xs
xsm
sm
md
lg

ภาพชุด Mercury Transit : ปรากฎการณ์ “เมื่อดาวพุธโคจรเผชิญหน้าพระอาทิตย์” ทั่วทั้งโลกส่องกล้องตามรอย “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์” ปี 1667

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายจากองค์การสำรวจอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ NASA แสดงการโคจรผ่านดวงอาทิตย์ของดาวพุธในวันที่ 9 พ.ค 2016
เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ปรากฎการณ์ดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์หรือ Transit of Mercury ได้ปรากฏต่อสายตาทั่วโลกเมื่อวานนี้(9 พ.ค ) ซึ่งได้ปรากฏขึ้นในเวลา 12.12 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ และสิ้นสุดลงในเวลา 19.42 น. โดยพบภาพดาวพุธปรากฎอยู่บริเวณใจกลางดวงอาทิตย์ในเวลา 15.57 น. หรือในเวลา 18:10 น.-18:35 น. ในกรุงเทพฯเป็นเวลา 25 นาที นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เหมือนได้เคยเกิดขึ้นในปี 1667 ที่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเลื่องชื่อ “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์” ได้ใช้ปรากฎการณ์นี้ เพื่อคำนวณระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์สำเร็จ

บีบีซี สื่ออังกฤษ และรวมไปถึงสื่อทั่วโลกรายงานล่าสุดถึงปรากฎการณ์ดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์หรือ Mercury Transit ซึ่งเกิดขึ้นในวันจันทร์(9 พ.ค)ที่ผ่านมา

ซึ่งจากการรายงานของเดลีเทเลกราฟ สื่ออังกฤษพบว่า ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในเวลา 12.12 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ และสิ้นสุดลงในเวลา 19.42 น. โดยพบภาพดาวพุธปรากฏอยู่บริเวณใจกลางดวงอาทิตย์ในเวลา 15.57 น. หรือในเวลา 18:10 น.-18:35 น หรือจากรายงานของMGRออนไลน์ จากการให้สัมภาษณ์ของดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) พบว่าเกิดขึ้นในเวลา18:10 น.-18:35 น. ในกรุงเทพฯเป็นเวลา 25 นาที โดยบีบีซี ชี้ว่า ตามเวลากรีนิชสากล การเรียงตัวระหว่างดวงอาทิตย์ ดาวพุธ และโลกเกิดขึ้นในช่วงเวลา 11:12 GMT. -18:42GMT.

ซึ่งบีบีซีชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมื่อวานนี้ถือเป็นรอบที่ 3 ของทั้งหมด 14 ครั้งที่จะเกิดขึ้นในรอบ 100 ปีนี้(ศตวรรษ 21) ซึ่งหากพลาดไปแล้ว จะสามารถเห็นปรากฏการณ์ดาวพุธโคจรผ่านพระอาทิตย์ได้ใหม่อีกครั้ง ต้องรอไปถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2019 และอีกครั้งที่ห่างออกไปในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2032

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้ไปทั่วในหมู่คนสนใจว่า การสังเกตปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่าถือเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งทำให้สื่ออังกฤษ ดิ อินดีเพนเดนต์ ถึงกับชี้ว่า “การจ้องไปที่ดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่าถือเป็นเรื่องเลวร้าย แต่การมองผ่านกล้องส่องทางไกลนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่า”

แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ดิ อินดีเพนเดนต์ให้ความเห็นว่า การอยู่ที่บ้านและเฝ้ามองปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่า เหมือนกับการใช้สายตาจ้องไปที่ดวงอาทิตย์โดยตรงนั้น เป็นการทำลายต่อสายตา และคนทั่วไปไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้โดยตรงเนื่องมาจากเงามืดของดาวพุธนั้นถูกปกคลุมไปด้วยแสงและรังสีที่เจิดจ้าของดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ ดิ อินดีเพนเดนต์ยังกล่าวถึงการใช้กล้องส่องทางไกลในการเฝ้ามองสังเกตการณ์ว่า เป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะกล้องส่องทางไกลที่ผู้คนใช้ตามบ้านเรือนไม่มี “solar filters” หรือแผ่นกรองรังสีดวงอาทิตย์ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการสังเกตุการณ์ปรากฏการณ์นี้คือ การไปชมตามสถานที่ซึ่งได้จัดไว้โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีเครื่องมือเตรียมพร้อม

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นผู้เชี่ยวชาญไทยที่ได้กล่าวว่า “ขอให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสง การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง อาจทำให้ตาบอดอย่างเฉียบพลัน” ดร.ศรัณย์แถลง

และนอกจากนี้ทางสื่ออังกฤษได้แสดงรายชื่อสถานที่ซึ่งประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าไปร่วมชมปรากฏการณ์นี้ได้ เป็นต้นว่า หอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ในอังกฤษ และสถาบันสมิธโซเนียนวิจัยอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (Smithsonian National Air and Space Museum) ในสหรัฐฯ

โดยจากทั้งหมดเกือบ 50 แห่ง พบว่าสถานที่จัดงานส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในยุโรปตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึง 4 แห่งในอเมริกาเหนือ 3 แห่งในลาตินอเมริกา แต่ดิ อินดีเพนเดนต์ไม่มีรายงานรายชื่อสถานที่จัดในเอเชีย หรือ แอฟริกา แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อินเดีย เอ็กซเพรส สื่อแดนภารตะได้รายงานถึงความคึกคักของชาวอินเดียต่อปรากฏการณ์ทางฟากฟ้านี้เช่นกัน

ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้คนให้ความสนใจถึงการเฝ้าชมปรากฏการณ์นี้อย่างคึกคัก โดย เอ็น ราธ นาศรี( N Rathnasree) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันหอดูดาวแห่งชาติเนห์รู (Nehru Planetarium) ในกรุงนิวเดลี ได้ให้ความเห็นต่อสื่ออินเดียว่า “ในกรุงนิวเดลี ทางเราได้จัดให้มีห้องมืด ที่ได้มีการถ่ายทอดภาพการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์บนจอโปรเจกเตอร์ขนาดยักษ์ และมีผู้เข้าร่วมชมจำนวนหลายพันคนในครั้งนี้”

ซึ่งจากทั่วพื้นที่ในตัวเมือง 4 แห่งทั้งหมด จะเริ่มต้นขึ้นพร้อมกันในเวลา 16.41 น.ตามเวลาท้องถิ่นอินเดีย

อินเดีย เอ็กซิเพรส รายงานเพิ่มเติมว่า ในโกลกาตา ถึงแม้บางส่วนของท้องฟ้าจะถูกปกคลุม แต่ผู้คนที่เฝ้าสังเกตการณ์ยังคงสามารถเห็นการโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวพุธได้อย่างชัดเจน

“ขนาดของดาวพุธเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว ถือว่าเล็กมาก ซึ่งในปรากฎการณ์นี้เหมือนกับว่า จุดสีดำเล็กๆปรากฎอยู่บนดวงอาทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์ดาราศาสตร์อินเดียPAC ซานจิบ เซน(Sanjib Sen) ชี้

ทั้งนี้มีรายงานว่า ปรากฏการณ์ดาวพุธโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์สามารถมองเห็นได้ชัดในทั่วเกือบทุกภูมิภาคของทวีปเอเชีย ยกเว้นแต่ ทางเอเชียตะวันออก และญี่ปุ่น ซึ่งการเริ่มต้นโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวพุธถูกพบเห็นได้ตั้งแต่จากทางฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทวีปอาร์กติก เกาะกรีนแลนด์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา ยุโรปตะวันตก และไปจนถึงแอตแลนติกโอเชียนเหนือ สื่ออินเดียรายงาน

และเสริมว่า ปรากฎการณ์ Murcury Transit เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2006 ซึ่งในครั้งนั้นประชาชนชาวภารตะทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น

เดลีเทเลกราฟรายงานต่อว่า ปรากฏการณ์ดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์เคยเกิดขึ้นวันที่ 7 พฤศจิกายน 1667 โดยมีนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเลื่องชื่อ “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์” ได้ใช้ปรากฎการณ์นี้เพื่อคำนวณระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์มาแล้ว

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ของไทยพบว่า ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก และไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร โครงสร้างภายในของดาวพุธประกอบไปด้วยแกนเหล็กขนาดใหญ่มีรัศมีประมาณ 1,800 - 1,900 กม. ล้อมรอบด้วยชั้นที่เป็นซิลิเกต (ในทำนองเดียวกับที่แกนของโลกถูกห่อหุ้มด้วยแมนเทิลและเปลือก) ซึ่งหนาเพียง 500 - 600 กม. บางส่วนของแกนอาจจะยังหลอมละลายอยู่

ในปี 1974 สหรัฐอเมริกาได้ส่งยานมารีเนอร์ 10 ไปสำรวจและทำแผนที่พื้นผิวดาวพุธเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงสามารถทำแผนที่ได้เพียงร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมายคล้ายกับพื้นผิวดวงจันทร์ มีเทือกเขาสูงใหญ่และแอ่งที่ราบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป แอ่งที่ราบแคลอริสมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,300 กม. นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า แอ่งที่ราบขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในยุคเริ่มแรกของระบบสุริยะ

ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก กลางวันจึงมีอุณหภูมิสูงถึง 430 °C แต่กลางคืนอุณหภูมิลดเหลือเพียง -180°C อุณหภูมิกลางวันกลางคืนแตกต่างกันถึง 610°C
(เอเจนซีส์) ภาพปรากฎการณ์ดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์ในเมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมัน
(เอเอฟพี) ผู้คนเฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ที่หอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ในอังกฤษ
ภาพกล้องดูดาวขนาดใหญ่ภายในหอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ในอังกฤษ ที่ถูกใช้ในการศึกษาปรากฎการณ์เมื่อวานนี้(9) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1927
(เอเจนซีส์)ภาพผู้สังเกตการณ์ในเยอรมันที่สถาบันดูดาว the Bergedorf observatory ในฮัมบูร์ก เยอรมัน
ภาพปรากฎการณ์ที่ทางผู้อ่านชาวอังกฤษส่งเข้ามายังหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน
ภาพปรากฎการณ์ที่ทางผู้อ่านชาวอังกฤษส่งเข้ามายังหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน
ภาพถ่ายจากองค์การสำรวจอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ NASA แสดงถึงพื้นผิวของดาวพุธ
ภาพปรากฎการณ์ที่ทางผู้อ่านชาวอังกฤษส่งเข้ามายังหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ถ่ายจากมอร์คอมบ์ (Morecambe) อังกฤษ
ภาพปรากฎการณ์ที่ทางผู้อ่านชาวอังกฤษส่งเข้ามายังหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน
(เอเจนซีส์) ปรากฎการณ์ที่หอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ในอังกฤษ
(เอเอฟพี)ปรากฎการณ์เฝ้าชมดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์ในวันจันทร์(9) ที่อินเดีย
(เอเอฟพี)ปรากฎการณ์เฝ้าชมดาวพุธโคจรผ่านดวงอาทิตย์ในวันจันทร์(9) ที่อินเดีย


รายชื่อสถานที่จัดให้เฝ้าชมปรากฎการณ์ทั่วโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น