xs
xsm
sm
md
lg

‘ลีกาชิง’ เจ้าพ่อฮ่องกงบอก ศก.เลวร้ายสุดรอบ 20 ปี พร้อมค้านเต็มที่เรื่องแยกตัวจากจีนไปเป็นปท.เอกราช

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์/เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Li Ka-shing says Hong Kong economic conditions worst in two decades
By Asia Unhedged
17/03/2016

ลี กาชิง อภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง แถลงในฐานะประธานของ ซีเค ฮัตชิสัน โดยระบุว่าฮ่องกงกำลังเผชิญภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างสาหัสที่สุดในรอบ 20 ปี ในสภาพที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าปลีกต่างทำยอดขายตกต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกก็อยู่ในอาการอ่อนแอ สำหรับเรื่องที่มีผู้เสนอว่าฮ่องกงควรแยกตัวจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปเป็นเอกราชนั้น “เจ้าพ่อฮ่องกง”ผู้นี้กล่าวว่าเป็นแนวความคิดที่ห่างไกลความเป็นจริงเหลือเกิน และเชื่อว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ในสภาพที่ยอดซื้อขายในภาคอสังหาริมทรัพย์และในภาคการค้าปลีกต่างอยู่ในอาการทรุดตัว เมื่อผสมเข้ากับความอ่อนแอของเศรษฐกิจทั่วโลกเวลานี้ จึงกำลังทำให้ฮ่องกงต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจยากลำบากที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นกันในรอบ 20 ปีมานี้ทีเดียว ลี กาชิง อภิมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานของ ซีเค ฮัตชิสัน (CK Hutchison ) กล่าวในวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ที่ผ่านมา ระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับผลประกอบการในทั่วโลกของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.scmp.com/business/companies/article/1926412/li-ka-shing-labels-current-downturn-hong-kong-property-retail?utm_content=buffer5e841&utm_medium=social&utm_source=twitter.com&utm_campaign=buffer)

ในฮ่องกงนั้น ลีระบุว่าเศรษฐกิจกำลังประสบกับบางช่วงขณะที่ถือได้ว่าโหดหินสาหัสที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษทีเดียว โดยที่ยอดขายอสังหาริมทรัพย์และยอดขายทางด้านการค้าปลีก มีหลายๆ ช่วงเวลา เลวร้ายยิ่งกว่าในระหว่างฮ่องกงเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด “ซาร์ส” (Sars โรคระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันรุนแรง) เมื่อปี 2003 เสียอีก

ในรายงานของบริษัทที่ส่งไปแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ลี ยังระบุว่า “เศรษฐกิจโลกในปี 2015 ประสบกับแรงกดดันด้านเงินฝืดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกำลังส่งผลทำให้เกิดการพังครืนในราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง”

“นอกจากนั้น ความวูบวาบผันผวนในตลาดหลักทรัพย์, ตลาดตราสารหนี้, ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์, และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ยังอาจเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของการที่ยุโรปยังคงมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง, ความไม่แน่นอนทางการเมืองของทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น, ประเด็นปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและในเรื่องผู้ลี้ภัยของยุโรป, ตลอดจนความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและหลายภูมิภาคของแอฟริกาก็ล้วนแต่เพิ่มสูง”

อย่างไรก็ตาม เขาบอกกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ว่า “ผมมีความมั่นใจว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไป แต่ถ้าเขาถอนตัวออกไปจากอียู เราก็จะต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังตัวและลดการลงทุน (ในอนาคต) ของเราในสหราชอาณาจักร”

ซีเค ฮัตชิสัน ซึ่งประกอบธุรกิจหลายหลากตั้งแต่การดำเนินกิจการท่าเรือ และการค้าปลีก ไปจนถึงด้านพลังงานและการสื่อสารโทรคมนาคม ได้รายงานในวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ว่า มีกำไรสุทธิภายหลังผ่านการปรับตัวเลขเรียบร้อยแล้ว เป็นจำนวน 31,200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นรายงานรายได้เต็มทั้งปีครั้งแรกของบริษัทภายหลังจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งนี้ได้ทำการปรับโครงสร้างเมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขนี้ดีกว่าความเห็นจากการประมาณการของนักวิเคราะห์ 14 รายที่ ธอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters) ไปทำการสำรวจไว้ ซึ่งอยู่ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)

หมายเหตุผู้แปล

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ยังได้เสนอข่าวอีกชิ้นหนึ่ง (http://www.scmp.com/business/article/1926890/hong-kong-cant-go-it-alone-says-li-ka-shing) เมื่อวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) ซึ่งรายงานการแสดงทัศนะความคิดเห็นของ ลี กาชิง ต่อเรื่องที่นิตยสารรายเดือนของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮ่องกง ตีพิมพ์บทความซึ่งเสนอให้ฮ่องกงแยกตัวจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อเป็นประเทศเอกราช ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอไว้ในที่นี้:

ลีกาชิงเตือน ‘ฮ่องกงไม่สามารถเดินไปตามลำพังตัวเองได้”
โดย เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์

Hong Kong can’t go it alone, says Li Ka-shing
By South China Morning Post
17/03/2016

