xs
xsm
sm
md
lg

‘นายกฯหลี่’ระบุ ‘สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ’จะก้าวหน้าไปไม่ว่าใครขึ้นครอง ‘ทำเนียบขาว’

เผยแพร่:   โดย: เสียงอเมริกา/กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China-US ties will progress no matter who wins White House: Li
By AT Editor
16/03/2016

ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำปีเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ที่ผ่านมา เขาแสดงการรับทราบเรื่องที่การรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสหรัฐฯปีนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์จีนกันอย่างหนักหน่วง แต่เขายืนยันว่า ถึงแม้ประเทศทั้งสองมีความผิดแผกแตกต่างกันมาก ทว่าก็มีผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งมีน้ำหนักมหาศาลกว่าความแตกต่างนักหนา เขาจึงเชื่อว่าไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไปก็ตามที ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯก็จะยังคงพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้

ประเทศจีนตกเป็นจุดรวมศูนย์ของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง บนเส้นทางการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีนี้ กระนั้นก็ตาม นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนยังคงเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่องได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันได้เข้าครองทำเนียบขาวเป็นคนต่อไป

ระหว่างที่ตอบคำถามพวกผู้สื่อข่าวในการประชุมแถลงข่าวประจำปีของเขา ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง ภายหลังสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือ รัฐสภาของจีน ทำพิธีปิดการประชุมไปเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ที่ผ่านมา นายกฯหลี่ได้กล่าวถึงการรณรงค์หาเสียงในสหรัฐฯโดยใช้คำบรรยายว่า “มีชีวิตชีวา” และ “เป็นสิ่งซึ่งได้รับความสนใจจับตามองจากผู้คนจำนวนมาก” อย่างไรก็ตาม เขาแทบไม่ได้พูดถึงทัศนะความเห็นเฉพาะเจาะจงของประดาผู้ลงแข่งขันเอาเลย

“ผมเชื่อว่าลงท้ายแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามทีที่มีชัยชนะได้เป็นผู้เข้าครอบครองทำเนียบขาวคนต่อไป แนวโน้มที่อยู่เบื้องลึกของแนวโน้มต่างๆ แห่งสายสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง” หลี่บอก

นายกรัฐมนตรีแดนมังกรกล่าวว่า ขณะที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีความผิดแผกแตกต่างระหว่าง 2 ประเทศนี้ ซึ่งเป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน แถมในบางกรณียังเป็นความแตกต่างที่แหลมคมชัดเจนอย่างยิ่งเสียด้วย ทว่าผู้คนจำนวนมากกำลังหลงลืมละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อปีที่แล้วนี้เอง จีนได้กลายเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่การค้าสองทางระหว่างประเทศทั้งสองได้บรรลุถึงระดับ 560,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

“เรื่องนี้ในตัวมันเองคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศทั้งสองมีอยู่ร่วมกันนั้น มีน้ำหนักเยอะกว่าความผิดแผกแตกต่างที่มีอยู่ มากมายเหลือเกิน” เขาบอก

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงมันไม่ได้เรียบๆ ง่ายๆ เช่นนี้หรอก

ช่างเต็มไปด้วยคำว่าจีน, จีน, จีน

บนเส้นทางแห่งการรณรงค์หาเสียงในสหรัฐฯปีนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน เป็นคนหนึ่งซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด เขากล่าวพาดพิงถึงประเทศจีนครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างการให้สัมภาษณ์และในระหว่างการกล่าวปราศรัย จนกระทั่งมีการนำเอามาตัดต่อผสมผเสเป็นคลิปวิดีโอหลายต่อหลายชุดออกเผยแพร่ทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แน่นอนทีเดียว ในคลิปวิดีโอเหล่านี้เขาพูดคำว่า “จีน” ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทรัมป์กล่าวประณามจีนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นตัวการขโมยตำแหน่งงานของสหรัฐฯไป เขายังหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งโดยอ้างอิงประสบการณ์ของเขาเองในฐานะที่เป็นนักเจรจาต่อรองผู้เหนียวแน่นไม่ยอมถอย เพื่อประกาศว่าตัวเขาสามารถเสาะแสวงหาหนทางวิธีการเด็ดๆ ในการสั่งสอนเอาชนะปักกิ่งในเกมการเล่นแบบที่แดนมังกรถนัดช่ำชองนี่แหละ และดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาระบุว่าเป็นวิธีปฏิบัติทางการค้าแบบไม่เป็นธรรมของฝ่ายจีน เป็นต้นว่า การปั่นค่าเงินตราให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

เขาระบุด้วยว่า ขณะที่อเมริกาเปิดตลาดของตนต้อนรับจีนอย่างเต็มที่นั้น ปักกิ่งกลับไม่ได้กระทำอย่างเดียวกันเพื่อเป็นการตอบแทนเลย ทรัมป์กล่าวหาว่า จีนใช้ “กำแพงเมืองจีนแห่งลัทธิกีดกันการค้า” (Great Wall of Protectionism) มาพิทักษ์ปกป้องตลาดของตนเองและกีดกันบริษัทอเมริกันทั้งหลายให้ต้องอยู่นอกวง พร้อมกันนั้นปักกิ่งยังปรับสนามแข่งขันในแดนมังกรให้เอียงกระเท่เร่จนกระทั่งตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ปักกิ่งโจมตี “คลินตัน” เป็น “นักปลุกปั่นฝูงชน”

ฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทางพรรคเดโมแครตก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าในเรื่องการโหมกระพือให้เกิดการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนกับปักกิ่งแต่อย่างใด บนเส้นทางรณรงค์หาเสียงของเธอ คลินตันได้ส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติทางการค้าของจีน รวมทั้งกล่าวเตือนว่าในขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เชื่องช้าลงเช่นในเวลานี้ ปักกิ่งอาจจะใช้ปฏิบัติการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่วิธีปฏิบัติทางการค้าของโลก

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องการออกแรงกดดันบีบคั้นจีนทางด้านสิทธิสตรี นับตั้งแต่สมัยที่เธอเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงการเผชิญหน้ากันในระยะหลังๆ นี้

เมื่อปีที่แล้ว ในการส่งข้อความสั้นๆ ผ่านสื่อสังคมทวีตเตอร์ครั้งหนึ่ง คลินตันกล่าวถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน โดยระบุว่า เขา “ไร้ยางอาย” ที่ไปกล่าวปราศรัยว่าด้วยสิทธิสตรีในสหประชาชาติ ขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีหลายต่อหลายคนกำลังถูกคุมขังจำคุกอยู่ในประเทศจีน

ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้พวกชาวเน็ตจีนรู้สึกโกรธเกรี้ยว และ “โกลบอลไทมส์” (Global Times) สื่อในเครือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกมากล่าวหาคลินตันว่า เธอกำลังทำตัวเป็น “นักปลุกปั่นยุยงฝูงชน” (rabble rouser) อีกทั้งเสริมว่า เธอกำลังเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “พวกช่างนินทาปากไม่มีหูรูดแบบเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์”

ทางด้านคลินตันก็ต่อความยาวไปอีกอย่างไม่ยอมเลิกเหมือนกัน โดยออกคำแถลงตอบโต้ซึ่งเธอกล่าวว่า “ถ้าจีนเชื่อว่าการพิทักษ์ปกป้องสิทธิของสตรี คือ “การกระทำปลุกปั่นยุยงฝูงชน” แล้ว พวกเขาก็ต้องคาดหมายได้เลยว่าจะต้องเจอแบบนี้มากยิ่งขึ้นอีกจากดิฉันอย่างแน่นอน”

กิจการภายในของคนอื่นที่ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง

พวกเจ้าหน้าที่จีนนั้นน้อยครั้งนักที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงยุ่มย่ามกับกิจการภายในของอเมริกา ตรงกันข้าม พวกเขานิยมมุ่งโฟกัสไปยังพื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเสาะแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า

นายกฯหลี่บอกกับที่ประชุมแถลงข่าวในวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า ถึงแม้จีนกับสหรัฐฯมีความผิดแผกแตกต่างกัน แต่ก็ได้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อการแลกเปลี่ยนและเพื่อการสนทนากันระหว่างประเทศทั้งสองขึ้นมาแล้วราวๆ 100 กลไก และสิ่งที่จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นมาคือ “ความสุจริตใจ” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ “บริหารจัดการความผิดแผกแตกต่างของพวกเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม”

“เวลาเดียวกับที่ความร่วมมือระหว่างกันของพวกเราขยายตัวเติบโตมากขึ้น จำนวนของความผิดแผกแตกต่างก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นธรรมดา ทว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ของความผิดแผกแตกต่างในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯโดยองค์รวม มีแต่จะลดต่ำลง” เขากล่าว

(จาก “เสียงอเมริกา”[1])

หมายเหตุผู้แปล

[1] เสียงอเมริกา (Voice of America ใช้ตัวย่อว่า VOA) เป็นสถาบันอย่างเป็นทางการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่กระจายเสียงและภาพสู่ภายนอกประเทศ เสียงอเมริกาจัดทำและเผยแพร่รายการสำหรับการออกอากาศทางวิทยุ, ทีวี, และอินเทอร์เน็ต นอกสหรัฐฯ ทั้งในพากย์ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ บางภาษา ในกฎหมายปี 1976 ซึ่งลงนามประกาศใช้โดยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด กำหนดให้เสียงอเมริกา “ให้บริการในฐานะที่เป็นแหล่งข่าวสารซึ่งเชื่อถือได้และควรแก่การนับถืออย่างเสมอต้นเสมอปลาย” ขณะที่กฎบัตรของเสียงอเมริการะบุว่า “ข่าวของเสียงอเมริกาจะต้องแม่นยำ, เป็นกลาง, และรอบด้าน” เสียงอเมริกันได้รับเงินทุนทั้งหมดจากรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐสภาสหรัฐฯจัดสรรเงินทุนให้แก่เสียงอเมริกาเป็นประจำทุกปี โดยอยู่ในงบประมาณฉบับเดียวกับที่จัดสรรเงินใช้จ่ายให้แก่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลต่างๆ ของสหรัฐฯในต่างประเทศ

มีนักวิชาการและนักวิจารณ์ของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมองว่า เสียงอเมริกา เป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็มีคนอื่นๆ ซึ่งโต้แย้งไม่เห็นด้วยกับตราประทับนี้
(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น