บีบีซีนิวส์ - พวกหัวหน้านักรบอาวุโสจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) พากันโยกย้ายจากอิรักและซีเรียเข้าไปพำนักหลบภัยในลิเบียเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมกับที่มีนักรบต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เดินทางไปยังเมืองซิราเต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบียผู้ล่วงลับ ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับท็อปทางด้านข่าวกรองผู้หนึ่งของลิเบีย
กลุ่มไอเอสได้เข้าควบคุมเมืองซีราเตเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เชื่อกันว่ากลุ่มนี้ได้รับความสนับสนุนจากบุคคลบางส่วนที่จงรักภักดีต่ออดีตระบอบการปกครองของกัดดาฟี ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งสภาพความแตกแยกและสู้รบกันเองระหว่างพวกที่เคยร่วมกันต่อต้านกัดดาฟีในลิเบียเวลานี้ได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามที่จะต่อสู้ปราบปรามไอเอส
อิสมาอิล ชูครี หัวหน้าฝ่ายข่าวกรองในเมืองมิสราตา เมืองใหญ่อันดับ 3 ของลิเบีย บอกกับรายการ “นิวส์ไนต์” ของโทรทัศน์บีบีซี ว่า ในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ นี้มีนักรบที่เป็นคนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปที่ซีราเตเป็นจำนวนมาก
“(นักรบไอเอสในซิราเต) ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติประมาณ 70% ทีเดียว พวกนี้ส่วนมากที่สุดเป็นชาวตูนิเซีย พวกที่มีมากรองๆ ลงมาคือชาวอียิปต์, ชาวซูดาน แล้วจึงมีชาวแอลจีเรียไม่กี่คน
“นอกจากนั้นแล้วก็มีชาวอิรักและชาวซีเรีย คนอิรักส่วนใหญ่มาจากกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน ที่ถูกยุบเลิกไปแล้ว”
ซูครีบอกว่า พวกหัวหน้านักรบระดับอาวุโสของไอเอสกำลังพำนักหลบภัยอยู่ในลิเบีย เนื่องจากถูกบีบคั้นกดดันจากการโจมตีทางอากาศของนานาชาติในอิรักและซีเรีย
“สมาชิกของพวกเขาบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีความสำคัญในระยะยาวต่อไอเอส ต่างกำลังพำนักหลบภัยกันอยู่ที่นี่ พวกเขาถือว่าลิเบียเป็นแหล่งกบดานที่ปลอดภัย”
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในเมืองมิสราตาบอกว่า พวกเขากำลังเตรียมการเข้ารุกโจมตีปราบปรามบรรดานักรบของไอเอสในเมืองซีราเต อย่างไรก็ตาม ในตำบลอาบูเกรอิน ซึ่งอยู่ห่างจากมิสราตาไปทางใต้ราว 120 กิโลเมตรนั้น บีบีซีมองแทบไม่เห็นหลักฐานใดๆ เลยว่ากำลังใกล้จะเกิดการสู้รบประจันหน้ากันขึ้นแล้ว
อาบูเกรอินเป็นตัวแทนของแนวป้องกันต่อต้านไอเอสแนวสุดท้าย ถัดจากเมืองเล็กๆ แห่งนี้ไป พวกไอเอสคือผู้ที่ควบคุมเส้นทางถนนซึ่งมุ่งไปทางตะวันออก
พวกหัวหน้านักรบในอาบูเกรอินบอกกับรายการนิวส์ไนต์ว่า กองกำลังของพวกเขา ซึ่งประกาศจงรักภักดีต่อรัฐบาลลิเบียในกรุงตริโปลี มีจำนวนประมาณ 1,400 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกองกำลังไอเอสตามที่มีการประมาณการกันไว้
โมฮัมเหม็ด อัล บายูดี หัวหน้านักรบคนหนึ่งของกองกำลังที่ใช้ชื่อว่า “กองพัน 166” (Battalion 166) ยอมรับว่า ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติแล้ว พวกเขาก็จะไม่สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่ไอเอสได้
“แน่นอนทีเดียว เราย่อมยินดีต้อนรับการสนับสนุนของนาโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) แต่การโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้ไอเอสปราชัยได้หรอก สิ่งที่กองทัพของเราต้องการที่จะได้จริงๆ คือเรื่องความสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง”
บรรดาผู้แทนจาก 23 ประเทศได้ประชุมกันในกรุงโรมเมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) เพื่อหารือถึงภัยคุกคามจากไอเอสที่อยู่ในลิเบีย ซึ่งทำท่าว่าจะเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ลู่ทางโอกาสที่นานาชาติจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันทางทหารในลิเบียนั้นดูจะเป็นหัวข้อที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก ถึงแม้สหรัฐฯ ยอมรับว่าตนได้จัดส่งกำลังทหารหน่วยรบพิเศษจำนวนเล็กๆ เข้าไปในประเทศนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ครั้งหนึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นที่เข้าใจกันว่า กองกำลังทำนองเดียวกันนี้จากชาติสมาชิกนาโต้รายอื่นๆ ก็กำลังสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้จากพวกพันธมิตรท้องถิ่นทางภาคพื้นดิน ในเรื่องการเปิดศึกสู้รบกับไอเอสในเร็วๆ นี้
ทว่าพวกนักรบลิเบียในเมืองอาบูเกรอินกล่าวว่า พวกเขาไม่ต้องการเห็นทหารภาคพื้นดินของชาติตะวันตกเข้าไปร่วมทำศึก
“พวกเราชาวลิเบียจะเป็นผู้ทำการสู้รบ ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องใช้กองทหารต่างชาติ” อัล บายูดี กล่าว
กระนั้น รัฐบาลของหลายชาติตะวันตก รวมทั้งรัฐบาลอังกฤษด้วย ก็กำลังแสดงความกังวลมากขึ้นและกำลังหมดความอดทนลงทุกที
ข้อเสนอหนึ่งที่ให้จัดตั้งกองกำลังเพื่อทำการฝึกอบรม ซึ่งจะมีอิตาลีเป็นผู้นำและจำนวนทหารก็อาจจะมากถึง 6,000 นาย โดยจะมาจากชาตินาโต้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสด้วยนั้น เวลานี้ยังไม่เป็นที่ตกลงเห็นชอบอะไรกัน
อุปสรรคใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง ได้แก่การที่ประดากลุ่มซึ่งต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในลิเบียนั้น ไม่ได้มีความเห็นพ้องต้องกัน
ความพยายามที่มีสหประชาชาติเป็นคนกลาง เพื่อสร้างรัฐบาลสามัคคีเป็นเอกภาพขึ้นมาในลิเบียยังคงประสบภาวะชะงักงัน ท่ามกลางการคัดค้านทั้งจากคณะผู้ครองอำนาจที่หนุนหลังโดยกลุ่มอิสลามิสต์ในกรุงตริโปลี และทั้งจากรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองโตบรุก ทางภาคตะวันออกของประเทศ