xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำสาธารณรัฐเช็กระบุ “ชาวมุสลิม” ไม่มีวันรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุโรปได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มิลอส เซมาน แห่งสาธารณรัฐเช็ก
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีมิลอส เซมาน ผู้นำฝีปากกล้าแห่งสาธารณรัฐเช็กซึ่งประกาศจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ ออกมาเตือนวานนี้ (17 ม.ค.) ว่า ความพยายามหลอมรวมชาวมุสลิมเข้ากับสังคมยุโรปนั้น “ไม่มีทางเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ”

“ประสบการณ์ของประเทศตะวันตกที่เต็มไปด้วยย่านชาวยิวและชุมชนที่แปลกแยกจากสังคมแสดงให้เห็นแล้วว่า การหลอมรวมชาวมุสลิมคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยทางปฏิบัติ” เซมาน ให้สัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์

“ปล่อยให้พวกเขามีวัฒนธรรมของพวกเขาเองอยู่ในประเทศของพวกเขาเอง อย่าปล่อยให้เข้ามาในยุโรป มิเช่นนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนที่โคโลญ” ผู้นำสาธารณรัฐเช็กกล่าว โดยอ้างถึงเหตุล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงที่เกิดขึ้นหลายร้อยกรณีในเยอรมนีและที่อื่นๆ เมื่อช่วงค่ำคืนก่อนปีใหม่ 2016

“การหลอมรวมประชากรอาจเป็นไปได้ หากมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน และในความคล้ายคลึงก็ยังมีความแตกต่าง” เซมานกล่าว พร้อมเอ่ยถึงผู้อพยพชาวเวียดนามและยูเครนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเช็กได้เป็นอย่างดี

เซมาน วัย 71 ปี เป็นประธานาธิบดีหัวซ้ายจัดที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของสาธารณรัฐเช็ก และเคยออกมาคัดค้านการเปิดรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้าสู่ยุโรปมาแล้วหลายครั้ง

เมื่อต้นเดือนนี้ เขาอ้างว่าคลื่นผู้อพยพจำนวนนับล้านๆ คนเป็นแผนของขบวนการอิสลามิสต์ภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาลหลายประเทศ “เพื่อส่งชาวมุสลิมเข้าครอบครองยุโรปอย่างช้าๆ”

ปลายปีที่แล้ว เซมานเตือนว่า ผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางที่หลั่งไหลมายังยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น “แผนรุกราน” อย่างหนึ่ง และเรียกร้องให้คนหนุ่มในอิรักและซีเรีย “จับอาวุธ” ต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) แทนที่จะหนีหัวซุกหัวซุน

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ตลอดทั้งปี 2015 มีคลื่นผู้อพยพเดินทางเข้าสู่ยุโรปมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สี้ภัยที่หนีสงครามมาจากอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย

ผู้อพยพบางส่วนพอใจที่จะอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเช็กซึ่งมีประชากรราว 10.5 ล้านคน และเป็นสมาชิกทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และนาโต ขณะที่ส่วนใหญ่มุ่งหน้าต่อไปยังเยอรมนีและชาติยุโรปตะวันตกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า

สาธารณรัฐเช็กคัดค้านการจัดโควตากระจายผู้อพยพ 160,000 คนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วอียู ขณะที่นายกรัฐมนตรีโบฮูสลาฟ โซบอตกา เตือนว่า นโยบายนี้ไม่มีทางสำเร็จ เนื่องจากผู้อพยพส่วนใหญ่ตั้งใจจะไปตั้งถิ่นฐานในเยอรมนี หรือประเทศอื่นๆ ที่พวกเขาพอใจอยู่แล้ว
นักเคลื่อนไหวกลุ่ม PEGIDA ในเยอรมนีชูป้ายที่เขียนว่า ไม่ต้อนรับมูฮัมหมัด เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม เมื่อวันที่ 17 ม.ค.

กำลังโหลดความคิดเห็น