เอเอฟพี / รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - องค์การสหประชาชาติยืนยันในวันพุธ (4 พ.ย.) ระบุว่า มาร์ติน ค็อบเลอร์ นักการทูตชาวเยอรมันจะเข้ารับหน้าที่ทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบียในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่เบร์นาร์ดิโน เลออนเจ้าของตำแหน่งคนเดิมซึ่งเป็นชาวสเปนตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อกุมบังเหียนวิทยาลัยด้านการทูต
รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างการแถลงของสเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกองค์การสหประชาชาติระบุว่า มาร์ติน ค็อบเลอร์ นักการทูตชาวเยอรมันจะเข้ารับหน้าที่ทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็น เพื่อดูแลกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักในลิเบีย แทนที่เบร์นาร์ดิโน เลออนเจ้าของตำแหน่งคนเดิมซึ่งเป็นชาวสเปนที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ที่อาบูดาบีในเดือนธันวาคมนี้
อย่างไรก็ดี โฆษกยูเอ็นปฏิเสธกระแสข่าวเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ที่ระบุว่า เลออน ตัดสินใจยอมรับข้อเสนอที่มีค่าตอบแทนสูงลิ่วของทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการทูตเอมิเรตส์ ตั้งแต่ที่เขายังทำหน้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพในลิเบีย
ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน มีรายงานข่าวซึ่งยังไม่มีการยืนยัน ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสำนักต่าง ๆระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้ง “มาร์ติน ค็อบเลอร์” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี ในองค์การสหประชาชาติเข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษคนใหม่ของยูเอ็นด้านลิเบีย
รายงานข่าวดังกล่าวระบุว่า บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติชาวเกาหลีใต้ ได้แจ้งในจดหมายแก่ผู้แทน 15 ชาติที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ แล้ว และในจดหมายดังกล่าวซึ่งถูกอ้างโดยรอยเตอร์ว่า ได้เล็ดลอดสู่สายตาเหยี่ยวข่าวของตน ระบุถึงความต้องการของบันในการหาบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ทูตพิเศษด้านลิเบีย แทนที่เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันคือ เบร์นาร์ดิโน เลออน ซึ่งผู้ที่ถูกระบุว่ามีความเหมาะสมในดุลพินิจของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นก็คือ ค็อบเลอร์จากเยอรมนีนั่นเอง
ด้านแหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตระดับสูงในองค์การสหประชาชาติออกมาให้ข้อมูลว่า เลออน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการลิเบียคนปัจจุบันมีกำหนดจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ แต่วาระของเขาสามารถขยายออกไปได้หากเกิดความก้าวหน้าใหม่ขึ้นแบบฉับพลันต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในลิเบีย
ทั้งนี้ ลิเบียได้ถลำเข้าสู่ความวุ่นวายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชุดที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติและสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ คณะผู้บริหารอีกชุด ซึ่งอ้างว่าตนเองมีความชอบธรรมและเข้ายึดกรุงตริโปลี โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับการหนุนหลังทั้งจากกองกำลังชนเผ่า หรือกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ที่แตกออกเป็นฝักฝ่าย
หลังการเจรจานานหลายเดือน เบร์นาร์ดิโน เลออน ในฐานะทูตพิเศษด้านลิเบียของยูเอ็น ได้เสนอแผนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเป็นเอกภาพระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในลิเบีย แต่ทว่าข้อเสนอนี้ได้รับการคัดค้านจากพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งในรัฐบาลทั้งสองชุดที่ไม่ยอมรับข้อตกลงในการแชร์อำนาจ ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพในลิเบียต้องหยุดชะงัก แม้เลออนจะย้ำว่า กระบวนการปรึกษาหารือระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป
ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ทำให้อดีตดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรน้ำมันทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย มีต้นตอมาจากการที่ระบอบการปกครองที่เข้มแข็งของมูอัมมาร์ กัดดาฟีที่เป็นฝ่ายกุมอำนาจในลิเบียมายาวนาน ถูกโค่นอำนาจลงเมื่อปี 2011 โดยความเคลื่อนไหวที่มีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหนุนหลัง ส่งผลทำให้กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ ได้ฉวยโอกาสแผ่ขยายอิทธิพลเข้าแทนที่
ทั้งนี้ มาร์ติน ค็อบเลอร์ จากเยอรมนี ไม่ถือเป็นคนแปลกหน้าแต่อย่างใดสำหรับภารกิจสุดหินขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากที่ผ่านมานักการทูตอาวุโสจากเมืองเบียร์ผู้นี้เคยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาแล้ว ตลอดจนเคยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษของยูเอ็นด้านอิรัก และผู้ช่วยผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในอัฟกานิสถาน