระหึ่ม ‘สีจิ้นผิง’ แตกคอ ‘หลี่เค่อเฉียง’ เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

China’s ‘feud’ over economic reform reveals depth of Xi Jinping’s secret state
26/05/2016

มีการคาดเดากันกระหึ่มว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการที่จะลดทอนวิธีกระตุ้นการเติบโตด้วยการออกมาตรการจูงใจต่างๆ ที่เป็นการก่อหนี้ ก่อนที่มันจะทำลายเศรษฐกิจจีนจนเสียหายหนักหน่วง รวมทั้งจะขับไสนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ออกจากตำแหน่งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแดนมังกรน่าจะซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยที่คณะผู้นำจีนต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหา ทว่าต่างสาละวนมุ่งแก้ไขด้วยวิธีการซึ่งแตกต่างกัน

ไม่ใช่พาดหัวข่าวที่จะทำให้ใจเต้นแรงเลย

“การวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ในไตรมาสแรก: บุคคลวงในผู้ทราบเรื่องดีพูดถึงสภาพเศรษฐกิจของจีน” นี่เป็นพาดหัวข่าวซึ่งปรากฏบนหน้าแรกฉบับเช้าวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมของ “เหรินหมินรึเป้า” (People’s Daily) หนังสือพิมพ์รายวันที่เป็นกระบอกเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ดูข่าวชิ้นนี้ในภาษาจีนได้ที่ http://paper.people.com.cn/rmrb/html/2016-05/09/nw.D110000renmrb_20160509_6-01.htm)

กระนั้น พาดหัวข่าวนี้ --รวมทั้งข้อเขียนจากการให้สัมภาษณ์ของ “บุคคลวงในผู้ทราบเรื่องดี” ความยาวราว 6,000 คำที่ติดตามมา ซึ่งมีเนื้อหามุ่งวิจารณ์โจมตีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยการสร้างหนี้เป็นตัวหล่อเลี้ยง— ก็จุดชนวนให้เกิดการคาดเดากะเก็งมาหลายสัปดาห์แล้วว่า น่าจะเกิดความบาดหมางทางการเมืองในระดับยอดบนสุดของการเมืองจีน ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง โดยที่ฝ่ายหลังคือผู้ซึ่งเห็นกันว่าได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลเศรษฐกิจของจีน

“บทสัมภาษณ์ในเหรินหมินรึเป้าเมื่อเร็วๆ นี้ ... ไม่เพียงเปิดโปงให้เกิดความแตกแยกอันล้ำลึกระหว่าง (สี กับ หลี่) ... แต่ยังแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกำลังดำเนินไปอย่างขมขื่นจนกระทั่งตัวประธานาธิบดีต้องหันมาพึ่งพาอาศัยสื่อเพื่อผลักดันวาระของเขา” นักวิจารณ์ผู้หนึ่งเขียนเอาไว้เช่นนี้ในหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ของฮ่องกง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.scmp.com/business/article/1944690/xi-jinping-full-control-what-anonymous-interview-tells-you-about-power)

ขณะที่ ฮาราดะ อิซซากุ (Harada Issaku) แห่งนิกเกอิ (Nikkei) เขียนเอาไว้ว่า “เกิดการแตกแยกอย่างชัดเจนขึ้นแล้วภายในคณะผู้นำจีน” เขาระบุด้วยว่า ทั้ง 2 ค่ายนี้ “กำลังขัดแย้งกัน” ในเรื่องที่ว่าควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกแก่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือแก่การดำเนินการรปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Policy-Politics/Rare-open-rift-over-economy-emerges-in-China)

ข้อเขียนในเหรินหมินรึเป้าวันที่ 9 พฤษภาคม –ซึ่งไม่มีการระบุนามผู้เขียน กระนั้นก็สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผู้ชำนาญการขีดเขียนของ “บุคคลวงในผู้ทราบเรื่องดี”— ได้เตือนว่า การที่สินเชื่อเติบโตขยายตัวอย่างเลยเถิด อาจพาให้จีนจมลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเงิน และกระทั่งทำให้พลเมืองธรรมดาสามัญต้องสูญเสียเงินออมไป (ดูรายงานข่าวภาษาอังกฤษเกี่ยวข้องข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-china-economy-trend-idUSKCN0Y003W)

เหมือนกับว่าต้องการตอกย้ำให้เข้าใจกันชัดๆ ได้มีข้อเขียนชิ้นที่ 2 ซึ่งยาวขึ้นกว่าเดิมด้วย ปรากฏขึ้นในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา – โดยคราวนี้เป็นคำปราศรัยของ สี จิ้นผิง เลยทีเดียว— ทั้งนี้ ประธานาธิบดีแดนมังกรผู้นี้ได้วาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนของเขาออกมาให้เห็น รวมทั้งสิ่งที่เขาเรียกว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในด้านอุปทาน (supply-side structural reform)

“เมื่อนำเอามาพิจารณารวมกันแล้ว ข้อเขียนเหล่านี้คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า สีได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปนั่งในที่นั่งคนขับเพื่อทำหน้าที่นำพาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ในช่วงเวลาที่มีการถกเถียงกันภายในอย่างดุเดือดในหมู่เจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับทิศทางโดยรวมของเศรษฐกิจแดนมังกร” หวัง เซียงเว่ย (Wang Xiangwei) แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (ดูรายละเอียดที่ http://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/1945530/xi-jinpings-supply-side-plan-now-genuine-article) แล้วก็เหมือนกับผู้สังเกตการณ์อื่นๆ จำนวนมาก เขาพูดถึงข้อเขียนบทสัมภาษณ์ในหน้าแรกของเหรินหมินรึเป้าว่า เป็น “การปฏิเสธไม่ยอมรับ” ความพยายามซึ่ง หลี่ หนุนหลังอยู่ ในอันที่จะฟื้นอัตราเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาการเปิดก๊อกปล่อยสินเชื่อ

ทั้งนี้ ในรอบไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนของจีนกลับเข้าสู่เสถียรภาพโดยที่มีการปล่อยสินเชื่อกันในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือ 4.6 ล้านล้านหยวน (ดูที่ https://www.theguardian.com/business/2016/feb/29/chinas-central-bank-attempts-to-boost-economy-with-cash-injection) จึงทำให้บางคนบางฝ่ายตั้งคำถามว่าปักกิ่งมีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะทำการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านต่างๆ อย่างที่ให้คำมั่นไว้หรือไม่ (ดูที่ http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-04-20/china-s-economic-recovery-masking-financial-risks-fitch-says)

นักเฝ้ามองจีนทั้งหลายต่างกำลังตกอยู่ในความฉงนฉงาย เกี่ยวกับวิถีทางอันดูลี้ลับเป็นปริศนา ที่การถกเถียงอภิปรายกันเกี่ยวกับการวางนโยบายในหมู่ผู้นำระดับสูงสุด กลับถูกเผยแพร่ออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ของพรรคเช่นนี้

บางคนตีความข้อเขียนเหล่านี้ว่าเป็นสัญญาณแสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่าง สี กับ หลี่ กำลังขาดสะบั้น และทำนายว่าฝ่ายหลังอาจถูกเปลี่ยนตัวในปีหน้า โดยผู้เข้ามาแทนที่คือ หวัง ฉีซาน หัวเรือใหญ่ผู้ดูแลงานต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ประธานาธิบดีสีอยู่ในเวลานี้

หลักฐานประการหนึ่งที่นักเฝ้ามองจีนฝ่ายนี้หยิบยกขึ้นมาสนับสนุน ก็คือ ความสงสัยซึ่งมีกันอยู่กว้างขวางที่ว่า ข้อเขียนในหน้าแรกของเหรินหมินรึเป้านั้น คือผลงานของ หลิว เหอ นักเศรษฐศาสตร์ผู้จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ด โดยที่ตอนเป็นเด็ก เขาเคยเป็นเพื่อนนักเรียนเข้าโรงเรียนเดียวกันกับ สี เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 และเวลานี้กลายเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของเขา

นักเฝ้ามองจีนคนอื่นๆ เชื่อว่า ข้อเขียนเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่แล้ว หรือไม่ก็เป็นข้อเขียนซึ่งมุ่งเตือนให้พวกเจ้าหน้าที่ระดับมณฑลระลึกเอาไว้ว่า อย่าได้วาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งมีขนาดขอบเขตใหญ่โตมโหฬาร –ทำนองกับที่ออกมาระหว่างเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกในปี 2009

“ข้อเท็จจริงอันสำคัญมากที่ว่าเรื่องนี้ถูกนำออกเผยแพร่ทางเหรินหมินรึเป้า ทำให้พวกเราทั้งหมดล้วนแต่กำลังขบคิดว่า ‘อะไรกำลังจะเกิดขึ้น?’” เฟรเซอร์ ฮาววี (Fraser Howie) กล่าว เขาเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Red Capitalism: the fragile financial foundation of China’s extraordinary rise”

“ใช่ครับ มันเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงบางสิ่งบางอย่าง – ทว่าก็เหมือนอะไรต่างๆ จำนวนมากในประเทศจีน นั่นคือเราไม่อาจมั่นอกมั่นใจได้เต็มร้อยว่ามันกำลังบ่งชี้ถึงอะไรกันแน่ๆ”

ทางด้าน บิลล์ บิช็อป (Bill Bishop) ผู้จัดพิมพ์ “Sinocism” จดหมายข่าวว่าด้วยการเมืองและเศรษฐกิจของจีน กล่าวยอมรับว่าเขากำลังสาละวนวุ่นวายอยู่กับการคลี่คลายทำความเข้าใจ “ข่าวลือการคาดเดาบ้าๆ” เหล่านี้ “เราทั้งหมดต่างต้องเริ่มต้นทำการบริหารกล้ามเนื้อ ‘ปักกิ่งวิทยา’ (Pekingology การศึกษาพฤติกรรมของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน) ของพวกเราซึ่งได้ฝ่อลีบไปหมดแล้ว เพื่อคิดให้ออกทำความเข้าใจให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร”

บิช็อปบอกว่า ภาพจำลองสถานการณ์ประการหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ หลี่ จะถูกริบบทบาทด้านการดูแลกิจการทางเศรษฐกิจ ณ การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ในปีหน้า และถูกแทนที่โดย หวัง ฉีซาน ในความพยายามของ สี ที่จะผลักดันเดินหน้าการปฏิรูปต่างๆ ทางเศรษฐกิจซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดทว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำ

“พิจารณาจากทัศนะมุมมองในเรื่องการปฏิรูปแล้ว หวังมีชื่อเสียงเกียรติคุณอย่างยิ่งใหญ่ในเรื่องเช่นนี้ และในหลายๆ มุมแล้วเขาจะเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างมากมายยิ่งกว่า เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ภายในระบบราชการของจีนด้วยกัน แน่นอนทีเดียวว่าคนจะต้องรู้สึกกลัวเกรงเขา”

ระหว่างการออกตรวจเยี่ยมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา สีได้ย้ำยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาในเรื่องการปฏิรูป “ถ้าหากเราลังเลไม่ทำการตัดสินใจ และทำอะไรต่างๆ แบบครึ่งๆ กลางๆ เราก็จะสูญเสียโอกาสอันหาได้ยากนี้” สี กล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของซินหวา สำนักข่าวของทางการจีน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2016-05/26/c_135388358.htm)

ฮาววีบอกว่า เขาไม่ได้มองการสู้รบปรบมือว่าด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจคราวนี้ ในลักษณะของการแข่งขันชกมวย ซึ่งฝ่ายแดงกับฝ่ายน้ำเงินต่างแลกหมัดเข้าใส่กัน หากแต่มองในลักษณะเป็นเหมือนไฟป่าที่กำลังลุกลามดุเดือด แล้วตำรวจกับพนักงานดับเพลิงกำลังพยายามจับผิดซึ่งกันและกัน ขณะที่พวกเขาพยายามใช้เทคนิคที่แตกต่างกันในการดับเปลวเพลิงแห่งภาวะการซึมเซาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ

