xs
xsm
sm
md
lg

ข้อตกลงเชงเกนสะเทือน! เยอรมนีสั่ง “ตรวจพาสปอร์ต-คุมเข้มชายแดน” หลังผู้อพยพล้นทะลักจนเอาไม่อยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตำรวจเยอรมนีกำลังตรวจค้นแท็กซี่ที่เมืองฟรีลาสซิงทางตอนใต้ซึ่งติดกับพรมแดนออสเรตรียเมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) หลังรัฐบาลมีคำสั่งด่วนให้ใช้มาตรการตรวจหนังสือเดินทาง
เอเอฟพี - รัฐบาลเยอรมนีสั่งระงับการเดินรถไฟทั้งไปและกลับจากออสเตรียเป็นการชั่วคราว และเริ่มใช้มาตรการตรวจหนังสือเดินทางตั้งแต่เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) หลังมีคลื่นผู้อพยพไหลทะลักเข้าประเทศอย่างไม่ขาดสายจนไม่สามารถรับมือได้ ในขณะที่รัฐมนตรีสหภาพยุโรปเตรียมเปิดประชุมด่วนเพื่อหารือแนวทางกระจายความรับผิดชอบในการดูแลผู้อพยพไปยังชาติสมาชิก

มาตรการตรวจสอบหนังสือเดินทางถูกบังคับใช้กับผู้ที่จะผ่านเข้าเยอรมนีทางพรมแดนที่ติดกับออสเตรีย หลังมีคำสั่งด่วนจากกรุงเบอร์ลินเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ค่ำวานนี้ (13) ตำรวจเมืองเบียร์ได้ตั้งด่านตรวจค้นรถยนต์และคนเดินเท้าบริเวณจุดผ่านแดนฟรีลาสซิงในรัฐบาวาเรีย ซึ่งผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีชายชาวซีเรีย 3 คนถูกเจ้าหน้าที่เยอรมันกักตัวไว้เป็นกลุ่มแรก

รัฐมนตรีมหาดไทยอียูเตรียมเปิดประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ (14) คาดว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างหนักเกี่ยวกับแผนของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ต้องการให้กระจายผู้ลี้ภัย 160,000 คนไปยังชาติสมาชิกอย่างทั่วถึง

แม้ชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยจะสงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่หนีภัยสงครามมาจากซีเรีย แต่รัฐบาลยุโรปตะวันออกหลายชาติยังยืนกรานไม่เห็นด้วยกับระบบโควตาที่บังคับให้แต่ละประเทศต้องยอมรับผู้ลี้ภัยในจำนวนที่กำหนด

มาตรการตรวจสอบหนังสือเดินทางนอกจากจะเป็นสัญญาณ “ยูเทิร์น” ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศจะเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยซีเรียอย่างไม่มีเกี่ยงงอนแล้ว ยังส่งผลกระเทือนไปถึง “ข้อตกลงเชงเกน” ซึ่งเปิดให้พลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง และเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่สหภาพยุโรปเริ่มใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

“เราทำเช่นนี้ก็เพื่อยับยั้งคลื่นผู้อพยพที่ไหลเข้ามายังเยอรมนี และเพื่อให้ระบบผ่านแดนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย” โทมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี เผยต่อสื่อมวลชน พร้อมระบุว่า ผู้ที่ต้องการขอลี้ภัยจะต้องเข้าใจว่า “พวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะรับความช่วยเหลือจากรัฐไหน”

เยอรมนียังได้สั่งระงับการเดินรถไฟทั้งไปและกลับจากออสเตรียเป็นการชั่วคราว
ตำรวจเมืองเบียร์ตรวจค้นร่างกายและสัมภาระผู้อพยพที่เมืองฟรีลาสซิง ซึ่งติดกับพรมแดนออสเตรีย เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.)
นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของกรุงเบอร์ลิน โดยตนเองก็ได้มีคำสั่งให้ก่อกำแพงสูงกั้นพรมแดนฝั่งที่ติดกับเซอร์เบียเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพแล้ว

“เราเข้าใจว่ากรุงเบอร์ลินจำเป็นต้องทำเช่นนี้ เพื่อปกป้องค่านิยมของเยอรมนีและยุโรปไว้” ออร์บาน ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์บิลด์

สาธารณรัฐเช็กก็ประกาศจะเสริมกำลังป้องกันชายแดนฝั่งที่ติดกับออสเตรียเช่นกัน

มาตรการแข็งกร้าวของยุโรปมีขึ้น ขณะที่สื่อกรีซได้รายงานเหตุเรือผู้อพยพล่มกลางทะเลเมื่อเช้าวันอาทิตย์ (13) ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัย 34 คน รวมถึงทารก 4 คน และเด็ก 11 คน จมน้ำเสียชีวิต

