xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้เจรจานิวเคลียร์โสมแดง “คัง ซ็อกจู” เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 76 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คัง ซ็อก จู (ซ้าย) และอดีตผู้นำ คิม จอง อิล แห่งเกาหลีเหนือ
เอเอฟพี - อดีตผู้เจรจานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งเคยต่อรองกับสหรัฐฯ จนสามารถยับยั้งแผนโจมตีโรงงานนิวเคลียร์โสมแดงได้สำเร็จเมื่อปี 1994 ได้เสียชีวิตลงแล้ว รัฐบาลเปียงยางแถลงวันนี้ (21 พ.ค.)

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของเกาหลีเหนือรายงานว่า คัง ซ็อก จู ซึ่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และสมาชิกคนสำคัญของพรรคแรงงานเกาหลี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวานนี้ (20) ขณะมีอายุได้ 76 ปี

สมัยที่ คัง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ จนนำมาสู่ “กรอบความตกลง” ในปี 1994 ซึ่งเกาหลีเหนือยอมที่จะระงับกิจกรรมที่โรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน (Yongbyon) เพื่อแลกกับการที่กลุ่มบริษัทนานาชาติจะเข้ามาช่วยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ที่ไม่สามารถปรับไปใช้ประโยชน์ในด้านการทหารได้

“สหาย คัง ซ็อกจู เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำวิทยปัญญาทางการทูตและคำแนะนำของท่านจอมพลไปใช้ และยังเป็นผู้นำการต่อต้านสหรัฐฯ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเปิดฉากขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990” เคซีเอ็นเอระบุ

“ท่านจอมพล” ในที่นี้หมายถึงอดีตผู้นำ คิม จองอิล ซึ่งปกครองเกาหลีเหนือในช่วงที่มีการทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ และเป็นบิดาของผู้นำคิม จองอึน

ข้อตกลงปี 1994 ถูกมองว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยชะลอโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือให้พัฒนาล่าช้าไปเกือบ 10 ปี ทว่าข้อตกลงนี้ก็พังครืนลงในปี 2003 หลังจากที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 หลังจากนั้นก็มีการทดสอบตามมาอีกถึง 3 ครั้ง ล่าสุดคือครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ปีนี้ ซึ่งทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องสั่งลงโทษเกาหลีเหนือด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม

โรเบิร์ต กัลลุชชี ผู้แทนเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ เผยกับสื่อมวลชนว่า ระหว่างพูดคุยกันที่นครเจนีวาก่อนจะมีการบรรลุข้อตกลงเมื่อปี 1994 คัง ได้เตือนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือจะถือว่าคำสั่งคว่ำบาตรของยูเอ็นเป็น “การประกาศสงคราม”

คำขู่ของ คัง ทำให้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้กองทัพเตรียมแผนตอบโต้ในกรณีที่เกาหลีเหนือใช้กำลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการส่งเครื่องบินไปโจมตีทางอากาศถล่มโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเปียงยางไปทางเหนือเพียง 90 กิโลเมตร

ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดถึงขีดสุด เปียงยางก็แสดงท่าทีประนีประนอม โดยเสนอว่าจะยอมระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดที่ยองบยอน โดยขอแลกกับเตาปฏิกรณ์น้ำมวลเบา 2 เครื่องที่ติดตั้งระบบป้องกันไม่ให้ถูกปรับไปใช้เพื่อการทหารได้ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ยินยอมจนเกิดเป็นข้อตกลงขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประสบปัญหาล่าช้า และใช้เวลานานหลายปีกว่างานก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังบริเวณชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ

รัฐบาลโสมแดงและสหรัฐฯ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นผู้ฉีกสัญญาก่อน
คัง ซ็อก จู อดีตผู้แทนเจรจานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ (ภาพ: สำนักข่าว Yonhap)

กำลังโหลดความคิดเห็น