เอเอฟพี - เกือบครึ่งหนึ่งของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติรวมถึงเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และมาชูปิกชู ถูกคุกคามโดยกิจกรรมทางอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเช่น การทำเหมือง การสำรวจน้ำมัน และการตัดไม้เถื่อน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เตือนในวันนี้ (6)
สถานที่ที่ถูกคุกคาม 114 แห่งนี้ ครึ่งหนึ่งของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติทั้งหมดที่ถูกบันทึกโดยยูเนสโก ให้อาหาร น้ำ ที่พักพิง และยาแก่คนกว่า 11 ล้านคน มากกว่าประชากรของโปรตุเกส ทั้งนี้อ้างจากรายงานที่ถูกจัดทำขึ้นโดย WWF
สถานที่ดังกล่าวถูกตั้งความหวังว่าจะได้รับการปกป้องไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
“แม้ว่าจะเห็นถึงประโยชน์ของพื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้อย่างชัดเจน แต่เรายังคงไม่สามารถแยกการพัฒนาทางเศรษฐกิจออกจากการทำลายสิ่งแวดล้อมได้” มาร์โก แลมเบอร์ตินี ผู้อำนวยการใหญ่ของ WWF กล่าวในคำนำ
“เรากลับอนุญาตสัมปทานสำหรับการสำรวจน้ำมัน ก๊าซ หรือแร่ และวางแผนโครงการอุตสาหกรรมขนานใหญ่โดยไม่คำนึงความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม”
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนสถานที่ทางธรรมชาติ 197 แห่งและแบบผสมผสาน 32 แห่งใน 96 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับสถานที่ทางวัฒนธรรม 802 แห่ง
สถานที่ทางธรรมชาติและแบบผสมผสาน 229 แห่ง ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศที่สถานที่เหล่านั้นถูกพบ ประกอบด้วยอุทยานและเขตสงวนแห่งชาติ ป่า แนวปะการัง เกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง
แต่ในจำนวนสถานที่ 144 แห่งที่ถูกให้ความสำคัญโดย WWF เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย ระบบนิเวศปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกคุกคามจากทั้งการทำเหมืองและการขนส่งทางเรือ
ในสหรัฐฯ อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอนถูกคุกคามโดยเขื่อนหรือการใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืน
ส่วนมาชูปิกชู ป้อมปราการของชนเผ่าอินคาสมัยศตวรรษที่ 15 ซึ่งถูกยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี 1983 ถูกคุกคามโดยการตัดไม้ WWF ระบุ
รายงานชิ้นนี้ระบุว่า สัมปทานน้ำมันหรือก๊าซได้รับการอนุญาตใน 40 สถานที่และสัมปทานเหมืองแร่ใน 42 สถานที่
สถานที่ 28 แห่งถูกคุกคามจากเขื่อนหรือการใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืน อีก 28 แห่งจากการตัดไม้เถื่อน 2 แห่งจากการทำประมงเกิดขีดจำกัด และ 20 แห่งจากการก่อสร้างถนนและทางรถไฟ หลายแห่งถูกคุกคามจากมากกว่าหนึ่งอย่าง
หลายประเทศถูกคาดหวังให้แสดงความรับผิดชอบภายใต้อนุสัญญามรดกโลก (World Heritage Convention) ที่จะปกป้องสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายในพรมแดนของตน