xs
xsm
sm
md
lg

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ แอนโทนิน สกาเลีย สิ้นชีวิต จุดชนวนระอุทางการเมืองเรื่องคนที่จะขึ้นแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ แอนโทนิน สกาเลีย  ในภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2010 เขาเสียอายุอย่างสงบในวันเสาร์ (13 ก.พ.) สิริอายุ 79 ปี แต่ก็จุดชนวนให้เกิดการต่อสู้อย่างร้อนแรงทางการเมือง เกี่ยวกับการสรรหาผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งของเขา </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - แอนโทนิน สกาเลีย หนึ่งในผู้พิพากษาที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษนิยมที่สุดในศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เสียชีวิตอย่างสงบในวันเสาร์ (13 ก.พ.) สิริอายุ 79 ปี และจุดชนวนให้เกิดการเผชิญหน้ากันทางการเมืองขึ้นในทันทีเกี่ยวกับผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งของเขา ในขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังดำเนินไปด้วยความเข้มข้น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา สั่งให้ลดธงชาติลงครึ่งเสาทั่วทั้งสหรัฐฯ เป็นการไว้อาลัยผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุดของประเทศมาอย่างยาวนานผู้นี้ โดยที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ตัวนี้โดยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เมื่อปี 1986

การเสียชีวิตของสกาเลียภายหลังที่เขาปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรตุลาการระดับสูงสุดของประเทศมา 30 ปี ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอย่างล้ำลึกในหลาย ๆ ด้าน และอาจกระทบต่อดุลแห่งอำนาจในศาลสูงสุดสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมมีคะแนนเหนือกว่าผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมอยู่ 5 ต่อ 4

ประธานาธิบดี โอบามา เป็นผู้นำในการแสดงความไว้อาลัยและกล่าวยกย่องสรรเสริญสกาเลีย ซึ่งตามบันทึกของสำนักงานตำรวจศาลสหรัฐฯ (US Marshals Service) ระบุว่า เสียชีวิตขณะนอนหลับในที่พักเอกชนแห่งหนึ่งที่เขตบิกเบนด์ ของเวสต์เทกซัส

แต่ประมุขของสหรัฐฯก็ใช้โอกาสนี้ปล่อยกระสุนนัดแรก ในสงครามที่คาดกันว่าจะดุเดือดตึงเครียด เกี่ยวกับการสรรหาผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากสกาเลีย
<i>คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯชุดปัจจุบันทั้ง 9 คนถ่ายภาพร่วมกันที่ห้องประชุมของอาคารศาลสูงสุดในกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2010  การเสียชีวิตของ แอนโทนิน สกาเลีย (แถวนั่งคนที่ 2 จากซ้าย) สั่นสะเทือนดุลแห่งอำนาจในองค์กรตุลาการสูงสุดของอเมริกา ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมมีเสียงเหนือกว่าฝ่ายเสรีนิยมอยู่ 5 ต่อ 4 </i>
โอบามา บอกว่า เขามีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเสนอชื่อผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งของสกาเลีย โดยที่ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม “ความรับผิดชอบในรัฐธรรมนูญ” ของเขา ทั้งนี้ หลังจากที่บรรดาสมาชิกชั้นนำของพรรครีพับลิกัน ซึ่งรวมทั้งพวกผู้ชิงชัยเพื่อเป็นตัวแทนรีพับลิกันในการเข้าแข่งขันเป็นประธานาธิบดีทั้ง 6 คนที่ยังเหลืออยู่ พากันออกมาโต้แย้งว่าประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งในอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เช่นนี้

“นี่เป็นความรับผิดชอบที่ผมต้องเข้าแบกรับด้วยความเคร่งครัดจริงจัง เฉกเช่นกับที่ทุก ๆ คนก็ควรกระทำ” โอบามากล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้วุฒิสภาซึ่งเวลานี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เขาเสนอชื่อ ได้แถลงแสดงคุณสมบัติอย่างเป็นธรรม และลงมติว่าจะรับรองหรือไม่รับรองตามกรอบเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด โดยที่วุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ผู้ที่ผ่านการรับรองจะดำรงตำแหน่งตลอดชีพ

ระหว่างเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สกาเลียเป็นผู้ออกเสียงตัดสินคดี โดยสนับสนุนค่านิยมแบบอนุรักษนิยมของอเมริกาอย่างแข็งขัน ทั้งในประเด็นทางด้านศาสนา, ครอบครัว, ความรักชาติ, และการบังคับใช้กฎหมาย

เขาเป็นผู้ปกป้องอย่างเข้มข้นในเรื่องสิทธิการครอบครองปืน และการลงโทษประหารชีวิต รวมทั้งยังคัดค้านอย่างเต็มที่ในเรื่องสิทธิการทำแท้ง, การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และมาตรการให้สิทธิพิเศษแก่คนด้อยโอกาส

ช่วงหลัง ๆ มานี้ ศาลสูงสุดซึ่งมีฝ่ายอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากอยู่ ได้ตัดสินคดีซึ่งเป็นการสกัดกั้นความพยายามสำคัญ ๆ ของคณะบริหารโอบามา ในเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการรับผู้อพยพ ดังนั้น หากมีการแต่งตั้งผู้ที่พรรคเดโมแครตเสนอชื่อเข้าสืบทอดตำแหน่งของสกาเลียแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในดุลอำนาจของศาลสูงสุดสหรัฐฯ
<i>ธงชาติสหรัฐฯที่หน้าอาคารศาลสูงสุดของสหรัฐฯในกรุงวอชิงตัน ถูกลดลงครึ่งเสา ภายหลังการเสียชีวิตของผู้พิพากษาศาลสูงสุด แอนโทนิน สกาเลีย </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น