xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกรายงาน “คลื่นความร้อนเพชฌฆาต” กำลังก่อหายนะในไทย-ลาว-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีเอ็นเอ็น - ภาวะแล้ง ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำ กำลังก่อผลกระทบต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ สังหารชีวิตสัตว์ และก่อความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย หรือแม้แต่สิงคโปร์ จากรายงานของซีเอ็นเอ็นเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.)

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ไทย ลาว และกัมพูชาวัดอุณหภูมิได้สูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลของแต่ละประเทศ จากข้อมูลของเวเทอร์ อันเดอร์กราวนด์ ผู้ใช้บริการด้านภูมิอากาศทางพาณิชย์ ขณะที่สิงคโปร์เองก็ต้องเผชิญอุณหภูมิสูงผิดปกติเช่นกัน ส่วนในมาเลเซียพบเห็นบึงขนาดใหญ่แห้งขอดและผลผลิตพืชผักเหี่ยวแห้ง

ในกัมพูชา เหล่าเด็กนักเรียนต้องประสบปัญหา เนื่องจากโรงเรียนต่างๆ ของพวกเขาถูกปรับลดการจ่ายน้ำ “จะหาน้ำสำหรับเข้าส้วมยังแทบไม่มีเลย” เด็กน้อยวัย 13 ปีคนหนึ่งจากจังหวัดตบุงคมุมเผย “เพราะบ่อน้ำแห้งขอด และเพื่อนของหนูบางคนไม่ได้มาโรงเรียนเพราะว่ามันร้อนเกินไป”

ส่วนคุณครูของหนูน้อยรายนี้แสดงความกังวลว่า “ผมพบเห็นการขาดเรียนเพิ่มขึ้นราว 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เราต้องการติดตั้งพัดลม แต่โรงเรียนของเราไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง”

เมื่อไม่สามารถใช้ห้องน้ำของโรงเรียนได้ อิหม่ามโมรูคา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารมวลชนของยูนิเซฟกัมพูชา เผยว่า “เด็กๆ ต้องไปปลดทุกข์ตามพุ่มไม้ หรือไม่ก็กลับบ้าน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และจากนั้นบางทีก็ไม่กลับมาเรียนอีกเลย”

ที่จังหวัดกำปงชนัง แหล่งน้ำสำหรับนักเรียนเหลืออยู่แค่เล็กน้อยและปนเปื้อนเชื้อโรค “แม้มีการกรองน้ำก่อนดื่ม แต่พวกเขาก็อาจมีอาการท้องร่วงหรือล้มป่วย” ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาท้องถิ่นกล่าว “หรือแม้แต่ใช้อาบน้ำ ผิวหนังของพวกเขาก็จะระคายเคืองด้วยจุดสีแดงและหยาบ”

รัฐบาลกัมพูชาตอบสนองต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย ด้วยการลดชั่วโมงเรียนระหว่างช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน แต่เหล่าคุณครูคร่ำครวญว่าไม่มีงบประมาณพิเศษสำหรับจัดซื้อน้ำดื่ม

ใขณะที่แม่น้ำโขง แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลเวียดนามระบุว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงในประเทศแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1926 ขณะที่สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าความแห้งแล้งยังทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายใหญ่หลวง

ส่วน ไทย ชาติผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ซีเอ็นเอ็นรายงานเช่นกัน คาดหมายว่าจะมีผลผลิตที่ย่ำแย่ สืบเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดและข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อปีที่แล้วมีฝนตกลงมาน้อยกว่าคาดหมายไว้

ซีเอ็นเอ็นอ้างข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้าเวียดนามและไทยไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอ เหล่าผู้นำเข้าท้องถิ่นอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจะประสบปัญหาขาดแคลนและราคาจะพุ่งสูงขึ้น โดยปีที่แล้วฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 1.9 ล้านตัน คิดเป็นจากเวียดนาม 53 เปอร์เซ็นต์ และไทย 5 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลอินโดนีเซียบอกเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาคาดหมายว่าจะนำเข้าข้าวจากเวียดนาม 1 ล้านตัน และจากไทยมากกว่า 1 ล้านตัน

พลเมืองของสิงคโปร์ก็รู้สึกถึงผลกระทบ หลังจากมาเลเซีย ดินแดนที่พวกเขานำเข้าผักราว 43 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการนำเข้าผักทั้งหมด เวลานี้ต้องประสบปัญหาในการหาน้ำมาหล่อเลี้ยงแปลงผักที่เหี่ยวแห้ง ด้านสเตรทไทมส์ สื่อมวลชนแดนเสือเหลืองคาดหมายว่ายอดส่งออกผักของประเทศจะลดลง ส่งผลให้ราคาขายในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อุณหภูมิบนเกาะแห่งนี้มีค่าเฉลี่ยรายวันที่ 30.6 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ย้อนกลับไปที่มาเลเซีย พวกเขาต้องปันส่วนจากการใช้น้ำจากแหล่งสำรอง หลังเขื่อนหลักๆ และแหล่งน้ำสำรองหลายแห่งระดับน้ำลดลงแตะระดับที่เป็นอันตราย ขณะที่โรงเรียนมากกว่า 250 แห่งต้องหยุดการเรียนการสอนเมื่อเดือนที่แล้ว

รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่าพบเห็นการตายของสัตว์ในทุกหนทุกแห่ง ร่างของช้าง 2 ตัวถูกพบในเวียดนาม ขณะที่ในกัมพูชา ช้างเพศเมียเชือกหนึ่งที่ใช้สำหรับแบกนักท่องเที่ยวสัญจรรอบนครวัด ถึงขั้นล้มตายจากอาการเพลียแดด

เหล่านักวิทยาศาสตร์บอกว่าภาวะแห้งแล้งในปีนี้ถือเป็นหนร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ภัยแล้งปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้ายแรงอย่างยิ่ง” แม็กซิมิเลียโน เอร์เรรา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจากคอสตาริกากล่าว “มันสามารถเปรียบเทียบได้กับปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงเมื่อปี 1998 และ 1983 แต่ในไทย ภัยแล้งปัจจุบันถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1983”


กำลังโหลดความคิดเห็น