รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่สูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องในวันศุกร์ (22 เม.ย.) ขอไทยระงับมอบอำนาจกวาดล้างที่อันตรายแก่ทหาร และสนับสนุนการถกเถียงกันเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่กองทัพหวังได้รับความเห็นชอบผ่านการลงประชามติในเดือนสิงหาคม
กองทัพซึ่งเข้าบริหารประเทศมาตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 ได้สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง ตรวจสอบสื่อมวลชน และดำเนินคดีพวกผู้ขัดขืนในศาลทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองตามหลังความความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายปี และให้สัญญาว่า จะจัดการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2017
เมื่อเดือนที่แล้ว คณะรัฐประหารมอบอำนาจพิเศษแก่ทหารสำหรับจับกุม และคุมขัง ในนั้นรวมถึงอำนาจยุึดทรัพย์ และตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ความเคลื่อนไหวที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบอกว่า มีเป้าหมายเพียงเพิ่มอำนาจในการปราบปรามพวกนักวิจารณ์
เจ้าชายเซอิด ราอัด เซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลงว่าการขยายอำนาจของทหารไม่ใช่คำตอบสำหรับฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทย “ข้าพเจ้าของเรียกร้องรัฐบาลไทยระงับใช้กฎหมาย และคำสั่งกวาดล้างที่เป็นอันตรายนี้ ที่มอบอำนาจแก่ทหารมากขึ้น”
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน สหรัฐฯ ได้เรียกร้องแบบเดียวกัน ขอให้ไทยจำกัดบทบาทกองทัพอันทรงอิทธิพลของประเทศ หลังคณะรัฐประหารเพิ่มอำนาจคล้ายตำรวจแก่ทหารในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทางอาญา
สำนักงานรอยเตอร์ รายงานว่า ทหารคือ ผู้ควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญแทนของเดิมที่ถูกฉีกทิ้งหลังจากยึดอำนาจ แต่พวกนักวิจารณ์ในนั้น รวมถึงพรรคการเมืองหลักๆ บอกว่า มันจะปกป้องอิทธิพลของทหาร และไม่น่าจะช่วยยุติเหตุเผชิญหน้าทางการเมือง
รัฐบาลบอกในสัปดาห์นี้ว่า ไม่อนุญาตให้รณรงค์สนับสนุน หรือต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ในเรื่องนี้ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แนะนำรัฐบาลไทยว่า ควรสนับสนุนให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ “ผมเรียกร้องรัฐบาลไทยควรสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นแทนการกีดกัน ให้มีการถกเถียงในร่างรัฐธรรมนูญ”