xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: เอเชียแปซิฟิกสะเทือน!! ปักกิ่งส่ง"เรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์" เข้าแปซิฟิกเป็นครั้งแรก อ้างยันระบบ Thaad ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ถือเป็นครั้งแรกสำหรับปักกิ่งในการตัดสินใจส่งเรือดำน้ำติดหัวรบมิสไซล์นิวเคลียร์เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ที่เข้าใจว่าเพื่อส่งมาประจำแล่นตรวจการณ์ในเขตน่านน้ำบริเวณขัดแย้ง เช่น ทะเลจีนใต้ ซึ่งทางปักกิ่งอ้างทำไปเพราะถูกสหรัฐฯบีบจากการคุกคามระบบป้องกันภัยทางอากาศ Thaad ในเกาหลีใต้ ในขณะที่กับประจวบเหมาะที่เวียดนามได้ไฟเขียว ถูกอเมริกายกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธ

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(26 พ.ค)โดยอ้างจากแหล่งข่าวในกองทัพปลดแอกประชาชนจีนระบุว่า ทางปักกิ่งมีแผนส่งเรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ามหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก ซึ่งทางปักกิ่งอ้างว่า เป็นความจำเป็นที่ไม่มีทางเลือก เนื่องจากจีนถูกสหรัฐฯล้อมกรอบด้วยการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทรงอานุภาพ Thaad (The anti-ballistic interceptors) ขึ้นในเกาหลีใต้ ที่ทั้งปักกิ่งและมอสโกต่างชี้ว่า เป็นเสมือนภัยคุกคามประเทศ

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนเวียดนามล่าสุดในต้นสัปดาห์นี้ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา อเมริกายังประกาศยกเลิกคว่ำบาตรห้ามค้าอาวุธกับเวียดนามประเทศที่ถือเป็นคู่กรณีกับจีนในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งฟ็อกซ์นิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ถึงแม้ทางเจ้าหน้าที่จีนจะออกมากล่าวชื่นชมต่อความก้าวหน้าในการที่สหรัฐฯยอมยกเลิกคว่ำบาตรเวียดนาม แต่กระนั้นกระบอกเสียงรัฐบาลปักกิ่งได้ส่งเสียงเตือนผ่านหน้าแสดงความคิดเห็นว่า การกระทำของโอบามาและสหรัฐฯเป็นเสมือนสั่นสะเทือนความมั่นคงของภูมิภาค และอาจนำเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างหาที่สุดไม่ได้

อย่างไรก็ตามในการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวกองทัพปลดแอกประชาชนจีนต่อเดอะการ์เดียน แหล่งข่าวไม่ยอมเปิดเผยถึงกำหนดเวลาที่เรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์จะถูกส่งเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อทำการลาดตระเวนเมื่อใด แต่แหล่งข่าวยังคงยืนกรานว่าแผนการนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทางด้านการทหารจีนที่มีจำนวนมากกว่า 1 คนได้ให้ข้อมูลต่อสื่ออังกฤษว่า ยุทธวิธีตอบโต้ของปักกิ่งเกิดขึ้นจากการที่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ทำการติดตั้งระบบป้องกันภัยขีปนาวุธแบบบอลลิสติก Thaad ในเกาหลีใต้ รวมไปถึงการมีมิสไซล์ระบบไฮเปอร์โซนิค(hypersonic glide missile)ของอเมริกาที่ทรงอานุภาพ สามารถโจมตีจีนได้สำเร็จภายในไม่ถึงชั่วโมงหลังจากที่ได้ออกคำสั่งยิงไปแล้ว ซึ่งจะถือเป็นภัยคุกคามอย่างหนักต่อการต่อต้านกำลังทางภาคพื้นของปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง

เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า จากการรายงานล่าสุดของเพนตากอนต่อรัฐสภาคองเกรสสหรัฐฯ ทางเพนตากอนได้ประเมินว่า “มีความเป็นไปได้สูงว่าทางปักกิ่งจะทำการทดสอบการเดินตรวจการณ์ของระบบต่อต้านด้วยอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปี 2016” แต่สื่ออังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า มีรายงานทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกันในอดีต

สื่ออังกฤษชี้ต่อว่า ทางปักกิ่งได้เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเรือดำน้ำที่มีระบบขีปนาวุธแบบบอลลิสติกนานกว่า 30 ปี แต่การนำมาใช้การจริงนั้นถูกเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลต่างๆนานาเป็นต้นว่า ปัญหาด้านเทคโนโลยี ด้านระดับนโยบาย และความขัดแย้งภายใน

