xs
xsm
sm
md
lg

ภาพดาวเทียมชี้เกาหลีเหนืออาจเตรียม “สกัดพลูโตเนียม” เพื่อผลิตระเบิดนิวเคลียร์เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน (แฟ้มภาพ - รอยเตอร์)
เอเอฟพี - ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเผยให้เห็นกิจกรรมที่น่าสงสัยบริเวณโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน (Yongbyon) ของเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการสกัดพลูโตเนียมเพื่อผลิตเป็นระเบิดนิวเคลียร์ สถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เผยวันนี้ (5 เม.ย.)

การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมชุดนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มควันจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ซึ่งใช้สำหรับเพิ่มอุณหภูมิห้องปฏิบัติการทางเคมีรังสีภายในโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน

ห้องปฏิบัติการที่ว่านี้ถูกใช้เพื่อแปรสภาพพลูโตเนียมด้วยเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ให้กลายเป็นวัสดุฟิสไซล์เกรดอาวุธ

นักวิจัยจากสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า กลุ่มควันที่พวยพุ่งออกมาจากโรงไฟฟ้า “จะแปลว่าการสกัดพลูโตเนียมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หรืออยู่ระหว่างเตรียมการก็ยังสรุปไม่ได้แน่นอน”

อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้อ้างคำเตือนของ เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวไว้ไม่นานมานี้ว่า เกาหลีเหนืออาจมีความพร้อมมากพอที่จะสกัดพลูโตเนียมเกรดอาวุธจากแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์

รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ระงับปฏิบัติการ ณ โรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนในปี 2007 ภายใต้ข้อตกลงกับนานาชาติที่เสนอให้เปียงยางรื้อถอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อแลกกับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทว่ารัฐบาลเปียงยางได้เริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ของตนใหม่อีกครั้ง หลังจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์รอบ 3 ในปี 2013

ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือน ม.ค. โดยสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ อีกแห่งพบว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยองบยอนยังใช้งานได้ไม่เต็มกำลัง แต่หากสามารถเดินเครื่องแบบเต็มสูบจะสามารถผลิตพลูโตเนียมเกรดอาวุธได้ราวๆ 6 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งมากพอที่จะผลิตเป็นระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก

เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเปียงยางอ้างว่าสิ่งที่นำไปทดลองนั้นเป็น “ระเบิดไฮโดรเจน” ทว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือคำกล่าวอ้างนี้ เนื่องจากอานุภาพของการระเบิดยังห่างไกลจากอาวุธนิวเคลียร์ความร้อนที่สมบูรณ์แบบมากนัก

ระเบิดไฮโดรเจนซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์แบบความร้อน (thermonuclear) จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การระเบิดมีอานุภาพรุนแรงยิ่งกว่าระเบิดที่ใช้เชื้อเพลิงพลูโตเนียม หรือยูเรเนียมเพียงอย่างเดียว
ที่ตั้งของโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนในเกาหลีเหนือ

กำลังโหลดความคิดเห็น