xs
xsm
sm
md
lg

เตหะรานกล่าวโทษ ‘ซาอุฯ’ ขัดขวางสร้างอุปสรรค ทำให้ชาวอิหร่านไม่ได้ไป ‘เมกกะ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - อิหร่านแถลงในวันนี้ (29 พ.ค.) ว่า ผู้จาริกแสวงบุญของประเทศตนจะต้องพลาดโอกาสไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะในปีนี้ เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม กำลังตั้งกำแพงสร้างอุปสรรคต่างๆ ซึ่งก็คือ “กำลังขวางกั้นเส้นทางที่นำไปสู่อัลเลาะห์” ของผู้ศรัทธาในพระองค์

องค์การฮัจญ์ของอิหร่านระบุในคำแถลงว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังต่อต้านคัดค้านสิทธิสูงสุดของชาวอิหร่านที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยที่ริยาดไม่ยอมตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเตหะราน ในเรื่อง “ความปลอดภัยและการได้รับความเคารพ” ของผู้แสวงบุญชาวอิหร่านที่จะเดินทางไปยังเมืองเมกกะ

รัฐมนตรีวัฒนธรรมของอิหร่าน อาลี จันนาตี ระบุว่า หลังจากอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียเปิดการเจรจากันมาแล้ว 2 ระลอกก็ไม่บังเกิดผลอะไรขึ้นมา เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาโดยฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจึงจะไม่สามารถไปประกอบพิธีฮัจญ์ในเดือนกันยายนนี้ได้

ก่อนหน้านี้ พวกเจ้าหน้าที่ซาอุดีเคยระบุว่า คณะผู้แทนอิหร่านได้ยุติการเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อวันศุกร์ (27) โดยไม่สามารถทำความตกลงกันในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ผู้แสวงบุญจากอิหร่านสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้

กระทรวงฮัจญ์ของซาอุดีอาระเบียบอกว่า ได้เสนอ “หนทางออกจำนวนมาก” เพื่อที่จะบรรลุข้อเรียกร้องชุดใหญ่ของฝ่ายอิหร่านในระหว่างเวลา 2 วันของการเจรจากัน และทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้แล้วในบางด้าน เป็นต้นว่า เห็นพ้องต้องกันให้ใช้วีซ่าแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้แสวงบุญชาวอิหร่านสามารถสั่งพิมพ์ออกมาได้เอง สืบเนื่องจากสำนักงานทางการทูตทั้งหลายของซาอุดีอาระเบียในอิหร่านยังคงปิดทำการอยู่

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็หมายความว่าปีนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่จะไม่มีผู้แสวงบุญชาวอิหร่านไปทำพิธีฮัจญ์ โดยที่องค์การฮัจญ์อิหร่านให้ตัวเลขเอาไว้ว่า ในปีที่แล้วมีชาวอิหร่าน 60,000 คนทีเดียวที่เดินทางไปประกอบพิธีดังกล่าว

ความผูกพันระหว่างริยาดกับเตหะรานอยู่ในสภาพย่ำแย่หนักหน่วงมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว หลังเกิดเหตุมีผู้ถูกสังหารไปกว่า 400 รายในเมืองเมกกะ เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างผู้แสวงบุญชาวอิหร่านกับกองกำลังรักษาความมั่นคงของซาอุดีในปี 1987

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ภายหลังพวกผู้เดินขบวนชาวอิหร่านได้จุดไฟเผาสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลอีกแห่งหนึ่งของซาอุดีอาระเบียซึ่งตั้งอยู่ในอิหร่าน หลังจากที่ซาอุดีได้ทำการประหารชีวิตนักการศาสนานิกายชีอะห์คนสำคัญคนหนึ่ง

อิหร่านซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ และซาอุดีอาระเบียที่ประชากรส่วนข้างมากเป็นชาวสุหนี่ ยังกำลังขัดแย้งกันในประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการสู้รบในซีเรียและเยเมน ซึ่งแต่ละฝ่ายให้การสนับสนุนฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กันอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น