เอเอฟพี/มาร์เกตวอตช์ - น้ำมันดิ่งแรงในวันจันทร์ (8 ก.พ.) โดยสัญญาสหรัฐฯ ลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์อีกครั้ง หลังซาอุฯ ดับความหวังโอเปกลดกำลังผลิต ส่วนวอลล์สตรีทก็ร่วงหนักจากแรงฉุดกลุ่มเทคโนโลยีและการเงิน ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยดังกล่าวดันทองคำพุ่งกว่า 40 เหรียญ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคมลดลง 1.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 29.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเมษายนลดลง 1.18 ดอลลาร์ ปิดที่ 32.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การพบปะหารือกันระหว่างรัฐมนตรีพลังงานเวเนซุเอลากับซาอุดีอาระเบียดูเหมือนจะกลายเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากริยาดไม่แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนการประชุมฉุกเฉินโอเปกเพื่อแก้ปัญหาตกต่ำ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากช่วงปลายเดือนมกราคมได้เกิดข่าวลือว่ารัสเซียและโอเปกอาจประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการลดกำลังผลิตร่วมเพื่อส่งเสริมราคาในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้เริ่มมีความคลางแคลงใจต่อข่าวนี้
โอเปก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติและมีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ปฏิเสธลดกำลังผลิตมาตลอด ขณะที่พวกเขาหวังต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดในยามที่ต้องเผชิญการแข่งขันจากน้ำมันชั้นหินสหรัฐฯ
ด้านตลาดหุ้นสหัฐฯ ปิดลบแรงในวันจันทร์ (8 ก.พ.) เคลื่อนไหวตามตลาดทุนยุโรป หลังความหวาดวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหุ้นกลุ่มภาคการเงิน และเทคโนโลยี
ดาวโจนส์ลดลง 177.92 จุด (1.10 เปอร์เซ็นต์) ปิด 16,027.05 จุด หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงไปกว่า 400 จุด เอสแอนด์พีลดลง 26.61 จุด (1.42 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,853.44 จุด แนสแดคลดลง 79.39 จุด (1.82 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,283.75 จุด
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหนัก โดยแบงก์ออฟอเมริกาปิดลบ 5.3 เปอร์เซ็นต์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ปิดลบ 7.0 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง เฟซบุ๊ก ปิดลบ 4.0 เปอร์เซ็นต์ และอะเมซอน ปิดลบ 2.8 เปอร์เซ็นต์
ความกังวลต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนี้เองกระตุ้นให้นักลงทุนหันถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และเมื่อประกอบกับความต้องการโลหะมีค่าที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาทองคำในวันจันทร์ (8 ก.พ.) พุ่งทะยานกลับมาอยู่ใกล้ๆ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์เพิ่มขึ้น 40.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,197.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นวันที่ปิกบวกแข็งแกร่งที่สุดทั้งในแง่ดอลลาร์และเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2014