เอเอฟพี - โตโยต้ารักษาตำแหน่งค่ายรถอันดับ 1 ของโลกไว้ได้เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน หลังกวาดยอดขาย 10.15 ล้านคัน ในปี 2015 ที่ผ่านมา ขณะที่ประธานใหม่โฟล์คสวาเก้น ที่เพิ่งประสบเรื่องอื้อฉาวกรณีโกงการตรวจมลพิษ ยอมยกธงขาว ประกาศทิ้งเป้าหมายการชิงแชมป์จากโตโยต้าในปี 2018
ปีที่ผ่านมา โฟล์คจากเมืองเบียร์ ทำยอดขายทั่วโลกได้เพียง 9.93 ล้านคัน ขณะที่แชมป์เก่าเมื่อหลายปีก่อนอย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถเชฟโรเลต และคาดิลแลค มียอดขาย 9.8 ล้านคัน
ราคาหุ้นของ โตโยต้า มอเตอร์ทะยานขึ้นถึง 3.80% ปิดที่ 58 ดอลลาร์ในตลาดโตเกียววันพุธ (27 ม.ค.) หลังมีรายงานว่า ค่ายรถอันดับ 1 ของญี่ปุ่นแห่งนี้ กำลังหารือกับซูซูกิ มอเตอร์ บริษัทรถร่วมชาติ เพื่อร่วมกันผลิตรถเล็กป้อนตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงอินเดีย
ทั้งนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอเมริกาเหนือ ช่วยชดเชยยอดขายโดยรวมของโตโยต้าที่ขยับลง 0.8% จากปี 2014 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจซึมเซาในญี่ปุ่น
โตโยต้ายังเผชิญปัญหายอดขายซบในไทย และอินโดนีเซีย ขณะที่การขึ้นภาษีบริโภคในญี่ปุ่นปีหน้า อาจกระตุ้นให้คนแห่ซื้อรถ แต่หลังจากรัฐบาลขึ้นภาษีและราคารถแพงขึ้น ยอดขายก็จะตกลงต่อ
โยชิอากิ คาวาโนะ นักวิเคราะห์จากไอเอชเอสในโตเกียว เชื่อว่า ดีมานด์ที่แข็งแกร่งในอเมริกาจะช่วยให้โตโยต้าสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้อย่างน้อยอีกหนึ่งปี ทว่า การชะลอตัวในตลาดสำคัญอย่างจีน อาจทำให้ยอดขายของบริษัทลดลง และว่า ในจีนนั้น โตโยต้ายังเป็นรองโฟล์ค และนิสสัน
แม้ช่วงครึ่งแรกของปี 2015 โฟล์คทำท่าเหมือนจะก้าวขึ้นเป็นค่ายรถใหญ่สุดของโลกจากการยึดหัวหาดตลาดเกิดใหม่ไว้ได้มากมาย ทว่า หลังถูกเปิดโปงในเดือนกันยายนว่า ติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อโกงการวัดค่ามลพิษในรถ 11 ล้านคันทั่วโลก ยอดขายประจำปีของโฟล์คกลับตกลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ มิหนำซ้ำ บริษัทยังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าวถึง 20,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับโตโยต้านั้น หลังจากชิงตำแหน่งแชมป์โลกจากจีเอ็มได้ในปี 2008 กลับต้องคืนบัลลังก์ให้ค่ายรถเบอร์หนึ่งจากดีทรอยต์ในสามปีต่อมา เนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว - สึนามิ ในปี 2011 ทำให้การผลิตและซัปพลายเชนเสียหายรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 โตโยต้ากลับมาทวงแชมป์คืนจากจีเอ็ม และผูกขาดตำแหน่งผู้นำยอดขายโลกไว้ได้ต่อเนื่องนับจากนั้นเป็นต้นมา
วันพุธ นิสสัน มอเตอร์ คู่แข่งร่วมชาติของโตโยต้า แถลงว่า ยอดขายทั่วโลกในปี 2015 เพิ่มขึ้นทำสถิติที่ 5.42 ล้านคัน ซึ่งเมื่อรวมกับยอดขายของเรโนลต์ หุ้นส่วนสัญชาติฝรั่งเศส ทำให้บริษัทมียอดขายรวม 8.22 ล้านคัน และขึ้นเป็นค่ายรถอันดับ 4 ของโลก
ขณะที่ ฮุนได มอเตอร์ จากเกาหลีใต้ ครองอันดับ 5 ด้วยยอดขาย 8.01 ล้านคัน
การประกาศข่าวดีของโตโยต้ามีขึ้นแม้บริษัทยังคงต่อสู้เพื่อฟื้นชื่อเสียงด้านความปลอดภัย หลังต้องเรียกรถคืนนับล้านคันทั่วโลกจากปัญหาต่าง ๆ เมื่อปลายปีก่อน ซึ่งรวมถึงถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดยบริษัท ทากาตะ เกิดการระเบิด
ข้อบกพร่องจากถุงลมนิรภัยของทากาตะที่ติดตั้งในรถยนต์ชั้นนำของโลกหลายค่ายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างน้อย 10 รายทั่วโลก รวมทั้งการบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
โตโยต้า ผู้ผลิต ซีดาน คัมรี่ และรถไฮบริด พรีอุส ระงับการสร้างโรงงานใหม่นานหลายปี และหันไปเน้นการปรับปรุงคุณภาพแทนการเพิ่มยอดขาย และขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการยกเครื่องวิธีการผลิต โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการพัฒนาเพื่อชดเชยภาวะขาลงในตลาด และใช้ประสิทธิภาพสูงสุดจากโรงงานผลิตที่มีอยู่
นอกจากนั้น โตโยต้ายังรุกสู่ตลาดรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีนที่รัฐบาลมีปัญหาในการควบคุมวิกฤตมลพิษ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โตโยต้ายังเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน “มิไร” รวมทั้งปรับปรุงพรีอุสที่ทำยอดขายสูงสุด
ขณะเดียวกัน แมตทิอัส มุลเลอร์ ประธานบริหารใหม่ของโฟล์ค ให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ขณะนี้ บริษัทได้ละทิ้งแผนการก้าวขึ้นเป็นบริษัทรถอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2018 ตามที่ มาร์ติน วินเทอร์คอร์น ประธานคนเดิมวาดหวังไว้