xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’คืบหน้าก้าวใหญ่ในการกำหนดราคา ‘ทองคำ’ เป็นสกุลเงิน ‘หยวน’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes)

China announces members of yuan gold benchmark
By Asia Unhedged
13/04/2016

จีนหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ลอนดอนกับนิวยอร์กเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำอยู่ในปัจจุบัน โดยที่จะให้ตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ทำหน้าที่ประกาศราคามาตรฐานของโลหะชนิดนี้ด้วยหน่วยราคาที่เป็นสกุลเงินหยวน ทั้งนี้ตลาดแห่งนี้เพิ่งประกาศรายชื่อสมาชิก 18 รายซึ่งจะมีบทบาทในการกำหนดราคาเช่นนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนเป็นต้นไป

จีนกำลังวาดหวังจะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ลอนดอนกับนิวยอร์กเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำอยู่ในปัจจุบัน และให้ตนเองก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้กำหนดราคาของโลหะมีค่าชนิดนี้ โดยที่จะเริ่มประกาศราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณใหม่ของตนซึ่งใช้หน่วยราคาเป็นสกุลเงินหยวน ในวันที่ 19 เมษายนที่กำลังจะมาถึง

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้บริโภคใช้สอยทองคำรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก จีนจึงไม่สบอารมณ์ที่ต้องอิงอาศัยราคาซึ่งกำหนดกันเป็นสกุลเงินดอลลาร์ในเวลาที่จะทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อีกทั้งมีความเชื่อว่าด้วยสัดส่วนบทบาทที่มีอยู่ในตลาดของตน จีนสมควรที่จะได้รับหน้าที่ในการกำหนดราคาของทองคำ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/china-gold-fix-idUSL3N17G2W4)

ราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณของจีนนี้ จะอิงอาศัยสัญญาซื้อขายทองคำปริมาณ 1 กิโลกรรม ซึ่งนำออกมาเทรดกันโดยสมาชิก 18 รายของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange ใช้อักษรย่อว่า SGE) โดยที่สมาชิก 18 รายนี้ยังจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการซื้อขายในตลาด (central counter party) อีกด้วย

ตามคำแถลงของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ซึ่งโพสต์อยู่บนเว็บไซต์ของตน สมาชิก 18 รายนี้ ประกอบด้วยธนาคารใหญ่ที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชยการแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China), ธนาคารเกษตรกรรมแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China), ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China), และธนาคารการก่อสร้างประเทศจีน (China Construction Bank)

เมื่อวันพุธ (13 เม.ย.) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) และธนาคารเอเอ็นแซด (ANZ) ออกมาประกาศว่าพวกตนจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานนี้ด้วย

สำหรับสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มนี้ ยังมี ธนาคารคมนาคม (Bank of Communications), ธนาคารพัฒนาผู่ตงเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pudong Development Bank), ไชน่า หมินเซิง แบงกิ้ง คอร์ป (China Minsheng Banking Corp.), อินดัสเตรียล แบงก์ (Industrial Bank), ธนาคารผิงอัน (Ping An Bank), ธนาคารเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Bank), ธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) (Bank of China (Hong Kong)), บริษัทผู้ค้าปลีก 2 ราย คือ โจว ไท่ ฟุค (Chow Tai Fook) และ เหลา เฟิง เซียง (Lao Feng Xiang), บริษัทเทรดดิ้งเฮาส์สัญชาติสวิส เอ็มเคเอส (MKS), กลุ่มกิจการเหมืองแร่จีน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทองคำแห่งชาติจีน (China National Gold Group) และกลุ่มทองคำซานตง (Shandong Gold Group)

ราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณของตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้นี้ จะมีการกำหนดขึ้นวันละ 2 ครั้ง โดยอิงอยู่กับระยะเวลาสองสามนาทีของการซื้อขายในแต่ละช่วง และจะประกาศหน่วยราคาเป็นหยวนต่อกรัม

การกำหนดราคามาตรฐานของทองคำเป็นสกุลเงินหยวนซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 19 เมษายนนี้ ไม่ได้มีการคาดหมายกันว่าจะกลายเป็นการคุกคามในทันทีทันใดต่อฐานะการเป็นผู้ครอบงำราคาทองคำของลอนดอนและนิวยอร์ก ทว่าในที่สุดแล้วอาจจะทำให้เอเชียมีอำนาจในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสกุลเงินตราจีนกลายเป็นสกุลเงินตราที่สามารถแลกเปลี่ยนแปลงเป็นสกุลอื่นได้อย่างเต็มที่

สำหรับราคามาตรฐานสำหรับซื้อขายเพื่อการส่งมอบทันทีในลอนดอน ซึ่งประกาศหน่วยราคาเป็นดอลลาร์ต่อออนซ์นั้น ในปัจจุบันมีการกำหนดกันวันละ 2 ครั้งเช่นกัน โดยใช้วิธีประมูลราคากันผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมในเวลานี้มี 12 ราย หลังจากที่ตอนเริ่มต้นมี 6 ราย

ราคาที่กำหนดขึ้นในลอนดอนนี้ ก่อนหน้านี้เคยกำหนดขึ้นโดยใช้วิธีประชุมทางไกลระหว่างสมาชิกที่เข้าร่วม ทว่าได้เปลี่ยนมาเป็นระบบประมูลราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังมีการทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ในการคำนวณราคา สืบเนื่องจากกรณีอื้อฉาวเรื่องหลายๆ แบงก์ใช้กลโกงในการส่งอิทธิพลกำหนดอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ (Libor) ปะทุขึ้นมาในปี 2012

จีนนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนจากพวกธนาคารต่างประเทศ จึงจะสามารถเปลี่ยนให้ราคามาตรฐานใหม่นี้กลายเป็นเกณฑ์วัดระหว่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับ ทว่าเท่าที่ผ่านมาแดนมังกรต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักทีเดียวในการดึงดูดแบงก์เหล่านี้ให้มาร่วมมือด้วย เมื่อเดือนมกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนได้ออกมาเตือนพวกธนาคารต่างประเทศว่า พวกเขาอาจถูกตัดลดการดำเนินงานของพวกเขาในตลาดภายในประเทศของจีน ถ้าพวกเขาปฏิเสธไม่เข้าร่วมในกระบวนการกำหนดราคามาตรฐานตามเกณฑ์คำนวณใหม่นี้

สแตนดาร์ชาร์เตอร์ด และ เอเอ็นแซด สองแบงก์ต่างประเทศที่เข้าร่วมในการกำหนดราคากับตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ต่างมีใบอนุญาตนำเข้าทองคำในประเทศจีน ธนาคารต่างประเทศยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งคือ เอชเอสบีซี (HSBC) ก็มีใบอนุญาตนำเข้าเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ถูกระบุชื่อจากตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ ว่าเป็นหนึ่งในแบงก์ที่เข้าร่วม

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged)


กำลังโหลดความคิดเห็น