xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กทหารแดนมังกรเรียกร้องจีน-สหรัฐฯจัดการข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: รอยเตอร์/เอเจนซีส์/เอเชียไทมส์

China,US should manage South China Sea differences constructively: Chinese general
13/05/2016

ไม่กี่วันหลังจากสหรัฐฯส่งเรือพิฆาตแล่นเฉียดใกล้เกาะเทียมที่แดนมังกรถมทะเลสร้างขึ้นมาในทะเลจีนใต้ โดยที่ปักกิ่งส่งเครื่องบินขับไล่และเรือรบออกติดตามกระชั้นชิด นายทหารระดับสูงสุดคนหนึ่งของแดนมังกร ก็ได้พูดระหว่างสนทนาหารือกับประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯว่า จีนกับสหรัฐฯควรที่จะบริหารจัดการกับความแตกต่างกันที่มีอยู่ในเรื่องน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วยความสร้างสรรค์

พล.อ.ฟาง เฟิงฮุ่ย (Fang Fenghui) สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน (China's Central Military
Commission) ซึ่งเป็นองค์กรทำหน้าที่บังคับบัญชาและควบคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีน บอกกับ พล.อ. โจเซฟ ดันฟอร์ด (Joseph Dunford) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ที่เป็นนายทหารตำแหน่งสูงที่สุดของกองทัพอเมริกัน ว่าทั้งสองฝ่ายควร “ระงับการกระทำต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง และระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย” สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานเอาไว้เช่นนี้เมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.) ที่ผ่านมา

ซินหวาบอกว่า ฟาง กับ ดันฟอร์ด ได้พูดจากันในเรื่องทะเลจีนใต้ผ่านการประชุมต่อเชื่อมทางไกลในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.)

การสนทนาหารือกันคราวนี้บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯกำลังเขม็งเกลียว โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่ากำลังสร้างแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้จีนได้ดำเนินการถมทะเลและทำการก่อสร้างขนาดใหญ่ในบริเวณน่านน้ำที่พิพาทช่วงชิงกับประเทศอื่นๆ อยู่ ขณะที่สหรัฐฯก็ได้เพิ่มการส่งเรือรบและเครื่องบินทหารออกตรวจการณ์ ตลอดจนเพิ่มการฝึกซ้อมทางการทหารในอาณาบริเวณนี้

เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) ที่ผ่านมา จีนได้ส่งเครื่องบินขับไล่ตลอดจนเรือรบออกติดตาม ขณะที่เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ แล่นเข้าไปใกล้แนวปะการังที่เกิดการพิพาทช่วงชิงกันแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ ปักกิ่งได้ประณามการออกตรวจการณ์ของเรือรบอเมริกันเช่นนี้ว่าเป็นการคุกคามอย่างผิดกฎหมายต่อสันติภาพ

ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแถลงว่า นี่เป็นการปฏิบัติการเพื่อสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ครั้งล่าสุด ซึ่งอเมริกากระทำเพื่อ “แสดงการท้าทายข้ออ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลอย่างเกินเลย” ของจีน, ไต้หวัน, และเวียดนาม ที่สหรัฐฯเห็นว่าจะเป็นการแสวงหาทางจำกัดสิทธิการเดินเรือในทะเลจีนใต้

จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมด ขณะที่ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน, และบรูไน ก็อ้างกรรมสิทธิ์ในบางบริเวณ ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนกับการอ้างของจีน

ตามรายงานของซินหวาในตอนเช้าวันศุกร์ (13 พ.ค.) ฟางกล่าวระหว่างพูดกับดันฟอร์ดว่า เป็นการไม่ถูกต้องที่จะประณามจีนสำหรับความตึงเครียดต่างๆ ที่มีอยู่กับสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ และเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้ “คำนึงถึงสถานการณ์โดยรวม และบริหารจัดการความแตกต่างกันของพวกเขาในหนทางที่สร้างสรรค์”

สำนักข่าวของทางการจีนแห่งนี้ยังได้อ้างคำพูดของดันฟอร์ด ซึ่งเรียกร้องให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจในทะเลจีนใต้ และกล่าวว่าสหรัฐฯมีความปรารถนาที่จะทำงานกับจีนเพื่อจัดตั้ง “กลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความเสี่ยง เพื่อให้สามารถธำรงรักษาเสถียรภาพในทะเลจีนใต้เอาไว้ได้โดยใช้วิธีการสันติ”

เครื่องบินขับไล่และเรือรบจีนออกติดตามเรือพิฆาตสหรัฐฯ

ในเหตุการณ์ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างเครื่องบินทหารและเรือรบของทั้งสองฝ่ายครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) ที่ผ่านมา โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) บิลล์ เออร์บัน (Bill Urban) แถลงว่า ยูเอสเอส วิลเลียม พี. ลอว์เรนซ์ (William P. Lawrence) เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าไปภายในเขต 12 ไมล์ทะเลห่างจากแนวปะการังไฟเออรี ครอสส์ (Fiery Cross Reef) ซึ่งจีนยึดครองอยู่

โฆษกผู้นี้ระบุว่า การปฏิบัติการคราวนี้ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพทางการเดินเรืออีกครั้งหนึ่งของสหรัฐฯนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะ “ท้าทายข้ออ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลอย่างเกินเลย” ของจีน, ไต้หวัน, และเวียดนาม ที่จะเป็นการแสวงหาทางจำกัดสิทธิการเดินเรือในทะเลจีนใต้

“ข้ออ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลอย่างเกินเลยเหล่านี้ ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศดังที่สะท้อนให้เห็นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ในแง่ที่ว่าพวกเขามีความตั้งใจที่จะจำกัดสิทธิในการเดินเรือ อันเป็นสิทธิซึ่งสหรัฐฯและทุกๆ รัฐย่อมสามารถที่จะอ้างใช้สิทธิได้” เออร์บันระบุในคำแถลงที่เผยแพร่ทางอีเมล

ถึงแม้สหรัฐฯบอกว่าการส่งเรือรบเฉียดใกล้ไฟเออรี ครอส์ เป็นการท้าทายการกล่าวอ้างสิทธิทั้งของจีน, ไต้หวัน, และเวียดนาม แต่ขณะนี้จีนคือผู้ครอบครองแนวปะการังนี้อยู่ และได้ดำเนินการถมทะเลตลอดจนก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งสนามบินที่มีรันเวย์ยาว 3,000 เมตร โดยที่วอชิงตันบอกว่า ตนเองเป็นห่วงว่าจีนจะใช้การดำเนินการเช่นนี้เพื่อผลักด้านการขยายดินแดนตามข้ออ้างของตนเอง และพวกคู่แข่งซึ่งอ่อนแอกว่าจีนจะต้องเป็นฝ่ายสูญเสีย

ทางด้านกระทรวงกลาโหมจีนแถลงว่า เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) เครื่องบินขับไล่ 2 ลำของจีนได้เร่งทะยานขึ้นฟ้า พร้อมกับที่เรือรบจีนอีก 3 ลำก็คอยติดตามความเคลื่อนไหวของเรือพิฆาตอเมริกัน และบอกให้เรือรบสหรัฐฯถอยออกไป

การที่สหรัฐฯดำเนินการตรวจการณ์ลาดตระเวนเช่นนี้ “เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการป้องกันต่างๆ ขึ้นบนแนวปะการังที่เกี่ยวข้องในหมู่เกาะหนานซา (Nansha Islands) นั้น เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลและมีความจำเป็นอย่างเต็มที่” กระทรวงกลาโหมจีนระบุ โดยที่ “หนานซา” คือชื่อที่จีนใช้เรียกหมู่เกาะซึ่งโลกตะวันตกตั้งนามว่า “สแปรตลีย์”

ทางด้าน หลู่ คัง (Lu Kang) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาแถลงสำทับว่า เรือรบสหรัฐฯลำนี้แล่นเข้าไปภายในน่านน้ำของจีนอย่างผิดกฎหมาย

“การกระทำนี้ของฝ่ายสหรัฐฯเป็นการคุกคามอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน ก่อให้เกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่และสิ่งปลูกสร้างๆ บนแนวปะการัง และสร้างความเสียหายให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค” โฆษกผู้นี้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันตามวาระ

สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ได้บอกปัดไม่ให้ความสำคัญกับคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามว่า การปฏิบัติการของเรือพิฆาตสหรัฐฯคราวนี้ ใช่หรือไม่ว่าวอชิงตันมีจุดมุ่งหมายที่จะ “ส่งข้อความ” ก่อนหน้าการเดินทางเยือนเอเชียของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเดือนนี้

“นี่ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์อันคมกริบที่คำนวณกันเอาไว้แล้วว่าจะต้องทำอะไร หากแต่เป็นการดำเนินกระบวนการตามปกติของการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือเท่านั้น” เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวระหว่างที่เขาอยู่ในกรุงลอนดอน

“ไฟเออรี ครอสส์” คือพื้นที่อ่อนไหว

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพนตากอนได้เรียกร้องจีนให้ออกมายืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าไม่ได้มีแผนการใดๆ ที่จะนำเอาเครื่องบินทหารเข้าไปประจำการในหมู่เกาะสแปรตลีย์ หลังจากที่แดนมังกรใช้เครื่องบินขนส่งทางทหารลำหนึ่งในการลำเลียงคนงานที่เจ็บป่วยผู้หนึ่งออกจากไฟเออรี ครอสส์

“ไฟเออรี ครอสส์ เป็นพื้นที่อ่อนไหว เพราะมีการสันนิษฐานกันว่าในอนาคตมันจะกลายเป็นศูนย์ปฏิบัติการทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานอันกว้างขวางครอบคลุมซึ่งถูกสร้างขึ้นที่นั่นเรียบร้อยแล้ว เป็นต้นว่า ท่าเรือที่ทั้งมีขนาดใหญ่และทั้งลึก และรันเวย์สนามบินที่ยาว 3,000 เมตร” เอียน สตอรีย์ (Ian Storey) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลจีนใต้ ของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูโซฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof Ishak Institute) ในสิงคโปร์ ระบุ

เขาบอกด้วยว่า ช่วงจังหวะเวลาที่เกิดการปฏิบัติการคราวนี้ก็ถือว่าน่าสนใจมากเช่นกัน เพราะเป็นการประกาศให้เห็นความเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังของสหรัฐฯ ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเดินทางมาเยือนเวียดนาม

แดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (assistant secretary of state for East Asia and the Pacific) ซึ่งกำลังอยู่ที่เวียดนาม บอกว่าการปฏิบัติการเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับพวกชาติเล็กๆ

“ถ้ากองทัพเรือที่มีแสนยานุภาพเกรียงไกรที่สุดของโลก ไม่สามารถเดินเรือไปยังสถานที่ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้กระทำได้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับเรือของกองทัพเรือของพวกประเทศขนาดเล็กกว่า" รัสเซลกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนที่จะมีการรายงานข่าวต่อสาธารณชน เกี่ยวกับการปฏิบัติการของเรือพิฆาต วิลเลียม พี. ลอว์เรนซ์

เท่าที่ผ่านมา จีนแสดงปฏิกิริยาอันโกรธเกรี้ยวต่อการปฏิบัติการเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯคราวก่อนๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เป็นต้นว่า การส่งเครื่องบินขับไล่บินไปใกล้เกาะปะการังสคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ซึ่งจีนพิพาทช่วงชิงอยู่กับฟิลิปปินส์เมื่อเดือนที่แล้ว , การที่เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลของสหรัฐฯบินเฉียดสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของจีนที่กำลังสร้างขึ้นบนแนวปะการัง คัวร์เตอรอน (Cuarteron Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

พวกเจ้าหน้าที่ทหารเรือสหรัฐฯเชื่อว่า จีนมีแผนการที่จะเริ่มต้นกิจกรรมถมทะเลและก่อสร้างบนสคาร์โบโร โชล ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากตอนเหนือของหมู่เกาะสแปรตลีย์ และอยู่ภายในพื้นที่ห่างชายฝั่งไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลซึ่งฟิลิปปินส์ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive
economic zone) ของตน


กำลังโหลดความคิดเห็น