xs
xsm
sm
md
lg

“สิงคโปร์” รั้งแชมป์ “เมืองค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก” ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - สิงคโปร์รั้งแชมป์เมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน แม้กำลังเผชิญปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตกต่ำอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ก็ตาม

ผลการจัดอันดับค่าครองชีพทั่วโลก Worldwide Cost of Living Survey 2016 โดยสถาบัน ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในเครือนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ พบว่า สิงคโปร์ยังยึดบัลลังก์แชมป์เมืองข้าวของแพงหูฉี่ที่สุดเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง โดยทำคะแนนไป 116 แต้ม แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะถูกลงราว 10% จากการสำรวจปีก่อนหน้าก็ตาม

ซูริกและฮ่องกงครองอันดับที่ 2 ร่วมกันด้วยคะแนน 114 แต้ม ตามมาด้วยเจนีวา ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส

ผลวิจัยนี้สรุปจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการกว่า 160 รายการใน 133 เมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น อาหาร, อุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องน้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ค่าจ้างแม่บ้าน, ค่าโดยสารรถสาธารณะ และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

ใบอนุญาตครอบครองรถยนต์ในสิงคโปร์ (certificate of entitlement - COE) ซึ่งราคาประมูลแพงลิบลิ่ว ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การขับรถยนต์สักคันในสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่อื่นๆ โดยแพงกว่านิวยอร์กถึง 2.7 เท่าตัว ส่วนราคาเครื่องนุ่งห่มและสาธารณูปโภคก็แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเฉพาะราคาของชำทั่วไป (basic groceries) สิงคโปร์จัดว่าราคาใกล้เคียงกับนิวยอร์ก ขณะที่สินค้าประเภทนี้ในกรุงโซลแพงกว่ากันถึง 33%

สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาสู่อันดับเมืองค่าครองชีพแพงที่สุดตั้งแต่ปี 2014 แซงหน้าโตเกียวซึ่งเคยครองแชมป์ในปี 2013

สำหรับโตเกียวนั้นหล่นลงไปอยู่อันดับที่ 11 ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเงินเยนอ่อนค่า ประกอบกับปัญหาเงินฝืดที่ยังคงฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจแดนปลาดิบ

เมืองที่ค่าครองชีพถูกที่สุดในโลก ได้แก่ กรุงลูซากา เมืองหลวงของแซมเบีย รองลงมาคือ บังกาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ และนครมุมไบของอินเดีย

EIU ชี้ว่า ค่าครองชีพทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนัก โดยเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การลดค่าเงิน การเคลื่อนไหวของค่าเงิน ตลอดจนราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตกต่ำลง ซึ่งสาเหตุทั้งหมดนี้ส่งผลให้ลำดับความเป็นเมืองค่าครองชีพสูงเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น นครซิดนีย์และเมลเบิร์นของออสเตรเลียซึ่งหลุดจากท็อปเทนลงไปอยู่ที่อันดับ 20 และ 21

“ตลอดระยะเวลาเกือบ 17 ปีที่ผมสำรวจมา ยังไม่เคยเจอปีไหนที่ค่าครองชีพผันผวนมากเท่ากับปี 2015” จอน โคปสเตก บรรณาธิการฝ่ายสำรวจข้อมูลของ EIU ระบุ

“ปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำทำให้บางประเทศต้องเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด (deflationary pressure) แต่ในบางประเทศ ค่าเงินที่อ่อนลงเนื่องจากราคาสินค้าตกต่ำกลับนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ” เขากล่าวเสริม


กำลังโหลดความคิดเห็น