แต่มาถึงปัจจุบันนี้ ปักกิ่งได้ประกาศใช้นโยบายการป้องกันทางทหารแบบระวังภัย ที่ถึงแม้ทางปักกิ่งจะอ้างว่า จะไม่มีวันตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการตัดสินปัญหารบเป็นทางเลือกแรกโดยเด็ดขาด และรวมไปถึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้เก็บหัวรบนิวเคลียร์และจรวดมิสไซล์ไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งการควบคุมทั้งหัวรบและจรวดมิสไซล์นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของผู้นำการรบระดับสูงเท่านั้น

ดังนั้น การใช้หัวรบนิวเคลียร์และจรวดมิสไซล์จึงเป็นสิ่งที่ยากลำบากและซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนชี้ว่า หัวรบนิวเคลียร์และจรวดมิสไซล์จะถูกประกอบเข้าด้วยกัน และส่งต่อไปยังกองทัพเรือ ที่ช่วยให้อาวุธนิวเคลียร์ถูกยิงออกไปเร็วมากยิ่งขึ้นหากมีคำสั่งออกมา ซึ่งการประกาศเดินหน้าตรวจการณ์ของปักกิ่งด้วยเรือดำน้ำติดมิสไซล์นิวเคลียร์ยิ่งจะเร่งทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีปัญหาด้านเสถียรภาพหนักมากยิ่งขึ้น ต่อความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมก่อนแล้วซึ่งมีผู้เล่นหลักคือสหรัฐฯในทะเลจีนใต้

โดยพบว่าวันอังคาร(18 พ.ค)ก่อนหน้านี้ เกิดการประจันหน้าขึ้นระหว่างเครื่องบินรบสอดแนมสหรัฐฯ 1 ลำ กับฝูงเครื่องบินขับไล่จีน 2 ลำที่บินเฉียดในลักษณะเกือบเฉี่ยวชนในรัศมี 50 ไมล์ของเกาะไห่หนาน(Hainan island) ฐานจอดของเรือดำน้ำปักกิ่งที่มีระบบมิสไซล์ติดตั้งคลาสจินจำนวน 4 ลำ ซึ่งเรือดำน้ำลำที่ 5 มีข่าวว่ากำลังอยู่ในระหว่างการต่อ

โดยทางเพนตากอนชี้ว่า เป็นการอินเทอร์เซฟที่ไม่เหมาะสม และทำให้ทางปักกิ่งออกมาตอบโต้ จากการรายงานของฟ็อกซ์นิวส์ ประกาศสั่งให้สหรัฐฯทำการยุติการตรวจการณ์รอบทะเลจีนใต้เสีย ซึ่งกระบอกเสียงจากกระทรวงการต่างประเทศจีนอ้างเหตุผลที่ว่า “การตรวจการณ์เช่นนี้เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางทะเลของปักกิ่ง”

ด้าน รองศาสตราจารย์วู ริเจียง (Wu Riqiang) ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน( Renmin) ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า กองกำลังทางทะเลของทั้ง 2 ชาตินั้นต่างเคลื่อนตัวเข้าใกล้กันมากขึ้นใกล้กับเกาะพิพาทในบริเวณเดียวกัน และย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดการปะทะในปฎิบัติการเรือดำน้ำแมวจับหนู

“เพราะเหตุที่ว่าเรือดำน้ำติดหัวรบนิวเคลียร์ของจีน SSBNs อยู่ในทะเลจีนใต้ และทำให้ทางกองทัพเรือสหรัฐฯต้องส่งเรือสอดแนมเข้าไปที่นั่นด้วยเช่นกัน เพื่อให้เข้าใกล้ SSBNs ในการหาข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกองทัพเรือจีนไม่ชอบใจเป็นอย่างยิ่ง และจะทำการออกคำสั่งผลักดันออกไป” วูชี้

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ท่ามกลางความกังวลถึงระบบ ป้องกันภัยทางอากาศ Thaad ของสหรัฐฯ ทางกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้นตระหนักดีถึง ***จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ในความครอบครองในขณะนี้ว่า มีน้อยกว่ามาก*** (ซึ่งสื่ออังกฤษประเมินว่าทางจีนมีหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดจำนวน 260 หัวรบ เทียบกับสหรัฐฯและรัสเซียที่ต่างมีอยู่ในความครอบครองจำนวนราว 7,000 หัวรบ”) และส่วนใหญ่ยังเป็นประเภทสำหรับมิสไซล์ระบบภาคพื้น ซึ่งจากสิ่งนี้ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนอย่างร้ายแรง หากเกิดถูกโจมตีขึ้นมาจากทั้งอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาวุธแบบ “conventional weapons” ของข้าศึก

และยังพบต่อว่า ระบบต่อต้านภัยขีปนาวุธทางอากาศของสหรัฐฯยังไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทางปักกิ่งกังวล เดอะการ์เดียนวิเคราะห์ เพราะทางจีนยังต้องเผชิญหน้ากับเทคโลโลยีทางทหารสุดล้ำของเพนตากอน เป็นต้นว่า จรวดมิสไซล์แบบใหม่ภายใต้ระบบไฮเปอร์โซนิค(hypersonic glide missile) ที่ถูกพัฒนาในโครงการ “US Prompt Global Strike” ที่มิสไซล์นำวิถีประเภทนี้มีเทคโนโลยีสามารถทำลายเป้าหมายด้วยความแม่นยำในจุดใดก็ตามของโลกใบนี้ภายในแค่ 1 ชม.เท่านั้นหลังจากที่ถูกยิงออกไปแล้ว

ซึ่งเดอะการ์เดียนรายงานว่า ในฝั่งจีน ทางกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้พัฒนาเทคโลโลยีอาวุธมิสไซล์นี้ด้วยเช่นกัน แต่ทว่าทางเจ้าหน้าที่ในกรุงปักกิ่งเกรงว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มีในคลังแสงของทางจีนจะมีจำนวนน้อยเกินไปที่อาจคาดว่า จะถูกทำลายได้ในเพียงชั่วพริบตาด้วยระบบป้องกันภัยขีปนาวุธระยะกลางทางอากาศของสหรัฐฯที่มีคำสั่งยิงออกมาเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

และเป็นเพราะปราศจากความสามารถในการตอบโต้กับ “second strike” ทางจีนจะไม่มีหนทางปกป้องตัวเองได้เลย ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญจีน วู ชี้ว่า ทางจีนยังไม่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีการรบมากพอที่จะสามารถนำมาใช้จริงในสมรภูมิรบได้ ซึ่งเรือดำน้ำคลาสจินของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่มีชื่อเรียกทางการทหารว่า Type 094 นั้น “เสียงดังเกินไป และสามารถถูกตรวจพบได้ง่ายจากกองเรือดำน้ำจู่โจมของสหรัฐฯ” และผู้เชี่ยวชาญทางความมั่นคงต่างประเทศทางมหาวิทยาลัยเหรินหมินยังชี้ต่อว่า จากการรายงานของสื่อข่าวออนไลน์ mrctv.org ที่ว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความเชื่อที่เป็นไปได้ว่า ทางเรือดำน้ำของปักกิ่งจะมีศักยภาพมากพอสามารถเดินทางไปไกล และกลายเป็นภัยคุกคามชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯได้

“ผมตั้งข้อสังเกตนี้ขึ้นมา เพราะผมเชื่อว่า ระดับเสียงที่เกิดขึ้นจาก Type 094 และการขาดประสบการณ์ของกองทัพเรือจีนในการแล่นฝูงเรือดำน้ำ SSBN ทำให้ผมคิดว่าทางปักกิ่งไม่ควรเสี่ยงนำ Type 094 ออกสู่มหาสมุทรเพื่อทดสอบในการแล่นตรวจการณ์ในอนาคต” วูให้ความเห็น

แต่ทาง mrctv.org วิเคราะห์ว่า อย่างไรก็ตามเรือดำน้ำติดอาวุธหัวรบนิวเคลียร์ของจีนยังคงมีอานุภาพพอที่จะเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้านรอบทะเลจีนใต้ได้

สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง นโยบายทางการทหารของชี้ไปในทางที่ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่ทางกองทัพจะนำระบบต่อต้านด้วยอาวุธนิวเคลียร์ลงพื้นที่จริง ซึ่งที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ทางปักกิ่งได้ทำการติดตั้งระบบยิงหัวรบแบบมัลติเปิล(multiple warhead)ในจรวดมิสไซล์ของตัวเอง ที่ส่งผลทำให้จากความเห็นของเดอะการ์เดียน เกาหลีเหนือมีปฎิกริยาเคลื่อนไหว

ในขณะเดียวกันฟ็อกซ์นิวส์ชี้ว่า ในวันจันทร์(23 พ.ค)ที่ผ่านมา รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รีย์ ได้ออกแถลงการณ์ประณามจีนถึงบทบาทในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกว่า เป็นเสมือนการราดน้ำมันเบนซินเข้าสู่กองไฟที่กำลังก่อตัวให้ลุกลามมากยิ่งขึ้น “ผมขอเตือนไม่ให้จีนดำเนินการใดๆในการข้องเกี่ยวกับการอ้างสิทธิครอบครอง และกิจกรรมทางทหารในพื้นที่เกาะพิพาท” จากที่ผ่านมาทางเพนตากอนได้ระบุว่า จีนได้ประกาศครอบครองพื้นที่มากกว่า 3,200 เอเคอร์ในทะเลจีนใต้ และเร่งสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารบนเกาะที่ถมทะเลสร้างใหม่









กำลังโหลดความคิดเห็น