อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.โผล่หนุนสร้างเขื่อนแม่วงก์ เรียกร้อง “ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 สั่งให้สร้างด่วน อ้างสำรวจล่าสุดมีประชาชนหนุน 79%
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีวันนี้ (15 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายโสภณ พรโชคชัย ผู้ประสานงานกลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน นำคณะทำงานในกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ให้สำเร็จ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อคือ 1. ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยด่วน 2. ขอให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยห้ามให้กลุ่มเอ็นจีโอหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดใช้กฎหมู่ขัดขวางการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ 3. ให้มีการทำประชามติเพื่อให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวฯ
นายโสภณกล่าวว่า จากการนำทีมงานสำรวจในพื้นที่รอบที่ 3 ช่วงวันที่ 16-17 ม.ค. 2559 พบว่ามีประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 79% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อ 2-3 ต.ค. 2559 ที่เห็นด้วย 69% ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ค. 2557 เพิ่มขึ้นจำนวน 71% ส่วนที่ชาวบ้านเห็นด้วยมากขึ้นเพราะว่าชาวบ้านเรียนรู้เรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการชดเชยให้ทุกปีหลายร้อยล้านบาท และส่วนยังไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นคนในเมืองไม่ได้อยู่ในพื้นที่หรือทำนาทำไร่ และถูกทำให้เข้าใจผิด โดยมีการอ้างว่าจะทำลายป่าไม้และที่อยู่ของเสือโคร่ง ได้นำรูปเสือโคร่งที่มีโลโก้ของ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในภาพและอ้างว่ามีการพบเสือในพื้นที่แม่วงก์ซึ่งว่ายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีเสือเพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะอยู่ไม่ได้ เพราะเสือคงไม่สามารถเดินออกจากป่าลึกได้ ดังนั้นภาพนี้เป็นภาพโกหก รวมทั้งยังระบุว่ามีนกยูงนั้นก็เป็นการสร้างภาพเพราะนกยูงเหล่านั้นถูกจับมาเลี้ยงเท่านั้น
“เอ็นจีโอชอบสร้างกระแสดรามา เพราะการสร้างเขื่อนไม่ได้ทำลายป่า แต่เขื่อนจะช่วยให้แถวนั้นมีความชุ่มชื้นมากขึ้นอาหารป่ามีมากขึ้น ชาวบ้านจะได้ประโยชน์เพราะทำไฟฟ้าก็ได้ ทำประปาก็ได้ ประมงก็ได้ แม้ผมจะไม่ได้เป็นคนในพื้นที่แต่ผมก็ลงทุนสำรวจเองทุกอย่างเพื่อประโยชน์กับส่วนรวมไม่ได้หวังว่าจะไปหาเสียงอะไร”
อนึ่ง นายโสภณเคยสมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ในหมายเลข 4 ได้คะแนน 1,144 และช่วงหลังการรัฐประหารโดย คสช. นายโสภณถูก พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญเข้าพบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