xs
xsm
sm
md
lg

อิเหนาประท้วงปักกิ่งรุกล้ำน่านน้ำ ฉุนยามฝั่งจีนขวางยึดเรือทำประมงเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - อินโดนีเซียเรียกทูตจีนเข้าพบเพื่อรับฟังการประท้วง กรณีเรือจีนลักลอบทำประมงบริเวณน่านน้ำแดนอิเหนาในทะเลจีนใต้ แต่เมื่อจะเข้ายึดกลับถูกเรือยามฝั่งจีนขัดขวาง ด้านปักกิ่งแถลงยืนยันว่าเรือประมงอยู่ในน่านน้ำของจีน พร้อมเรียกร้องให้จาการ์ตาปล่อยตัวลูกเรือที่จับไว้ทันที ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศระบุเหตุครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้นโยบายต่างประเทศอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลง

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แถลงในวันจันทร์ (21 มี.ค.) ว่าได้เรียกตัวแทนสถานทูตจีนในกรุงจาการ์ตาเข้าพบ เพื่อแสดงการประท้วงอย่างแข็งกร้าวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 มี.ค.) ที่เรือตรวจการณ์ของอินโดนีเซียพยายามยึดเรืออวนลากจีนที่รุกล้ำน่านน้ำนาตูนาและจับกุมลูกเรือจีน แต่ถูกเรือยามฝั่งของจีนขัดขวางด้วยการ “ชน” เรืออวนลากและดันกลับเข้าสู่ทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียสามารถควบคุมตัวลูกเรือจีนไว้ได้ 8 คน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เรืออวนลากลำดังกล่าวหาปลาอยู่ในเขตประมงของจีนก่อนที่จะถูกโจมตีและล่วงละเมิดโดยเรือติดอาวุธของอินโดนีเซีย ทำให้เรือยามฝั่งจีนต้องเข้าไปช่วย พร้อมกันนี้ปักกิ่งยังเรียกร้องให้ทางการอิเหนาปล่อยตัว รวมทั้งรับประกันความปลอดภัยของลูกเรือเหล่านั้นทันที

ซุน เว่ยเต๋อ เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนในกรุงจาการ์ตายังกล่าวว่า จีนพร้อมร่วมมือกับอินโดนีเซียเพื่อแก้ไขข้อพิพาทด้านประมงหรือกิจการทางทะเลผ่านการหารือและการเจรจา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นห่างจากหมู่เกาะนาตูนาประมาณ 4.3 กม. นอกชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของบอร์เนียวในทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีแซด) นอกชายฝั่งนาตูนาทับซ้อนเล็กน้อยกับบริเวณอาณาเขตกว้างที่จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

เมื่อวันอาทิตย์ (20) ซูซี ปุดเจียสตูตี รัฐมนตรีกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในอีอีแซด

จีนนั้นอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญและแหล่งที่อุดมด้วยก๊าซธรรมชาติและสัตว์น้ำเกือบทั้งหมด ทำให้มีข้อพิพาทกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากอ้างสิทธิทับซ้อนกัน

ที่ผ่านมา จีนและอินโดนีเซียไม่เคยมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยในบริเวณหมู่เกาะนาตูนาและทะเลรอบๆ หมู่เกาะแห่งนี้มาก่อน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าน่านน้ำบริเวณนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดริเยาของอินโดนีเซีย

ถึงกระนั้น สองชาติก็มึนตึงใส่กันเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่มาจากกรณีที่เรือประมงจีนลุกล้ำน่านน้ำแดนอิเหนา ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2013 เรือติดอาวุธของจีนเผชิญหน้ากับเรือตรวจการณ์ประมงของอินโดนีเซีย และเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวประมงจีนที่ถูกจับกุมในน่านน้ำนาตูนา ด้วยความกังวลในความปลอดภัย กัปตันเรืออินโดนีเซียจึงยอมทำตามคำขอของจีน

ย้อนกลับไปในปี 2010 เรือเพื่อการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของจีนบังคับให้เรือตรวจการณ์อินโดนีเซียปล่อยเรืออวนลากผิดกฎหมายของจีน

แอรอน คอนเนลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันโลวีในออสเตรเลีย มองว่า เหตุการณ์ล่าสุดค่อนข้างร้ายแรง โดยอ้างอิงการเผชิญหน้าสองครั้งก่อนในปี 2010 และ 2013 ที่อินโดนีเซียพยายามสงบปากสงบคำ เนื่องจากเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับจีน

แต่สำหรับคราวนี้ ซูซี ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากชาวอิเหนาจากการปราบปรามการลักลอบทำประมง กลับออกมาวิจารณ์ปักกิ่งอย่างเปิดเผย แถมจัดแถลงข่าวเพื่อป่าวประกาศเรื่องการเรียกตัวเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบ ทั้งที่โดยปกติแล้วการดำเนินการประท้วงทางการทูตเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ

คอนเนลลีเสริมว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้นโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาประธานาธิบดี โจโค วิโดโด พยายามรักษาสมดุลระหว่างความกังวลเรื่องทะเลจีนใต้กับความต้องการดึงดูดการลงทุนจากจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น