ลี กาชิง บุคคลผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของฮ่องกง พูดเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) เกี่ยวกับแนวความคิดที่จะประกาศให้ฮ่องกงเป็นประเทศเอกราชแยกตัวจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยระบุว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก อีกทั้งไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ดำรงอยู่เลยสำหรับการที่นครแห่งนี้จะสามารถก้าวเดินไปตามลำพังตนเองได้ (สำหรับเรื่องการเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นเอกราชนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง เจ้าหน้าที่จีนปฏิเสธเสียงเรียกร้องต้องการให้ ‘ฮ่องกง’ เป็นเอกราช http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000028582 -ผู้แปล)

ระหว่างพูดคุยกับสื่อมวลชน หลังจากการประกาศผลประกอบการของ 2 บริษัทแกนกลางของเขา ซึ่งได้แก่ ซีเค ฮัตชิสัน (CK Hutchison) และ ฉวง คง พร็อบเพอร์ตี้ (Cheung Kong Property) ลีบอกว่าเขาไม่คิดว่าประชาชนฮ่องกงส่วนใหญ่จะสนับสนุนแนวความคิดเรื่องแยกตัวไปเป็นประเทศเอกราช

“ผมเองโดยส่วนตัวแล้ว ซึ่งก็เหมือนกับประชาชนฮ่องกงส่วนใหญ่นั่นแหละ ไม่ได้ชื่นชอบแนวความคิดเรื่องการเป็นเอกราชจากแผ่นดินใหญ่เลย แนวความคิดเรื่องเอกราชนี่ดูเหมือนจะห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก”

ลี เคยเผชิญกับความโกรธเกรี้ยวจากสื่อของรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากเขาขายทรัพย์สินต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่ โดยสื่อเหล่านี้พากันตีพิมพ์เผยแพร่บทวิจารณ์กล่าวหาเขาว่ากำลังจะทอดทิ้งประเทศชาติ ขณะเดียวกันก็มีความเห็นในทางไม่ชื่นชมเป็นจำนวนมากปรากฏขึ้นบนสื่อสังคมต่างๆ ด้วยเช่นกัน

การออกมาแสดงความคิดเห็นของอภิมหาเศรษฐีผู้นี้ในคราวล่าสุดนี้ เกิดขึ้น 1 วันหลังจากที่มีเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกฎหมายจากปักกิ่งกล่าวแถลงปฏิเสธไม่ยอมรับเสียงเรียกร้องจากบางคนบางฝ่ายในฮ่องกง ที่อยากจะเปลี่ยนนครแห่งนี้ให้กลายเป็นรัฐอธิปไตยที่เป็นเอกราชในปี 2047 ซึ่งเป็นปีหมดอายุของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหราชอาณาจักร (Sino-British Joint Declaration)

ทั้งนี้ เฉียว เสี่ยวหยาง (Qiao Xiaoyang) ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ซึ่งก็คือรัฐสภาจีน อีกทั้งยังเคยเป็นประธานของคณะกรรมการกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law Committee สำหรับกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง เปรียบได้กับรัฐธรรมนูญของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ -ผู้แปล) ได้ออกมากล่าวเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า ฮ่องกงไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรเลยที่จะเป็นประเทศเอกราช

ลี ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับแผ่นดินใหญ่

“ถ้าฮ่องกงไม่มีการสนับสนุนของจีนแล้ว ผมเชื่อว่าดัชนีหุ้นฮั่งเส็งจะต้องหล่นลงมาอย่างน้อยที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์จากระดับในปัจจุบัน” ลี บอก

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลกลาง (ของจีน) ต้องการเสมอมาที่จะให้ฮ่องกงทำผลงานได้ดี” บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกงกล่าวย้ำ

เมื่อพูดถึงกระแสลัทธิท้องถิ่นนิยมซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฮ่องกง ลี บอกว่า “ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ถ้าคุณเป็นคนหนุ่ม ภรรยาในอนาคตของคุณอาจจะมาจากมองโกเลียใน (เขตปกครองตนเองระดับเทียบเท่ามณฑล ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของจีน) หรือจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนก็ได้ ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นจริงๆ เหลืออยู่มากมายอะไรนักแล้ว ประเทศหนึ่งก็คือประเทศที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

“นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก (ระหว่างการประชุมสภาปรึกษาการเมืองของประชาชนจีน และต่อด้วยการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงในสัปดาห์ที่แล้ว -ผู้แปล) ในเรื่อง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เขาไม่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้หรอก ถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบนี้”

ลี ยังเตือนพวกนักการเมืองของฮ่องกง อย่าได้ทำอะไรที่เป็นอันตรายต่ออนาคตของนครแห่งนี้

“ไม่ว่าคุณจะอยู่ในพรรคการเมืองอะไรก็ตามที คุณก็จะต้องมีทัศนะทางการเมืองแบบที่ว่า ต้องไม่ทำอะไรที่จะเป็นภัยอันตรายต่อฮ่องกงมากขึ้นไปกว่านี้” เขากล่าว พร้อมกับพูดต่อไปว่า ในบางแง่บางมุม เวลานี้ฮ่องกงถูกแซงถูกทิ้งให้ล้าหลังประเทศอื่นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น