xs
xsm
sm
md
lg

คู่ขัดแย้งการเมืองลิเบียเห็นชอบร่วมกันตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี /รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - บรรดาผู้แทนของกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งในลิเบียประกาศร่วมกันจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติ” หลังการเจรจาที่มีองค์การสหประชาชาติทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อหวังยุติความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองในประเทศตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า คู่ขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย ยกเว้นกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก ได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในวันอังคาร (19 ม.ค.) ในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งจะมีจำนวนสมาชิกคณะรัฐมนตรีจำนวน 32 คนที่ถูกคัดเลือกมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

การจัดตั้งคณะรัฐบาลแห่งชาติในลิเบีย ถือเป็นผลพวงจากข้อตกลงยุติความขัดแย้งที่มีองค์การสหประชาชาติทำหน้าที่เป็นคนกลาง โดยคาดว่ารัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพชุดนี้น่าจะใช้กรุงตริโปลีเป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ และคาดว่า ฟัยเอซ ซาร์ราจ นักการเมืองสายกลางน่าจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ ถึงแม้ซาร์ราจผู้นี้จะเคยประสบความล้มเหลวในความพยายามตั้งรัฐบาลสมานฉันท์มาแล้วก่อนหน้านี้

นอกเหนือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงตูนิส เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างตูนิเซีย เปิดเผยว่า อัล-มาห์ดี อัล-บาร์กาติ หนึ่งในผู้นำกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับพวกนักรบอิสลามิสต์อย่างแข็งขัน และเป็นคนในสายของพลเอก คาลิฟา ฮัฟตาร์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพลิเบีย จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลแห่งชาติของลิเบีย

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดในลิเบียถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยมียูเอ็นเป็นคนกลาง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้ง “มาร์ติน ค็อบเลอร์” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี ในองค์การสหประชาชาติ เข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบีย

รายงานข่าวระบุว่า บัน คี-มุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ ได้แจ้งในจดหมายแก่ผู้แทน 15 ชาติที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ และในจดหมายดังกล่าว ซึ่งถูกอ้างโดยรอยเตอร์ว่าได้เล็ดลอดสู่สายตาเหยี่ยวข่าวของตน ระบุถึงความต้องการของบันในการหาบุคคลที่มีความเหมาะสม เข้ามาทำหน้าที่ทูตพิเศษด้านลิเบียแทนที่เจ้าของตำแหน่งเดิมคือ เบร์นาร์ดิโน เลออน ซึ่งผู้ที่ถูกระบุว่ามีความเหมาะสมในดุลพินิจของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นก็คือ ค็อบเลอร์จากเยอรมนีนั่นเอง

ด้านแหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตระดับสูงในองค์การสหประชาชาติออกมาให้ข้อมูลว่า เบร์นาร์ดิโน เลออน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการลิเบียคนปัจจุบันได้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึงแม้วาระของเขาสามารถขยายออกไปได้ หากเกิดความก้าวหน้าใหม่ขึ้นแบบฉับพลันต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในลิเบีย

ทั้งนี้ ลิเบียได้ถลำเข้าสู่ความวุ่นวายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชุดหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือคณะผู้บริหารอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าตนเองมีความชอบธรรมและเข้ายึดกรุงตริโปลี โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับการหนุนหลังทั้งจากกองกำลังชนเผ่า หรือกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ที่แตกออกเป็นฝักฝ่าย

หลังการเจรจานานหลายเดือน เบร์นาร์ดิโน เลออน ในฐานะทูตพิเศษด้านลิเบียของยูเอ็น ได้เสนอแผนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย แต่ทว่าข้อเสนอนี้ได้รับการคัดค้านจากพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในรัฐบาลทั้งสองชุด ที่ไม่ยอมรับข้อตกลงในการ “แชร์อำนาจ” ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพในลิเบียต้องหยุดชะงัก แม้เลออนจะย้ำว่ากระบวนการปรึกษาหารือระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป

ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิกฤตการเมือง ที่ทำให้อดีตดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมันทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย มีต้นตอมาจากการที่ระบอบการปกครองที่เข้มแข็งของมูอัมมาร์ กัดดาฟีที่เป็นฝ่ายกุมอำนาจในลิเบียมายาวนานถูกโค่นอำนาจลงเมื่อปี 2011 โดยมีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหนุนหลัง ส่งผลทำให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ ได้โอกาสแผ่ขยายอิทธิพลเข้าแทนที่

ทั้งนี้ มาร์ติน ค็อบเลอร์ จากเยอรมนี ไม่ถือเป็นคนแปลกหน้าแต่อย่างใดสำหรับภารกิจสุดหินขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากที่ผ่านมานักการทูตอาวุโสจากเมืองเบียร์ผู้นี้เคยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาแล้ว ตลอดจนเคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษของยูเอ็นด้านอิรัก และผู้ช่วยผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในอัฟกานิสถาน


กำลังโหลดความคิดเห็น