xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้ภาวะน้ำมันดิ่งเหว ทำชาติอาหรับก่อหนี้เพิ่มมหาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอส แอนด์ พี) บริษัทเครดิตเรตติ้งชื่อดังเผยในวันอังคาร (1 มี.ค.) ระบุว่าการกู้ยืมเงินของรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาหรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปี 2015 และอัตราการก่อหนี้เช่นนี้มีแนวโน้มจะพุ่งสูงต่อเนื่องในปี 2016 นี้

เอสแอนด์พีระบุว่า อัตราการก่อหนี้ของ 11 ชาติอาหรับซึ่งรวมถึงบรรดารัฐอาหรับผู้มั่งคั่งแถบอ่าวเปอร์เซีย ได้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 143,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับระดับ 70,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2014

รายงานล่าสุดของบริษัทจัดอันดับชื่อดังระบุว่า ในปี 2015 ที่ผ่านมารัฐบาลของกลุ่มชาติอาหรับผู้มั่งคั่งแถบอ่าวเปอร์เซียที่ประกอบด้วยบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ สูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ในจำนวนนี้เป็นการกู้ยืมของซาอุดีอาระเบียเพียงประเทศเดียวสูงถึง 26,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดการกู้ยืมของรัฐบาลอิรักซึ่งถูกสำรวจเป็นครั้งแรกก็พุ่งสูงแตะระดับ 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่าอียิปต์ครองตำแหน่งประเทศในโลกอาหรับที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศสูงที่สุดในปี 2015 ด้วยวงเงินกู้ยืมสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์

เอสแอนด์พีระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บรรดารัฐอาหรับที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมันเหล่านี้ต้องหันมากู้หนี้ยืมสินแบบขนานใหญ่ในปี 2015 เนื่องจากการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าพลังงานในตลาดโลก ที่ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของดินแดนเหล่านี้ที่ต่างประสบภาวะขาดดุลงบประมาณกันอย่างพร้อมเพรียงจากภาวะดังกล่าว

ทั้งนี้ เอสแอนด์พีประเมินว่า ยอดการกู้ยืมเงินของชาติอาหรับในปี 2016 นี้จะยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้วโดยมีความเป็นไปได้ที่ยอดการกู้ยืมเงินของรัฐอาหรับในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 667,000 ล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกโรงเตือนโดยระบุซาอุดีอาระเบียที่ถือเป็น “พี่ใหญ่ของโลกอาหรับ” อาจประสบภาวะ “ล้มละลายทางเศรษฐกิจ” ภายในปี ค.ศ. 2020 หรือใน 5 ปีข้างหน้าหากรัฐบาลของราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้ยังคงไม่รักษาวินัยการคลัง

รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับภาพรวม และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะต้องหันมารักษาวินัยทางการคลังอย่างจริงจัง และยุติการใช้จ่ายงบประมาณในระดับที่สูงกว่ารายได้ของประเทศ ก่อนที่จะประสบภาวะ “ถังแตก” ในปี 2020

ข้อมูลของไอเอ็มเอฟระบุว่า ในปี 2015 ยอดการขาดดุลงบประมาณของซาอุดีอาระเบีย พุ่งสูงถึง 21.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2016 ก็คาดว่ายอดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลริยาดห์จะอยู่ที่ราว 19.4 เปอร์เซ็นต์

มาซูด อาเหม็ด ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลางของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียจะต้องยุติการใช้จ่ายเงินงบประมาณ มากกว่ารายได้ของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าออกสำคัญของซาอุฯ อยู่ในภาวะดิ่งเหวแล้ว ซาอุฯก็ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการสร้างงาน ให้กับประชาชนมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งภายใน 5 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน

ผลพวงจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในตลาดโลกตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ในสัดส่วนที่สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลงบประมาณเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ยอดสินทรัพย์สุทธิในต่างประเทศของซาอุฯได้หดหายไปแล้วกว่า 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.91 ล้านล้านบาท ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้

ก่อนหน้านี้ ทางการโอมานออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า ประสบภาวะขาดดุลงบประมาณไปแล้วกว่า 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 247,185 ล้านบาท) เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปี 2015 จากผลพวงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ กระทบช่องทางหารายได้หลักเข้าประเทศ

รายงานข่าวซึ่งอ้างการเปิดเผยรายงานของกระทรวงการคลังโอมานระบุว่า ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของรัฐสุลต่านแห่งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2015 ได้พุ่งสูงแตะระดับ 6,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 247,185 ล้านบาท) สวนทางกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปี 2014 ที่งบประมาณของประเทศประสบภาวะ “เกินดุล” กว่า 534 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,945 ล้านบาท)

รายงานของกระทรวงการคลังโอมาน ระบุว่า การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ ปัจจัยสำคัญ ที่นำไปสู่ภาวะการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินครั้งมโหฬารนี้


ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า ภาวะดิ่งเหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และบาห์เรน คิดเป็นวงเงินรวมกันไม่น้อยกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.62 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 14 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวม ของทั้ง 6 ประเทศในปี 2015 นี้

เมื่อไม่นานมานี้ ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐของคูเวต ทรงออกโรงเตือนถึงภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ว่า เปรียบเสมือน “เงามืด” ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่ม “โอเปก” พร้อมแนะว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ

ชีคห์ ซาบาห์ ในวัย 85 พรรษา ซึ่งทรงก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะ “เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 5” ของคูเวตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2006 ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่คูเวตและประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลกจะต้อง “เลิกพึ่งพา” รายได้จากการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ และควรเร่งหาทางสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายสำหรับใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในอนาคต

“การดิ่งลงของราคาน้ำมันนั้น ไม่ต่างจากเงามืดที่กำลังย่างกรายเข้ามาปกคลุมเศรษฐกิจและอนาคตของเรา ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกโอเปกทั้งหลาย ต้องหาหนทางอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราต้องเร่งหาทางปกป้องเศรษฐกิจ และสร้างหลักประกันให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ในวันที่เราไม่มีน้ำมันเหลืออยู่แล้ว” ชีคห์ ซาบาห์ ตรัส

ท่าทีขององค์เอมีร์แห่งคูเวต มีขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้มีน้ำมันออก สู่ตลาดโลกลดน้อยลง และผลักราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลคูเวตที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ในขณะนี้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี”ของคูเวตและถือเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น