เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online – กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์แห่งเลบานอน ยืนยันในวันศุกร์ (13 พ.ค.) มุสตาฟา บัดเรดดีน แม่ทัพระดับสูงของตนซึ่งดูแลปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฯในซีเรียได้เสียชีวิตแล้วจากเหตุระเบิดในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของกลุ่มติดอาวุธชีอะห์กลุ่มนี้ ที่ถือเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
บัดเรดดีนในวัย 55 ปี มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดยุทธศาสตร์การสู้รบของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จากเลบานอน ในสงครามกลางเมืองซีเรียที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2011
คำแถลงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ระบุว่า นอกเหนือจากการเสียชีวิตของแม่ทัพใหญ่อย่างบัดเรดดีนแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายรายจากเหตุระเบิดซึ่งยังไม่ทราบที่มาแน่ชัด ว่าเป็นผลพวงจากการโจมตีทางอากาศ การโจมตีด้วยขีปนาวุธ หรือการถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า เหตุระเบิดที่ปลิดชีพบัดเรดดีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
ด้านสถานีโทรทัศน์อัล-มายาดีน ทีวี ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเบรุต และเป็นสื่อที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า บัดเรดดีนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล แต่ในเวลาต่อมา ทางสถานีได้ถอดรายงานข่าวชิ้นดังกล่าวออกไป
การเสียชีวิตของบัดเรดดีน ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่แม่ทัพใหญ่ของกลุ่มคนก่อนหน้านี้อย่างอิมาด มุกห์นิเยห์ ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดในกรุงดามัสกัสของซีเรียเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากการทำหน้าที่แม่ทัพใหญ่ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์แล้ว แหล่งข่าววงในยังเผยว่า บัดเรดดีนยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาใกล้ชิดของซัยเอ็ด ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำสูงสุดของกลุ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ มีการยืนยันว่า พิธีฝังศพของบัดเรดดีนได้จัดขึ้นภายในช่วงบ่ายของวันศุกร์ (13) ที่สุสานชาวมุสลิมนิกายชีอะห์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงเบรุต โดยที่ร่างของเขาจะถูกฝังไว้ถัดจากร่างของมุกห์นิเยห์ ซึ่งมีสถานะเป็นพี่เขยของเขาด้วยเช่นกัน
บัดเรดดีนเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดสถานทูตสหรัฐฯและฝรั่งเศสในคูเวตเมื่อปี 1983 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย โดยเขาถูกจับกุมได้ในคูเวตและถูกตัดสินให้รอการประหารชีวิต แต่เขาสามารถหลบหนีออกจากเรือนจำได้ในปี 1990 หลังจากที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก ส่งกองทัพบุกคูเวตในปีดังกล่าว