รอยเตอร์ - “โดนัลด์ ทรัมป์” ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคาร (18 พ.ค.) ระบุ ยินดีจับเข่าคุยตัวต่อตัวกับ “คิม จองอึน” เพื่อหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ ทว่าเขาเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” โดยไม่เห็นด้วยที่รัสเซียเข้าแทรกแซงในยูเครนตะวันออก นอกจากนั้น ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากรีพับลิกันลงสมัครชิงทำเนียบขาว ยังแสดงเจตนารมณ์ต้องการทบทวนข้อตกลง “โลกร้อน”
ทรัมป์ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการทำข้อตกลงกับเปียงยาง บอกแต่ว่า พร้อมพูดคุยกับคิม รวมถึงจะกดดันให้จีน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการทูตและเศรษฐกิจเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ ให้ช่วยหาทางออกเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์โสมแดง
“ผมจะกดดันจีนให้เยอะ ๆ เลย เพราะว่าในทางเศรษฐกิจแล้ว เรามีอำนาจเหนือจีนอย่างมหาศาล” เขากล่าว และย้ำว่า “จีนสามารถแก้ปัญหานี้ได้เพียงด้วยการพบเจรจาแค่ครั้งเดียว หรือแค่โทรศัพท์ไปคุยครั้งเดียวก็ได้แล้ว”
เมื่อติดต่อสอบถามไป คณะทูตของเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติ ไม่ได้โต้ตอบใด ๆ ต่อท่าทีของทรัมป์ ทั้งนี้ ท่าทีของว่าที่ผู้สมัครของรีพับลิกันผู้นี้ ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับนโยบายของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ไม่เคยติดต่อเกี่ยวข้องกับคิมโดยตรง แต่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ หารือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเกาหลีเหนือแทน
เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดยืนดังกล่าวของทรัมป์ โดยบอกเพียงว่า โซลและวอชิงตันยึดมั่นในการกำหนดให้การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกในการเจรจากับเกาหลีเหนือ
ทรัมป์ ยังร่ายยาวเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศในด้านอื่น ๆ โดยที่เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์ก ไม่รู้สึกปลื้มปูตินอีกต่อไป แถมบอกว่า การที่ประมุขวังเครมลินพูดถึงตัวเขาในแง่ดีก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ไม่ได้ช่วยให้เขามีฐานะดีขึ้นในการเจรจาต่อรองกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทรัมป์พูดในการให้สัมภาษณ์นี้ทำให้ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายการต่างประเทศของ ฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ได้ทีและออกมาวิจารณ์ว่า ทรัมป์มีความหลงใหลได้ปลื้มอย่างแปลกประหลาดกับพวกผู้นำอย่างปูตินและคิม และมีนโยบายต่างประเทศที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง
ซัลลิแวน ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่กระตือรือร้นจะพบคิม แต่เมื่อไม่กี่วันนี้มานี้ ทรัมป์เพิ่งประกาศว่า จะไม่ญาติดีกับนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ระหว่างให้สัมภาษณ์รอยเตอร์เมื่อวันอังคาร (17) ทรัมป์ ยืนยันว่า คำวิจารณ์ซึ่งคาเมรอนพูดออกมาเกี่ยวกับข้อเสนอของทรัมป์ที่จะห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯชั่วคราวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ทรัมป์ก็สำทับว่า เขามั่นใจว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำอังกฤษ
อดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้ ยังบอกว่า ไม่สนับสนุนข้อตกลงฉบับสำคัญว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่กว่า 170 ประเทศลงนามร่วมกันที่ปารีส โดยเขาต้องการทบทวนข้อตกลงกันใหม่ เนื่องจากเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับอเมริกา แต่เอื้อประโยชน์ให้ประเทศอย่างจีน
ทั้งนี้ การทบทวนข้อตกลง ย่อมกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางการเดินหน้าไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งถึงอย่างไรก็ถือกันว่าดีที่สุดเท่าที่จะตกลงรอมชอมกันได้ในเวลานี้ โดยที่ทั้งประเทศมั่งคั่งและประเทศยากจนต่างตกลงที่จะควบคุมการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อน ถึงแม้ยังไม่ได้ตกลงถึงขนาดที่จะลดให้น้อยลงจนมั่นใจได้ว่าอุณหภูมิของโลกจะไม่เพิ่มสูงถึงจุดอันตรายในอนาคตข้างหน้า
เท่าที่ผ่านมา ทรัมป์ ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า ให้รายละเอียดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับข้อเสนอด้านนโยบายน้อยกว่าคลินตัน ดังนั้น ในการสัมภาษณ์ล่าสุด มหาเศรษฐีจากนิวยอร์กจึงออกตัวอย่างรวดเร็วว่า จะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอยกเลิกชุดมาตรการปฏิรูปทางการเงิน ด็อดด์ - แฟรงก์ ที่บังคับใช้หลังวิกฤตการเงินปี 2007 - 2009 เกือบทั้งหมดภายในสองสัปดาห์
คลินตันวิจารณ์เรื่องนี้ว่า เป็นแนวคิดสะเพร่าล่าสุดของทรัมป์
นอกจากนั้น ทรัมป์ ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า เขารับรู้ได้ถึงอันตรายจากฟองสบู่การเงินในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดาวรุ่ง ซึ่งบริษัทบางแห่งขายหุ้นราคาแพงโดยที่ยังไม่ทำกำไรเลยด้วยซ้ำ
ปรากฏว่า ประเด็นนี้ก็ถูกพวกนักลงทุนในซิลิคอน แวลลีย์ตอบโต้ทันควัน ด้วยการทวีตว่า ทรัมป์กำลัง “ทำให้ฟองสบู่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งเป็นการล้อเลียนสโลแกน “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ของทรัมป์
สำหรับประเด็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทรัมป์ บอกว่า แม้อยากให้คนของรีพับลิกันคุม แต่เขาไม่ได้เป็นศัตรูกับ เจเน็ต เยลเลน ประธานผู้ว่าการเฟดคนปัจจุบันที่โอบามาเป็นผู้แต่งตั้ง