รอยเตอร์ - คณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันจันทร์(7ก.ย.) แถลงแพ็กเกจมาตรการมูลค่า 500 ล้านยูโร สำหรับบรรเทาความทุกข์ยากของเกษตรกรที่ต้องประสบปัญหาสินค้าด้านการเกษตรตกต่ำ ซึ่งมีต้อตอบางส่วนจากข้อห้ามส่งออกไปยังรัสเซีย สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของอียูต่อมอสโก
วิกฤตดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดระลอกคลื่นแห่งการประท้วง ซึ่งในวันจันทร์(7ก.ย.) มีเกษตรกรเกือบ 5,000คนและรถแทรกเตอร์มากกว่า 1,000 คัน มุ่งหน้ามาถึงกรุงบรัสเซล์ ประเทศเบลเยียม เมืองที่สภาการเกษตรของอียูกำลังจัดประชุมฉุกเฉินกันอยู่
"แพ็กเกจนี้จะจัดสรรเงิน 500 ล้านยูโรจากกองทุนอียู สำหรับนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรในทันที ที่คือมาตรการตอบสนองที่กำยำและเด็ดขาด" นายไจร์คี คาไทเนน รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว
แพ็กเกจนี้ถูกนำเข้าหารือในที่ประชุมสภาการเกษตรของอียู ซึ่งประกอบด้วยเหล่ารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของประเทศสมาชิกในวันจันทร์(7ก.ย.) แต่รายละเอียดบางอย่างยังไม่ได้ข้อสรุป "เรายินดีต่อปฏิกิริยาตอบสนองในขั้นต้น(จากคณะรัฐมนตรี)" ดาเนียล โรซาริโอ โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว
คณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าพวกเขากำลังแสวงหาหนทางช่วยเกษตรกรที่เงินสดขาดมือ สร้างเสถียรภาพแก่ตลาดและปรับปรุงการทำงานของห่วงโซอุปทาน
แผนดังกล่าวคือเปิดทางให้ชาติสมาชิกต่างๆชำระเงินล่วงหน้าบางส่วนแก่เกษตรกร ขณะที่ทางคณะกรรมาธิการบอกว่ากำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรปEuropean Investment Bank: EIB)เพื่อกำหนดตราสารทางการเงินที่การชำระคืนจะเชื่อมโยงกับราคาสินค้า
อัลเบิร์ค แจน มาต ประธานกลุ่มเกษตรกรโคปา บอกว่ารัสเซียคือหนึ่งในตลาดหลักของอียูและหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตร สืบเนื่องจากความขัดแย้งวิกฤตยูเครนเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ต้องสูญรายได้จากการส่งออกภาคการเกษตรราว 5,500 ล้านยูโร "มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ภาคการเกษตรของเรากลับได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เกษตรกรอียูต้องมาชดใช้ให้กับการเมืองระหว่างประเทศ" เขากล่าว
เหล่าเกษตรกรกำลังเผชิญกับวิกฤตกระแสเงินสดที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ "ตอนนี้คือช่วงต้นเดือนกันยายน เรายังไม่ได้จ่ายเงินที่ค้างชำระสำหรับช่วงฤดูร้อนและคุณจะเห็นผลิตภัณฑ์นมหายไปอย่างมากตลอดช่วงฤดูหนาว จนกว่าเราจะนำเงินสดไปวางโดยทันที" แมนเซล เรย์มอนด์ แกนนำกลุ่มเกษตรกรโคปากล่าว
เกษตรกรอียูขายนมได้ราคาน้อยลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยเฉลี่ยราว 20 เปอร์เซนต์ โดยเหลือแค่ 30 เซนต์ยูโรต่อลิตร ขณะที่ประเทศต่างๆในแถบบอลติก กลุ่มชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซียสาหัสที่สุด ราคาร่วงลงมาเหลือแค่ราวๆ 20 เซนต์ยูโรเท่านั้น
ทางคณกรรมาธิการบอกว่ายังไม่ได้สรุปขั้นสุดท้ายว่าชาติใดบ้างจะได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุน แต่ยอมรับว่ามีการพิจารณาเป็นพิเศษต่อเหล่าชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากพัฒนาการของตลาดมากที่สุด อย่างไรก็ตามทางอียูปฏิเสธเข้าแทรกแซงราคาผลิตภันฑ์นม ตามคำเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกร แม้มันได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและโปรตุเกส