เอเอฟพี - ออสเตรเลียเวลานี้กำลังสกัดกั้นไม่ให้ผู้ต้องสงสัยอยากจะเป็นนักรบญิฮัดได้เดินทางออกไปนอกประเทศในอัตรามากขึ้นกว่าเมื่อรอบปีที่แล้วถึงเท่าตัวทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแดนจิงโจ้ที่มุ่งปราบปรามเล่นงานพลเมืองที่ไปร่วมสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามิสต์ในอิรักและซีเรีย ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นในวันนี้ (7 ก.พ.)
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ซัน-เฮรัลด์ ของนครซิดนีย์ เจ้าหน้าที่ทางการได้นำตัวบุคคลออกมาจากเครื่องบินเป็นจำนวน 312 คนในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม 2015 จนถึงสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับจำนวน 336 คนในระยะเวลาเกือบๆ 12 เดือนก่อนหน้านั้น
ทางด้านกรมตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลียได้ยืนยันตัวเลขดังกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยต้องการเป็นนักรบญิฮัดซึ่งกำลังจะเดินทางออกจากแดนจิงโจ้เหล่านี้มีเท่าใดแน่ๆ ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลางเพื่อเข้าร่วมการสู้รบ อีกทั้งยังมีบางคนซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกไปได้
“ในบางกรณี บุคคลที่ถูก “โหลดลงมา” อาจจะได้รับอนุญาตให้กระทำตามแผนการเดินทางของพวกเขาต่อไป ถ้าหากไม่ถือว่าพวกเขาเป็นความเสี่ยงอะไรอีกแล้ว” โฆษกกรมตรวจคนเข้าเมืองระบุในคำแถลงส่งถึงเอเอฟพี
แดนจิงโจ้นั้นกำลังเพิ่มความกังวลมากขึ้นทุกที เรื่องที่พลเมืองของตนไปเข้าร่วมสู้รบอยู่กับกลุ่มนักรบญิฮัดอย่างเช่น กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย โดยที่ทางการระบุตัวเลขว่ามีชาวออสเตรเลียราว 120 คนเดินทางไปอยู่กับกลุ่มเหล่านี้ และอีก 160 คนกำลังให้การสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นกับพวกองค์กรสุดโต่งในบ้านเกิด ในรูปของการหนุนหลังทางการเงินและการระดมหาสมาชิก
ภายใต้มาตรการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายอย่างขนานใหญ่ ซึ่งมุ่งหมายที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้ต้องการเป็นนักรบญิฮัดเดินทางออกไปต่างประเทศ ออสเตรเลียได้ออกกฎหมายหลายๆ ฉบับตอนปลายปี 2014 ซึ่งกำหนดโทษว่า ใครก็ตามที่มุ่งหน้าไปยังพื้นที่ซึ่งถูกระบุไว้ อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
จวบจนถึงขณะนี้ พื้นที่ซึ่งถูกระบุไว้ตามกฎหมายดังกล่าวยังมีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ เมืองโมซุล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรักที่ถูกไอเอสยึดครองอยู่ และเมืองร็อกเกาะฮ์ ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของไอเอสในซีเรีย