xs
xsm
sm
md
lg

“แฟ้มลับปานามา”โยงใยปูติน พัวพันเงินกู้สกปรก 2 พันล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (คนกลาง) กับเพื่อนสนิทอย่าง  เซอร์เก โรลดูกิน (คนซ้าย) ถูกแฉใน “แฟ้มลับปานามา” ว่ามีส่วนพัวพันกับการทำธุรกรรมทางเงินที่ไม่โปร่งใสถึง 2 พันล้านดอลลาร์
เอเจนซีส์ – เอกสารลับที่รั่วไหลจากปานามาโยงโยข้อตกลงต่างแดนและเงินกู้มูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ไปสู่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กับคนวงในใกล้ชิดที่รวยอู้ฟู่จากเงินเหล่านี้ ขณะที่โฆษกผู้นำแดนหมีขาวโบ้ยว่า ข่าวลบต่างๆ นานาเป็นแผนการโจมตีด้วยข้อมูลของบรรดาสปายตะวันตก

แม้ไม่มีชื่อประมุขวังเครมลินปรากฎในบันทึกใดๆ แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาเปิดเผยสายสนกลในที่เหล่าสหายของปูตินโกยเงินนับล้านจากข้อตกลงที่ดูเหมือนไม่มีทางเป็นไปได้หากไม่ได้รับการอุปถัมป์จากเขา

แฟ้มข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารกว่า 11 ล้านหน้า ซึ่งหลุดจากฐานข้อมูลของ "มอสแส็ก ฟอนเซกา" บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศอันดับ 4 ของโลกที่มีฐานในปานามา ซึ่งเปิดโปงสารพัดวิธีการที่มหาเศรษฐีและผู้มีอิทธิพลแสวงหาประโยชน์จากกลไกภาษีลับต่างแดน

เส้นทางดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในปานามา ผ่านรัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และไซปรัส โดยเอกสารจากปานามาได้บ่งชี้ไปที่ เซอร์เก โรลดูกิน เพื่อนสนิทที่แนะนำให้ปูตินได้รู้จักและแต่งงานกับ “ลุดมิลา” ทั้งยังเป็นพ่อทูนหัวของมาเรีย ลูกสาวคนโตของผู้นำแดนหมีขาว

โรลดูกินเป็นนักดนตรีมืออาชีพที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมสินทรัพย์อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์อย่างลับๆ เนื่องจากเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว เขาปฏิเสธในเอกสารที่ส่งถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กว่า ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับบุคคลสำคัญในรัสเซีย รวมทั้งไม่ได้ทำธุรกิจใดๆ

ถึงกระนั้น เอกสารที่รั่วไหลได้แฉว่า โรลดูกินถือหุ้น 12.5% ในวิดีโอ อินเตอร์เนชันแนล บริษัทโฆษณาทางทีวีรายใหญ่สุดของรัสเซียที่มีรายได้ปีละกว่า 800 ล้านปอนด์

มิตรสนิทของปูตินผู้นี้ยังถือหุ้น 3.2% ของ “รอสซิยา” ธนาคารเอกชนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ถูกขนานนามว่า “ธนาคารที่เป็นพรรคพวกของปูติน” ซึ่งถูกอเมริกาคว่ำบาตรหลังจากรัสเซียบุกยูเครนในปี 2014

สินทรัพย์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกทางการเงินที่โยงใยมากมายโดยมีธนาคารรอสซิยาเป็นศูนย์กลาง

ธนาคารแห่งนี้บริหารโดย “ยูริ โควัลชัค” ที่อเมริกากล่าวหาว่าเป็น “นายธนาคารส่วนตัว” ของเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งรวมถึงปูตินด้วย เอกสารลับจากปานามาเปิดโปงว่า โควัลชัคและธนาคารรอสซิยา โอนเงินอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ไปยังนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษในต่างแดนชื่อว่า แซนดัลวูด คอนติเนนตัล

กองทุนเหล่านี้มาจากเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหลายรายการจากธนาคาร “รัสเซียน คอมเมอร์เชียล แบงก์” (อาร์ซีบี) ในไซปรัสและธนาคารของรัฐอีกหลายแห่ง โดยเอกสารของมอสแส็ก ฟอนเซกาไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดแบงก์เหล่านี้จึงตกลงขยายวงเงินกู้ที่ไม่ปกติ

เงินสดบางส่วนที่ได้รับจากอาร์ซีบีถูกส่งกลับไปปล่อยในรัสเซียโดยคิดดอกเบี้ยสูงมาก ผลลัพธ์คือบัญชีลับในสวิสโกยกำไรมหาศาล

เงินสดบางส่วนยังโอนให้คนใกล้ชิดปูตินโดยตรงในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากเพียง 1% โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อีกทั้งไม่มีความชัดเจนว่า มีการชำระคืนเงินกู้เหล่านี้หรือไม่

ปี 2010 และ 2011 แซนดัลวูดปล่อยกู้ 11.3 ล้านดอลลาร์ให้บริษัทนอกประเทศชื่อว่า โอซอน ที่เป็นเจ้าของสกีรีสอร์ทหรู ไอโกรา ในเลนินกราด ซึ่งเป็นของโควัลชัคและบริษัทไซปรัส

18 เดือนหลังการปล่อยกู้ ปูตินใช้ไอโกราเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานแคเทอรินา กับเจ้าบ่าว คิริลล์ ชามารอฟ ลูกชายของเพื่อนเก่าอีกคน โดยที่ข่าวคราวงานวิวาห์นี้เพิ่งเป็นที่รับรู้กันเมื่อปีที่แล้ว

หนังสือพิมพ์ ซุดดอยต์ช ไซตุง ของเยอรมนีได้รับเอกสารลับชุดนี้จากแหล่งข่าวนิรนาม และได้แบ่งปันให้สื่อมวลชนทั่วโลกผ่านทางสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ), หนังสือพิมพ์การ์เดียนและบีบีซีของอังกฤษ

เอกสารเหล่านี้เปิดเผยกลวิธีที่เครือข่ายของปูตินใช้ในการยักย้ายเงินสดออกนอกประเทศ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงหุ้นปลอมที่มีการซื้อขายย้อนหลัง ค่าธรรมเนียมบริการ “ให้คำปรึกษา” ที่กำกวมมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และการจ่ายเงินก้อนใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น “ค่าชดเชย” ข้อตกลงหุ้นที่ถูกกล่าวหาว่า ยกเลิกโดยผิดสัญญา รวมทั้งการที่บริษัทของโรลดูกินซื้อสิทธิ์ในหนี้มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ด้วยเงินแค่ 1 ดอลลาร์

เจ้าหน้าที่ของธนาคารรอสซิยาในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่งคำแนะนำเกี่ยวกับข้อตกลงลับเหล่านี้ไปยังคนกลางที่ไว้ใจได้ ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายในซูริค จากนั้นบริษัทดังกล่าวจึงจัดการให้มอสแส็ก ฟอนเซกาจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาบังหน้า โดยมีกรรมการบริษัทชาวปานามาที่เป็นนอมินี คอยลงนามอนุมัติข้อตกลงต่างๆ

ทั้งนี้ การคาดเดาทรัพย์สินส่วนตัวของปูตินยุติลงหลังจากมีรายงานรั่วไหลออกมาในปี 2007 จากคณะบริหารของรัสเซียเองว่า เขามีทรัพย์สินอย่างน้อย 40,000 ล้านดอลลาร์

สามปีต่อมา ข้อความตัวอักษรที่เป็นข้อมูลลับที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทูตกับกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา บ่งชี้ว่า ปูตินอาจถือครองทรัพย์สินผ่านตัวแทน เนื่องจากโดยตัวเขาเองนั้นไม่ได้ครอบครองสิ่งใดอย่างเป็นทางการ แต่สามารถหยิบฉวยทรัพย์สินของผองเพื่อนที่ควบคุมการผลิตน้ำมันและก๊าซ รวมถึงทรัพยากรอุตสาหกรรมของรัสเซีย มาใช้ได้ตามใจชอบ

เอกสารจากปานามายังเปิดเผยว่า หลังเดือนตุลาคม 2012 บรรดาพรรคพวกปูตินเกิดวิตกจริตโดยไม่ทราบสาเหตุ นำมาซึ่งการปิดแซนดัลวูดและโยกปฏิบัติการไปยังนิติบุคคลนอกประเทศอีกแห่งที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ด้วยชื่อบริษัท โอวี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

หนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโอวีเป็นของ มิคาอิล เลซิน อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ดูแลกิจการด้านสื่อของปูติน ซึ่งภายหลังตกกระป๋องและถูกพบเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ด้วยสภาพมีบาดแผลถูกทุบที่ศีรษะในโรงแรมที่วอชิงตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เครือข่ายของปูตินล้วนกระทำการตรงกันข้ามกับที่ผู้นำรัสเซียได้เรียกร้องให้พลเมืองนำเงินสดที่ซ่อนอยู่นอกประเทศกลับบ้าน อาทิ เกนนาดี ทิมเชนโก เพื่อนที่คบหากับปูตินมา 30 ปี ผู้ถูกอเมริกาแซงก์ชันเมื่อสองปีก่อน

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกของปูตินปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่พาดพิงถึงประธานาธิบดี ทั้งยังอ้างว่าหน่วยงานสายลับตะวันตกอยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสารต่อปูตินเพื่อบ่อนทำลายรัสเซียก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

ถึงกระนั้น คาเรน ดาวิชา นักรัฐศาสตร์อเมริกัน มองว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เหล่าเพื่อนพ้องปูตินรวยล้นฟ้าได้โดยไม่มีประธานาธิบดีรัสเซียให้การอุปถัมป์


กำลังโหลดความคิดเห็น