xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์เผยพืดปะการังมรดกโลก “เกรทแบริเออร์รีฟ” ฟอกขาวรุนแรงเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เกรทแบริเออร์รีฟ ซึ่งเป็นพืดหินปะการังยาวที่สุดบนพื้นพิภพ กำลังเกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และมีปะการังเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รอดจากความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ขึ้นบินสำรวจทางอากาศเผยวันนี้ (29 มี.ค.)

จากการบินสำรวจแนวปะการัง 520 จุด ระหว่างชายหาดเมืองแคนส์ (Cairns) และช่องแคบทอร์เรสทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ พบว่า แนวปะการังซึ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่

“วิกฤตครั้งนี้จะทำให้ เกรทแบริเออร์รีฟ ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป” เทอร์รี ฮิวจ์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว ออสเตรเลียน บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน

“พืดปะการังความยาวนับพันกิโลเมตรทางตอนเหนือของ เกรทแบริเออร์รีฟ เกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรง”

เมื่อสัปดาห์เศษ ๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียก็ได้ออกมายอมรับว่า การฟอกขาวของแนวปะการัง เกรทแบริเออร์รีฟ จัดว่าอยู่ในขั้น “ร้ายแรง” ทว่า ปะการังทางตอนใต้ยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงพอควร

การฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนให้ปะการังกลายเป็นสีขาว หรือทำให้สีสันของมันซีดจางลง โดยเข้าใจกันว่า เนื่องจากปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และปะการังอาจตายได้ในที่สุดหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจึงเป็นภัยคุกคามแหล่งที่มาอันมีค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ, การท่องเที่ยว และการประมง

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่อถูกรบกวนจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ อีก

ฮิวจส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานแก้ไขวิกฤตปะการังฟอกขาวแห่งชาติ (Australia’s National Coral Bleaching Taskforce) เห็นด้วยว่าแนวปะการังทางตอนใต้ “เลี่ยงจากความเสียหายมาได้ เนื่องจากท้องฟ้าที่มีเมฆมากช่วยให้อุณหภูมิน้ำทะเลเย็นลง” ทว่าแนวปะการังด้านทิศเหนือซึ่งอยู่ห่างไกลชุมชน และยังคงความพิสุทธิ์ ได้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างรุนแรงแทบไม่เว้นแม้แต่จุดเดียว

“เราบินสำรวจแนวปะการังยาว 4,000 กิโลเมตร ที่ยังคงความบริสุทธิ์อยู่ และพบว่ามีปะการังเพียง 4 จุดเท่านั้นที่ไม่มีอาการฟอกขาวให้เห็น”

“ปรากฏการณ์ฟอกขาวครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2002 และ 1998”

เจมส์ เคร์รี ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกอีกคนหนึ่ง ระบุว่า หลังจากนี้คงจะต้องมีการบินสำรวจเพิ่มเติม แต่เท่าที่เห็นสภาพแนวปะการังตอนเหนือของ เกรทแบริเออร์รีฟ นับว่า เสียหายรุนแรงถึงระดับ 4 ซึ่งหมายความว่าปะการังเกิดการฟอกขาวมากถึง 60%

คณะนักวิจัยชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าปะการังจะล้มตายมากน้อยเท่าไหร่ เพราะโดยธรรมชาติแล้วปะการังจะสามารถฟื้นตัวได้เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลลดลง และสาหร่ายเซลล์เดียวเพิ่มจำนวนขึ้น

เกรทแบริเออร์รีฟ เวลานี้กำลังเผชิญปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน ทั้งภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ น้ำเสียจากการเกษตร การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และการระบาดของดาวมงกุฎหนาม ซึ่งกินปะการังเป็นอาหาร

ปีที่แล้ว เกรทแบริเออร์รีฟ เกือบถูกขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย แต่รอดมาได้หลังจากที่ออสเตรเลียเร่งจัดทำแผนปรับปรุงสุขภาวะของพืดหินปะการังนี้ให้ดีขึ้นในตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีข้างหน้า



กำลังโหลดความคิดเห็น