“มันเป็นการใช้ความอุตสาหพยายามอย่างไม่สอดคล้องกันอย่างนี้มากกว่า พวกเขาทั้งหมดต่างเข้าใจดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผมเพียงแต่ไม่คิดว่าพวกเขามีความตระหนักซาบซึ้งอย่างเต็มที่ในเรื่องการร่วมมือประสานงานกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากจะแก้ไขปัญหาให้ได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินผู้นี้แสดงความคิดเห็น

ฮาววีบอกว่า หลี่คงไม่สามารถเกิดความตื่นเต้นพอใจได้หรอก เมื่อเห็นนโยบายต่างๆ ของเขากำลังถูกโยนทิ้งลงถังขยะอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งต่อสาธารณชนเหลือเกินด้วยฝีมือทีมงานของประธานาธิบดีเช่นนี้ “เห็นได้ชัด ... (สี) กำลังพูดว่า ‘สิ่งที่ทำกันอยู่ก่อนหน้านี้ มันใช้ไม่ได้ผล เราไม่สามารถจะทำมันต่อไปได้’ นี่ย่อมยากที่จะปลุกเร้าให้เกิดแรงสนับสนุน หลี่ เค่อเฉียง และสิ่งที่ได้ทำกันอยู่ก่อนหน้านี้”

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธแนวความคิดที่ว่า บุรุษผู้ทรงอำนาจที่สุดของจีนทั้ง 2 คนนี้กำลังเกิดความแตกร้าวอาฆาตพยาบาทกันในลักษณะของ โทนี่ แบลร์ กับ กอร์ดอน บราวน์ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ “ผมไม่เชื่อมั่นมันจะเผ็ดร้อน หรือเปิดเผย หรือทะเลาะกันหนักหน่วงถึงขนาดนั้น” เขากล่าว

บิช็อปก็บอกว่า เขาเชื่อเช่นกันว่าคณะผู้นำสูงสุดของจีนมีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องเศรษฐกิจ มากยิ่งกว่าที่พวกผู้สังเกตการณ์ภายนอกจำนวนมากจะยอมรับกัน

“ความคิดที่ว่าคณะผู้นำจีนไม่เข้าใจว่าปัญหาเลวร้ายถึงขนาดไหน และที่ว่าพวกผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมีไอเดียดีกว่าเยอะว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในระบบของจีนนั้น ผมว่า ความคิดแบบนี้มันไร้สาระ ผมคิดว่าพวกเขามีความชัดเจนมากๆ ว่าปัญหากำลังเลวร้ายถึงขนาดไหน”

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เรื่องเล่าข่าวลือคราวนี้ก็ตอกย้ำให้เห็นว่า ภายใต้ระบบของสี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนเหล็กผู้รวมศูนย์อำนาจมาไว้ในมือ จนได้รับฉายาว่า “ท่านประธานของทุกสิ่งทุกอย่าง” (Chairman of Everything) นั้น ปรากฎว่าระบบการเมืองของจีนที่เต็มไปด้วยความลี้ลับอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว กลับกำลังยิ่งคลุมเครือเพิ่มมากขึ้นอีก

“ข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเรากำลังต้องมาคาดเดาเรื่องเหล่านี้กันอยู่ ต้องถือว่าเป็นเรื่องพิเศษเอามากๆ เพราะพูดกันตรงๆ ก็คือไม่มีใครเลยสักคนที่คิดออกว่าเกิดอะไรขึ้น” บิช็อป กล่าว “ผมยังกล้ารับประกันกับพวกคุณด้วยซ้ำว่า คนส่วนใหญ่ในระดับสูงสุดของรัฐบาลจีนก็อาจจะคิดไม่ออกเหมือนกันว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นมา”

(รายงานข่าวจากปักกิ่ง ของ ทอม ฟิลลิปส์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน)


กำลังโหลดความคิดเห็น