รอยเตอร์ - ผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ชาวญี่ปุ่นระบุว่า จะเป็นที่น่ายินดีหากประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะกล่าวขอโทษสำหรับการที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่เมืองฮิโรชิมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือการทำให้โลกนี้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ตลอดไป
โอบามาซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2009 ส่วนหนึ่งจากการที่เขาให้ความสำคัญกับการป้องกันการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ ในวันที่ 27 พฤษภาคมเขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนเมืองฮิโรชิมา สถานที่ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์แห่งแรกของโลกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ก่อนที่เมืองนางาซากิจะถูกทิ้งระเบิดใน 3 วันต่อมา
การเยือนฮิโรชิมาของโอบามาหลังจากเขาเข้าร่วมการประชุมผู้นำจี 7 ในกรุงโตเกียวถูกอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนในทำเนียบขาว ด้วยความกังวลว่ามันจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ หากมันถูกมองว่าเป็นการขอโทษ
ชายญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้สึกว่าการทิ้งระเบิดใส่ฮิโรชิมาและนางาซากิไม่ถูกต้อง ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ระบุว่า การทิ้งระเบิดครั้งนั้นทำให้สงครามสั้นลงและช่วยชีวิตทหารสหรัฐฯ จำนวนมากมาย
ในวันพฤหัสบดี (19) เทรุมิ ทานากะ ชาวเมืองนางาซากิซึ่งเป็นพยานการทิ้งระเบิดตอนอายุ 13 ปีกล่าวว่า จะเป็นที่น่ายินดีหากจะมีการขอโทษสำหรับความผิดดังกล่าว แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับบาดเจ็บแต่เขาก็ยังจำภาพเมืองที่กลายเป็นสีดำและการค้นหาสมาชิกครอบครัวจากกองศพได้
“แน่นอนเราต้องการคำขอโทษแก่ผู้ที่เสียชีวิต แก่ผู้ที่เสียคนรัก แก่พ่อแม่ที่เสียลูก” ทานากะ ซึ่งเป็นประธานองค์กรผู้รอดชีวิตจากระเบิดแห่งชาติบอกในการแถลงข่าว
แต่การยืนกรานเรื่องการขอโทษอาจทำให้สูญเสียเป้าหมายที่แท้จริงที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์ เขากล่าว
“ความรู้สึกแท้จริงของผู้รอดชีวิตคือสิ่งนี้ไม่ควรกลายเป็นอุปสรรคในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไป” เขากล่าว
ระเบิดที่ถูกทิ้งลงฮิโรชิมาคร่าชีวิตคนหลายพันคนในทันที และอีกราว 140,000 คนภายในสิ้นปีนั้น ส่วนในนางาซากิมีผู้เสียชีวิตทันที 27,000 คน และอีก 70,000 คนภายในสิ้นปีเดียวกัน