การหารือเบื้องต้นระหว่างผู้แทนสหภาพยุโรป 28 ชาติเพื่อจัดทำร่างเอกสารสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันนี้ (14) ปิดฉากลงโดยยังไม่สามารถตกลงกันได้

แหล่งข่าวอียูระบุว่า บรรดานักการทูตจะเริ่มต้นหารือกันอีกครั้งในเช้าวันนี้ (14) โดยฮังการียืนกรานให้สหภาพยุโรปต้องมีมาตรการคุมเข้มพรมแดนชั้นนอก และกระจายผู้อพยพออกไปมากขึ้น

แม้เยอรมนีและฝรั่งเศสจะสนับสนุนการบรรเทาภาระของ “ประเทศหน้าด่าน” เช่น อิตาลี กรีซ และฮังการี แต่การจัดโควตาให้แต่ละชาติต้องรับผู้อพยพไปดูแลยังคงถูกต่อต้านอย่างหนักจากประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และโรมาเนีย

นายกรัฐมนตรีโบฮูสลาฟ โซบ็อตกา แห่งสาธารณรัฐเช็ก ยืนยันว่า ประเทศของเขาจะไม่ยอมรับระบบโควตาผู้อพยพซึ่ง “ไม่เวิร์ค” ในขณะที่สโลวาเกียก็ไม่พอใจกับข้อผูกมัดเช่นนั้น

ด้านฮังการีซึ่งรับผู้อพยพเข้ามาอีก 4,330 คนเมื่อวันเสาร์ (12) กำลังเร่งสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเซอร์เบียให้แล้วเสร็จ ก่อนที่กฎหมายลงโทษผู้หลบหนีเข้าเมืองด้วยการเนรเทศหรือถึงขั้นจำคุกจะเริ่มมีผลบังคับในวันพรุ่งนี้ (15)

ผู้อพยพจำนวนมากที่ยังติดค้างอยู่ในฮังการีเริ่มหวาดกลัวว่าจะเดินทางไปไม่ถึงเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่พวกเขาหวังจะไปตั้งต้นชีวิตใหม่

“ผมไม่อยากอยู่ในฮังการี... ถ้าเรายอมให้พวกเขาพิมพ์ลายนิ้วมือ จะถูกส่งกลับมาที่นี่อีกหรือเปล่า” ยูซุฟ หนุ่มชาวซีเรียวัย 20 ต้นๆ ให้สัมภาษณ์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองรอซเก (Roszke)
โทมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพ เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.)
ตามกฎหมายสหภาพยุโรป ประเทศแรกที่ผู้อพยพเดินทางเข้ามาถึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการรับคำร้องขอลี้ภัย ทว่าเยอรมนีได้ขอให้ระงับกฎดังกล่าวสำหรับกรณีผู้ลี้ภัยซีเรีย

คำสั่งของ แมร์เคิล ทำให้เมืองเบียร์ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอันมาก แต่กลับกลายเป็นภาระหนักแก่รัฐบาลส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องจัดการกับคลื่นผู้อพยพหลายหมื่นคนที่ไหลทะลักเข้าพรมแดนอย่างปัจจุบันทันด่วน

เจ้าหน้าที่ในเมืองมิวนิกยอมรับว่า พวกเขาหมดปัญญาที่จะรับผู้ลี้ภัยเพิ่มอีก หลังจากวันเสาร์ (12) แค่วันเดียวมีผู้อพยพไหลเข้ามามากกว่า 13,000 คน

นายกฯ แมร์เคิล เอ่ยเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า ข้อตกลงยกเว้นหนังสือเดินทางเชงเกนที่บังคับใช้ในยุโรป 26 ประเทศอาจตกอยู่ในความเสี่ยง ถ้าอียูยังไม่ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตคลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่

“หากเราไม่กระจายความรับผิดชอบกันอย่างยุติธรรม ข้อตกลงเชงเกนจะกลายเป็นปัญหาแน่นอน ซึ่งเราคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น” แมร์เคิลกล่าว

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) รายงานเมื่อวันศุกร์ (11) ว่า ปีนี้มีผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรปแล้วกว่า 430,000 คน และมีอยู่ 2,748 คนที่สูญหายหรือเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง

ด้านสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) 57 ประเทศก็เรียกร้องให้องค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) พิจารณาส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยังซีเรีย ซึ่งอาจช่วยสกัดคลื่นผู้อพยพที่จะไปยังสหภาพยุโรปได้บ้าง
ผู้อพยพกำลังรอบัสอยู่ที่สถานีรถไฟหลักในเมืองมิวนิก ทางตอนใต้ของเยอรมนี เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.)

กำลังโหลดความคิดเห็น