xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคง ยูเอ็น ลงมติรับรองแผนสันติภาพลิเบีย ปูทางการตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาร์ติน ค็อบเลอร์ ทูตพิเศษด้านลิเบียขององค์การสหประชาชาติ
เอเอฟพี / รอยเตอร์/ เอเจนซีส์ / MGR online – ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Security Council) ลงมติในวันพุธ ( 23 ธ.ค.) ให้การรับรองต่อข้อตกลงสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียในการจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติ”

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสมาชิก 15 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมติเอกฉันท์ให้การสนับสนุนข้อตกลงที่มีการลงนามไปเมื่อสัปดาห์ก่อนที่เมืองสกีราตของโมร็อกโก ระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่างมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาปกครองลิเบีย

แม็ทธิว ไรครอฟต์ เอกอัครราชทูตของสหราชอาณาจักรประจำองค์การสหประชาชาติ ออกมาระบุว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางคณะมนตรีความมั่นคงฯ ถือเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนอันแข็งแกร่งร่วมกันในการส่งเสริมอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติของลิเบีย แต่เตือนว่า นี่เป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ของกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในลิเบียเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติออกคำแถลงยืนยันว่า มาร์ติน ค็อบเลอร์ นักการทูตชาวเยอรมันจะเข้ารับหน้าที่ทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบียแทนที่เบร์นาร์ดิโน เลออนเจ้าของตำแหน่งคนเดิม ซึ่งเป็นชาวสเปน ที่ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อกุมบังเหียนวิทยาลัยด้านการทูต

โดยรายงานข่าวซึ่งอ้างการแถลงของสเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกองค์การสหประชาชาติระบุว่า มาร์ติน ค็อบเลอร์ นักการทูตชาวเยอรมันจะเข้ารับหน้าที่ทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็น เพื่อดูแลกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักในลิเบีย แทนที่เบร์นาร์ดิโน เลออนเจ้าของตำแหน่งคนเดิมซึ่งเป็นชาวสเปนที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก ของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ที่อาบูดาบีในเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ดี โฆษกยูเอ็นปฏิเสธกระแสข่าวเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ที่ระบุว่า เลออนตัดสินใจยอมรับข้อเสนอที่มีค่าตอบแทนสูงลิ่วของทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ ตั้งแต่ที่เขายังทำหน้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพในลิเบีย

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน มีรายงานข่าวซึ่งยังไม่มีการยืนยัน ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสำนักต่าง ๆระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้ง “มาร์ติน ค็อบเลอร์” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี ในองค์การสหประชาชาติเข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบีย

รายงานข่าวดังกล่าวระบุว่า บัน กี-มุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ ได้แจ้งในจดหมายแก่ผู้แทน 15 ชาติที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ แล้ว และในจดหมายดังกล่าวซึ่งถูกอ้างโดยรอยเตอร์ว่า ได้เล็ดลอดสู่สายตาเหยี่ยวข่าวของตน ระบุถึงความต้องการของบันในการหาบุคคลที่มีความเหมาะสม เข้ามาทำหน้าที่ทูตพิเศษด้านลิเบีย แทนที่เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันคือ เบร์นาร์ดิโน เลออน ซึ่งผู้ที่ถูกระบุว่ามีความเหมาะสมในดุลพินิจของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นก็คือ ค็อบเลอร์จากเยอรมนีนั่นเอง


ทั้งนี้ ลิเบียได้ถลำเข้าสู่ความวุ่นวาย หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชุดที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายหนึ่งกับ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ คณะผู้บริหารอีกชุด ซึ่งอ้างว่าตนเองมีความชอบธรรมและเข้ายึดกรุงตริโปลี โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับการหนุนหลัง ทั้งจากกองกำลังชนเผ่า หรือกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ที่แตกออกเป็นฝักฝ่าย

หลังการเจรจานานหลายเดือน เบร์นาร์ดิโน เลออน ในฐานะทูตพิเศษด้านลิเบียของยูเอ็น ได้เสนอแผนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย แต่ทว่าข้อเสนอนี้ได้รับการคัดค้านจากพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในรัฐบาลทั้งสองชุดที่ไม่ยอมรับข้อตกลงในการแชร์อำนาจ ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพในลิเบียต้องหยุดชะงัก แม้เลออนจะย้ำว่า กระบวนการปรึกษาหารือระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป

ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิกฤตการเมือง ที่ทำให้อดีตดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย มีต้นตอมาจากการที่ระบอบการปกครองที่เข้มแข็งของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่เป็นฝ่ายกุมอำนาจในลิเบียมายาวนานถูกโค่นอำนาจลงเมื่อปี 2011 โดยความเคลื่อนไหวที่มีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหนุนหลัง ส่งผลทำให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ ได้ฉวยโอกาสแผ่ขยายอิทธิพลเข้าแทนที่

ทั้งนี้ ข้อตกลงสันติภาพลิเบียที่มีสหประชาชาติเป็นผู้ผลักดันได้รับความเห็นชอบร่วมกัน จากคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายในลิเบียระหว่างการเจรจาที่ประเทศโมร็อกโกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องให้มีการจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ที่มีสมาชิกจากทั้งฝ่ายรวม 17 รายขึ้นที่กรุงตริโปลี ภายใต้การนำของนักธุรกิจชื่อดังที่เป็นที่ยอมรับของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอย่างฟัยเอซ เอล-ซาร์ราจ ในฐานะนายกรัฐมนตรี

โดยข้อตกลงดังกล่าวระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียระบุว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติชุดนี้ จะอยู่ในอำนาจราว 2 ปี เพื่อทำหน้าที่ดูแลบริหารประเทศในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ภายใต้กฏกติกาใหม่ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี มีการยืนยันว่า ข้อตกลงในการตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติในลิเบียนี้ จะไม่เปิดรับการมีส่วนร่วมใดๆ ของกลุ่มติดอาวุธในลิเบียที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก



กำลังโหลดความคิดเห็น