เอพี/เอเจนซีส์ - วันนี้ (28 มี.ค.) ศาลสูงบังกลาเทศมีคำพิพากษาปฏิเสธไม่อนุญาตให้ถอดศาสนาอิสลามออกจากศาสนาประจำชาติบังกลาเทศ เนื่องมาจากกลุ่มผู้ยื่นฟ้องทางกฎหมายไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย เพราะไม่มีสิทธินำคดีมาขึ้นฟ้องในคดีประวัติศาสตร์ที่ยืดเยื้อมานานถึง 28 ปี
คณะศาลสูงบังกลาเทศจำนวน 3 คนได้ตัดสินออกมาในวันจันทร์ (28 มี.ค.) ถึงคดีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 28 ปีท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนชาวบังกลาเทศ โดยเอพีรายงานในวันนี้ (28 มี.ค.) ว่า คำพิพากษาที่ออกมาปฏิเสธนั้นไปในทิศทางที่หลายฝ่ายได้คาดไว้ก่อนหน้านี้
โดยทีมกฎหมายของธากาได้กล่าวถึงชัยชนะที่ออกมาว่า คำตัดสินเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาประจำชาติของบังกลาเทศต่อไป และรวมไปถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของศาสนาอื่นๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบังกลาเทศจะไม่ได้รับผลกระทบ
เอพีรายงานว่า มูหราด เรซา (Murad Reza) หัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาลบังกลาเทศในคดีนี้ ได้ออกมาชื่นชมคำตัดสินของศาลสูงบังกลาเทศในวันนี้ (28 มี.ค.)
ทั้งนี้ บังกลาเทศได้ประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งในขณะนั้นผู้นำเผด็จการทหารบังกลาเทศ H.M. Ershad เป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อหวังเสียงสนับสนุนมหาชนทางการเมือง ต้านวิกฤตที่บรรดาพรรคการเมืองบังกลาเทศร่วมมือต้องโค่นให้ผู้นำเผด็จการผู้นี้ออกจากอำนาจ อย่างไรก็ตาม Ershad ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งในปี 1990 หลังมีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ
ซึ่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบันของบังกลาเทศ ชีค ฮาซินา ได้นำการบริหารแบบไม่อิงศาสนามาสู่บังกลาเทศ หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในปี 2011 แต่ฮาซินายังคงยืนยันให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติต่อไป
ด้านผู้นำกลุ่มอิสลามิสท้องถิ่น เฮฟายัต อี อิสลาม (Hefajat-e-Islam) ออกมาแสดงความพอใจหลังมีคำตัดสินออกมา ซึ่งสมาชิกของทางกลุ่มที่ได้รวมตัวอยู่ด้านนอกของศาลแสดงความยินดีด้วยการชูสองนิ้วเป็นเครื่องหมายชัยชนะ
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ จามาอัต-อี-อิสลามี (Jamaat-e-Islami) พรรคการเมืองอิสลามิสที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการผละงานทั่วประเทศในวันจันทร์ (28 มี.ค) เพื่อกดดันให้ศาลสูงบังกลาเทศตัดสินคว่ำคำฟ้องถอดศาสนาอิสลาม
โดยในวันนี้ (28 มี.ค.) คณะผู้พิพากษาได้มีมติปฏิเสธคำฟ้องของกลุ่มผู้ยื่นจำนวน 15 คน โดยอ้างว่าสถานะผู้ฟ้องขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย ไม่มีสิทธินำคดีมาขึ้นสู่ศาล หรือ “no locus standi” และไม่มีข้อพิสูจน์ว่าคนทั้งหมดนี้ได้รับผลกระทบจากการที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
ซึ่งคนทั้ง 15 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บังกลาเทศประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้อ้างว่าการให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการในกฎหมายมาตรา 2A ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยให้รัฐบริหารงานแบบไม่อิงศาสนาในกฎหมายมาตรา 12
ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีประชาชนส่วนใหญ่ในบังกลาเทศนับถือถึง 90% และมีผู้นับถือศาสนาฮินดู 8% และศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ อีก 2%