เอพี - วันนี้ (7 มี.ค) กลางที่ประชุมเวิลด์มุสลิม ซัมมิต OIC ในกรุงจาการ์ตา ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด ได้เรียกร้องให้ชาติมุสลิมทั่วโลกร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ มากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
เอพีรายงานว่า โจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติที่มีพลเมืองมุสลิมมากที่สุดในโลกได้ชี้ว่า ในขณะที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่แย่ลงในปาเลสไตน์
และวิโดโดยังได้วิจารณ์อิสราเอลว่า เป็นการดำเนินการเพียงข้างเดียว และดำเนินนโยบายผิดกฎหมาย
เอพีรายงานว่า ในวันนี้มีตัวแทนชาติต่างๆ ร่วม 57 ประเทศร่วมประชุมวาระพิเศษเวิลด์มุสลิม ซัมมิต OIC ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งมีวาระการหารือในประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และเยรูซาเลมโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ มีตัวแทนจากตะวันออกกลาง และตัวแทนจากคณะมนตรีความมั่นคงองค์การสหประชาชาติเข้าร่วม
โดยวิโดโดแถลงในพิธีเปิดวันนี้ว่า “OIC ควรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา” และได้กล่าวต่อว่า “หาก OIC ไม่สามารถอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาได้ ก็เท่ากับว่า OIC กลายเป็นองค์การที่ไม่น่าเชื่อถือ”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอิสราเอลได้กล่าวหาความรุนแรงที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นว่า เป็นเพราะการกระจายข่าวลือ ข่าวลวง ไปทั่วของปาเลสไตน์ ในขณะที่ในฝั่งปาเลสไตน์กลับโต้ว่าปัญหาความรุนแรงเกิดจากความคับแค้นใจที่ต้องอยู่ภายใต้กฎทหารของอิสราเอลนานเกือบ 5 ทศวรรษ
เอพียังรายงานว่า ในที่ประชุม OIC นี้พบว่า ประธานาธิบดีซูดาน โอมาร์ อัล-บาร์เชียร์ (Omar al-Bashir) ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของศาลอาญาระหว่างประเทศ ICC ในฐานะอาชญากรสงครามกลางเมืองซูดาน ได้เดินทางเข้ามาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
และในวันนี้ (7 มี.ค) กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียได้ออกแถลงการณ์โต้ข้อกล่าวหาที่ทางจาการ์ตาอนุญาตให้อาชญากรสงครามที่ถูกหมายจับ ICC เดินทางเข้าประเทศ โดยทางกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า อินโดนีเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ICC ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจในการจับประธานาธิบดีซูดาน โอมาร์ อัล-บาร์เชียร์ได้ หรือไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการจับกุม
ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงจาการ์ตา ได้แสดงความกังวลที่อัล-บาร์เชียร์เดินทางเข้ามายังอินโดนีเซียเพื่อร่วมการประชุมมุสลิมโลกครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เอพีชี้ว่าคล้ายกับจาการ์ตา วอชิงตันไม่ได้เป็นสมาชิกศาล ICC