รอยเตอร์/เอเอฟพี - ออสเตรเลียจะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารขึ้นอีกเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 21,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 780,000 ล้านบาท) ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ไป เพื่อยกระดับการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และทางการค้าของตนในเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรทำการต่อสู้ช่วงชิงกับจีนซึ่งมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของแดนจิงโจ้จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 195,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5.07 ล้านล้านบาท) หรือ 2% ของยอดจีดีพี ภายในปี 2021/2022 เนื่องจากออสเตรเลียจะซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ แถลงในงานเปิดตัวเอกสาร “สมุดปกขาวกลาโหม” (Defence White Paper) ฉบับใหม่ประจำปี 2016 ในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) นี้
ตามเอกสารสมุดปกขาวกลาโหมปี 2016 ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ออสเตรเลียจะเพิ่มกองเรือดำน้ำของตนขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 24 ลำ ส่วนพวกเรือผิวน้ำก็จะเพิ่มเรือพิฆาตอีก 3 ลำ, เรือฟริเกต 9 ลำ และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 12 ลำ
ขณะที่สมรรถนะในการตรวจการณ์ทะเลหลวงก็จะยกระดับด้วยการซื้ออากาศยานไร้นักบิน (โดรน) รุ่น MQ-4C Triton ผลิตในสหรัฐฯ จำนวน 7 ลำ และเครื่องบิน P-8A Poseidon จำนวน 8 ลำ
สำหรับสมรรถนะของกองทัพอากาศ จะซื้อหาเครื่องบินขับไล่ F-35 หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Joint Strike Fighter จากอเมริกาจำนวนรวม 72 ลำ เริ่มตั้งแต่ปี 2020 ส่วนทางกองทัพบกจะมีการอัปเกรดยานลำเลียงพลหุ้มเกราะและยุทโธปกรณ์อื่นๆ
ในส่วนกำลังพล จะมีการเพิ่มทหารใหม่จำนวนราว 2,500 คน ซึ่งจะทำให้กำลังพลทั้งหมดในกองทัพแดนจิงโจ้สูงขึ้นเป็น 62,400 คน โดยที่มีงาน 900 ตำแหน่งซึ่งโฟกัสไปที่การปรับปรุงยกระดับความมั่นคงทางด้านไซเบอร์, ข่าวกรอง และอวกาศ
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า แผนการยุทธศาสตร์กลาโหมฉบับใหม่นี้จัดทำขึ้นมาโดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเรื่องความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนก้าวผงาดขึ้นมาทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ส่วนสหรัฐฯ ก็เพิ่มจุดเน้นหนักมาที่เอเชีย-แปซิฟิก
“สหรัฐฯ จะยังคงเป็นมหาอำนาจทางทหารที่โดดเด่นเหนือกว่าใครในทั่วโลก ในตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษข้างหน้านี้” เทิร์นบูลล์กล่าว “สหรัฐฯ จะยังคงเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รายสำคัญที่สุดของออสเตรเลียต่อไป โดยอาศัยความเป็นพันธมิตรที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของพวกเรา และการปรากฏตัวอย่างกระตือรือร้นของสหรัฐฯ ก็จะดำเนินต่อไป เพื่อตอกย้ำเสถียรภาพของภูมิภาคของเรา”
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคาดการณ์ว่าในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้าภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก จะมีการเพิ่มสมรรถนะทางทหารกันมากขึ้นอีก รวมทั้ง “ครึ่งหนึ่งของเรือดำน้ำของโลกและครึ่งหนึ่งของเครื่องบินสู้รบของโลก” จะอยู่ในภูมิภาคแถบนี้
“เราจะต้องระมัดระวัง ถ้าหากการแข่งชิงอิทธิพล และการเติบโตในสมรรถนะทางทหารนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและคุกคามผลประโยชน์ของออสเตรเลีย ไม่ว่าในทะเลจีนใต้, คาบสมุทรเกาหลี หรือที่อื่นๆ ไกลออกไป” เขากล่าวต่อ
“เรามีผลประโยชน์ที่แข็งแกร่ง, สำคัญยิ่ง และเหนียวแน่น ในการธำรงรักษาสันติภาพ, เสถียรภาพ และความเคารพในหลักนิติธรรม การตัดสินใจที่เรากระทำในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะด้านกลาโหมของเรา และทิศทางอนาคตสำหรับอีกหลายทศวรรษข้างหน้า”
ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหม มาไรซ์ เพย์น ของออสเตรเลีย ได้พูดถึงจีนว่า ออสเตรเลียต้อนรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อีกทั้งทราบดีว่าแดนมังกรจะมุ่งแสวงหาอิทธิพลในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น
“ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจสำคัญชาติหนึ่ง ย่อมจะเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาค ถ้าหากจีนให้ความมั่นใจอีกครั้งแก่เหล่าเพื่อนบ้านของตน ด้วยการแสดงความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายด้านกลาโหมของตน” รัฐมนตรีหญิงผู้นี้กล่าว
“รัฐบาลออสเตรเลียจะหาทางหยั่งรากลึกและขยายความสัมพันธ์ด้านกลาโหมอันสำคัญที่เรามีอยู่กับจีน ขณะเดียวกับที่ยอมรับว่าผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของพวกเรานั้นอาจจะแตกต่างกัน เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคและในระดับโลกบางประการ” เพนย์กล่าว
สำหรับปฏิกิริยาจากปักกิ่งนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวา ชุนอิง กล่าวในการแถลงข่าวตามวาระปกติในวันพฤหัสบดี (25) ว่า จีน “ไม่พอใจ” ต่อข้อความต่างๆ ในสมุดปกขาวกลาโหมของออสเตรเลีย ซึ่งพูดอย่าง “เป็นไปในทางลบ” ต่อนโยบายของปักกิ่งในทะเลจีนใต้
“เราหวังว่าฝ่ายออสเตรเลียจะสามารถมีทัศนะอย่างถูกต้องและเป็นไปในทางบวกต่อการพัฒนาและเจตจำนงทางยุทธศาสตร์ของจีน” โฆษกหญิงผู้นี้บอก
เมื่อถูกถามว่าจีนต้องการเห็นการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคนี้หรือไม่ หวาตอบว่า “คำตอบสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ไม่ต้องการอย่างแน่นอน”