xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตรียมจับมือ “ญี่ปุ่น - เกาหลีใต้” ซ้อมรบ 3 ฝ่าย สกัดภัยคุกคามจากจรวดโสมแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จรวดพิสัยไกลซึ่งนำดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ของเกาหลีเหนือขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เตรียมเปิดการซ้อมรบร่วม 3 ฝ่ายในเดือน มิ.ย. เพื่อหาวิธีสกัดกั้นภัยคุกคามจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่โสมขาวแถลงวันนี้ (16 พ.ค.)

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุว่า ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมครั้งนี้จะจัดขึ้นบริเวณน่านน้ำใกล้ ๆ รัฐฮาวาย ในวันที่ 28 มิ.ย. ก่อนที่การซ้อมรบร่วมทางทะเล ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก (RIMPAC 2016) ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำจะเปิดฉากขึ้น

“การซ้อมรบร่วมครั้งนี้จะเป็นการฝึกตรวจจับและติดตามสิ่งที่เราสมมติว่าเป็นขีปนาวุธซึ่งยิงมาจากเกาหลีเหนือ แต่จะไม่มีการฝึกใช้ขีปนาวุธสกัดกั้น” เจ้าหน้าที่โซล ระบุ

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า สหรัฐฯ จะส่งอากาศยานขึ้นบินเพื่อ “สมมติ” ว่า เป็นขีปนาวุธ จากนั้นกองทัพทั้ง 3 ประเทศ ก็จะฝึกติดตามขีปนาวุธจำลองจากเรือรบซึ่งติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิส (Aegis)

แผนซ้อมรบดังกล่าวถูกเสนอขึ้นมาระหว่างการหารือทางทหาร 3 ฝ่าย ซึ่งที่ถูกจัดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อเดือน ก.พ.

การยิงจรวดพิสัยไกลซึ่งเกิดขึ้นราว ๆ 1 เดือนหลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากทั่วโลก และแม้เปียงยางจะอ้างว่าจรวดดังกล่าวนำดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ขึ้นสู่วงโคจร แต่นานาชาติกลับเชื่อว่าโสมแดงต้องการอำพรางการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลมากกว่า

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ตอบโต้การฝ่าฝืนคำสั่งของเกาหลีเหนือ ด้วยมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

ยูเอ็นมีมติห้ามเกาหลีเหนือทดสอบเทคโนโลยีจรวดทุกรูปแบบ แต่ที่ผ่านมาโสมแดงก็เคยยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้หลายครั้งโดยไม่ถูกลงโทษ

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้นำ คิม จอง อึน ได้สั่งให้กองทัพยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ “มูซูดัน” ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถโจมตีได้ไกลถึงฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม แต่ปรากฏว่าการทดสอบนั้นล้มเหลว

เกาหลีเหนือยังอ้างว่าค้นพบวิธีย่อส่วนหัวรบนิวเคลียร์ความร้อนเพื่อนำไปติดตั้งบนขีปนาวุธ และประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบนำจรวดกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (re-entry technology) ซึ่งจะช่วยให้หัวรบที่ถูกยิงออกไปพร้อมกับจรวดพิสัยไกลสามารถย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกโดยปลอดภัย และไปโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำด้วย แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าคำกล่าวอ้างเหล่านี้มีทั้งข้อเท็จจริงและการโอ้อวดปนกันอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น