รอยเตอร์/เดอะการ์เดียน - ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและเจ้าหน้าที่ไทย ระบุว่า ซากชิ้นส่วนที่พบในภาคใต้ของไทย ไม่น่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนของเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่หายสาบสูญไปเมื่อ 2 ปีก่อน
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า กระแสน้ำที่ทรงพลังในมหาสมุทรอินเดียอาจพัดซากชิ้นส่วนให้เคลื่อนที่ไปไกลหลายพันกิโลเมตร แต่ก็ไม่น่าจะถูกพัดข้ามเส้นศูนย์สูตรมาถึงซีกโลกทางเหนือ
เกร็ก วอลโดรน บรรณาธิการบริหารประจำภาคพื้นเอเชียของเว็บข่าวด้านการบิน Flightglobal ระบุว่า ตำแหน่งที่พบซากชิ้นส่วนในไทยนั้น ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการพัดของกระแสน้ำจากจุดที่พบชิ้นส่วนปีก MH370 แถวเกาะเรอูนียงเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
“รอยมาร์กคเครื่องหมาย รูปแบบงานวิศวกรรม และเครื่องมือที่ปรากฏให้เห็นบนซากชิ้นส่วน บ่งชี้ว่า มันเกี่ยวกับงานด้านอวกาศ อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้รู้ต้นตอแน่ชัด” วอลดรอน กล่าว
เขาบอกอีกว่า มีความเป็นไปได้อื่น ๆ สำหรับซากชิ้นส่วนนี้ อาทิ มาจากจรวดที่ใช้ยิงขึ้นสู่อวกาศจากฝั่งตะวันออกของอินเดีย แถวอ่าวเบงกอล
ด้านรัฐบาลไทยยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าซากชิ้นส่วนนั้นมาจากเครื่องบิน
“โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่ามันจะเป็น MH370” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย บอกรอยเตอร์
หน่วยงานของออสเตรเลียที่รับผิดชอบเรื่องการค้นหา MH370 ได้บอกกับรอยเตอร์ว่า กำลังรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการของซากชิ้นส่วนดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย ก็ได้ติดต่อกับทางการไทย เพื่อขอตรวจสอบซากชิ้นส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
เจฟฟรีย์ โทมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน บอกกับรอยเตอร์ ว่า ซากชิ้นส่วนที่พบในไทยดูไม่เหมือนชิ้นส่วนลำตัวของเครื่องบิน
“มันไม่สมเหตุสมผลเลย ผมไม่คิดว่ามันจะมีความเกี่ยวข้องอะไรกับ MH370 เลยด้วยซ้ำ” เจฟฟรีย์ โทมัส กล่าว
จอน ออสโตรเวอร์ ผู้สื่อข่าวการบินและอวกาศของ วอลสตรีท เจอร์นัล ระบุทางทวิตเตอร์ ซากชิ้นส่วนที่พบในไทยดูคล้ายจะเป็นจรวด H-IIA ของญี่ปุ่น ที่ใช้ในการสำรวจอวกาศและส่งดาวเทียม
จรวด H-IIA ถูกปล่อยขึ้นฟ้า 7 ครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นจรวดประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง นั่นจึงหมายความว่าส่วนที่ถูกทิ้งทั้งหลายจะตกลงสู่ทะเลหลังการใช้งาน
“มันไม่ใช่ชิ้นส่วนใด ๆ ของโบอิ้ง 777 สลักประตูของโบอิ้งมันไม่ใช่แบบนั้น” เขาระบุ