xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ต่างประเทศเมืองเบียร์ แย้มการฝึกทัพลิเบียอาจเปิดฉากในต่างแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์     รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี
รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGR online - ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี เผยในวันเสาร์ (16 เม.ย.) ระบุการฝึกแบบเข้มข้นของยุโรปต่อกองกำลังของลิเบีย ที่ถือเป็นก้าวย่างแรกในการฟื้นฟูดินแดนในแอฟริกาตอนเหนือแห่งนี้น่าจะเกิดขึ้นในต่างประเทศมากกว่าในลิเบีย

ชไตน์ไมเยอร์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี พร้อมด้วย ฌ็อง-มาร์ก เอโรลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้เดินทางเยือนกรุงตริโปลี ของลิเบีย เพื่อหารือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติชุดใหม่ของลิเบีย โดยได้ประกาศจุดยืนของยุโรปในการหนุนหลังรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงการหาทางยุติการสู้รบระหว่างกลุ่มก้อนฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย การขจัดภัยคุกคามของพวกนักรบอิสลามิสต์ และการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีเหล่าผู้อพยพตกเป็นเหยื่อ

“ผมคิดว่ามันน่าจะดูเป็นความจริงมากกว่าที่เราจะเริ่มการฝึกกองกำลังของรัฐบาลลิเบียที่นอกประเทศในช่วงแรกเริ่ม จากนั้นจึงค่อยจัดการฝึกในลิเบียภายหลัง” รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กล่าว

ก่อนหน้านี้ สื่อดังเมืองเบียร์ “แดร์ ชปีเกิล” รายงานเมื่อ 9 ม.ค.โดยระบุ รัฐบาลเยอรมนีกำลังพิจารณาส่งกำลังทหารมากกว่า 100 นาย ไปยังลิเบีย เพื่อช่วยฝึกฝนกองทัพลิเบีย ในการรับมือต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคง ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองในลิเบียที่เกิดความแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย และเกิดการโจมตีของพวกนักรบอิสลามิสต์อย่างต่อเนื่อง

รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวของแดร์ ชปีเกิล ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล มีแผนจับมือกับรัฐบาลอิตาลีในการส่งกำลังทหารซึ่งน่าจะมีจำนวนเพียง “หลักร้อย” เข้าไปยังลิเบียภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนับจากนี้ เพื่อเริ่มต้นภารกิจในการฝึกทางยุทธวิธี และทำหน้าที่ “ที่ปรึกษา” ให้แก่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลลิเบีย

รายงานล่าสุดที่ถูกเผยแพร่ออกมา ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีเตรียมพิจารณาส่งกำลังพลจาก “บุนเดสเวห์ร” หรือกองทัพเยอรมนี ที่มีจำนวนระหว่าง 150-200 นาย เข้าร่วมภารกิจลับนี้ในลิเบีย ซึ่งแผนนี้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนชาวเยอรมัน

ทั้งนี้ อดีตดินแดนซึ่งมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมันในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนืออย่างลิเบีย มีอันต้องเผชิญต่อภาวะไร้ขื่อแปหลังจากที่ระบอบการปกครองของ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นอำนาจในปี 2011 และลิเบียต้องเผชิญต่อความแตกแยกทางการเมืองครั้งเลวร้ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2014 เมื่อบรรดานักการเมืองของประเทศแข่งกันตั้งรัฐบาล 2 ชุดขึ้น โดยต่างอ้างความชอบธรรมของตัวเองในการบริหารประเทศ และต่างมีกองกำลังติดอาวุธหนุนหลัง ซึ่งรวมถึงกองกำลังติดอาวุธของพวกนักรบอิสลามิสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น